กรณีรถกระบะมีแค็บ
ชาวบ้านเกิดความสับสนว่านั่งได้หรือไม่ได้ เรื่องนี้ตามคำสั่งของ สตช.คือ
ห้ามรถกระบะมีแค็บบรรทุกคนโดยเด็ดขาด หากพบเห็นจะจับปรับทันที
เพราะในการจดทะเบียนของรถกระบะ จะจดทะเบียนเป็นรถกระบะบรรทุกส่วนบุคคลไม่เกิน 7 นั่ง
จะมีป้ายทะเบียนกำกับประเภทรถ เป็นป้ายสีขาวตัวอักษรสีเขียว
โดยวัตถุประสงค์ของแค็บคือ มีไว้เพื่อตั้งวางสิ่งของ
ที่ผ่านมาเราใช้บรรทุกคนจนเคยชิน ซึ่งแค็บนั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนนั่ง
ในการจับปรับรถกระบะที่บรรทุกคนโดยสารในแค็บ
เจ้าหน้าที่ไม่ได้จับปรับในข้อหาไม่รัดเข็มขัดนิรภัย แต่จะปรับในข้อหา
ใช้รถยนต์ผิดประเภท ซึ่งถือว่าผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 มาตรา 21 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้
ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
อันที่จริงกฎหมายนี้มีมานานแล้ว
แต่บังคับใช้ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นคงต้องจับทุกคันเพราะคนไทยเรา
แต่ละครอบครัวมุดไปนั่งในแค็บกันหมด
ความเห็นส่วนตัวของผม
เหตุที่คนไทยเลือกใช้รถตอนครึ่งหรือกระบะแค็บกันมากเพราะค่อนข้างลงตัวในเชิงการใช้งาน
คนไทยโดยเฉลี่ยมีรายได้น้อย บางทีการมีรถประจำบ้าน 1 คัน
ก็ต้องตอบโจทย์ทุกอย่างให้ครบถ้วน
สมมติบ้านนี้ทำรับเหมา
ผัว 1 เมีย 1 ลูก 2
กระบะตอนเดียว
ไม่ตอบโจทย์ครอบครัวเพราะนั่งกันไม่ครบ แต่ตอบโจทย์ขนของเพราะกระบะยาว
กระบะสองตอน
(สี่ประตู) ตอบโจทย์ครอบครัวเพราะนั่งครบและสบาย
แต่ไม่ตอบโจทย์ขนของเพราะกระบะสั้น
กระบะตอนครึ่ง (Cab) ตอบโจทย์ทั้งสองหัวข้อโดยเฉลี่ยๆ
และราคาค่าตัวก็เฉลี่ยๆ ระหว่างรุ่นตอนเดียวกับสองตอน
เรื่องนี้พิจารณาได้หลายมิติ
อาจขัดกับความเคยชิน และความรู้สึกของผู้ใช้รถกระบะแค็บส่วนใหญ่
แต่ในเชิงวิศวกรรมแล้วการโดยสารในแค็บก็ไม่ปลอดภัยจริงๆ
ผมขอเสนอว่า
ภาครัฐควรจะผ่อนปรน หรือยืดหยุ่นการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีกสักระยะ เพื่อลดผลกระทบต่อตัวรัฐบาลเอง และให้เวลาผู้ใช้รถได้ปรับตัว
เพราะเหตุหลักที่ผู้ใช้รถเข้าใจผิดว่าในแค็บของกระบะนั่งได้
นั่นก็เพราะภาครัฐไม่บังคับใช้กฎหมายให้เป็นผลตั้งแต่ออกกฎมาใหม่ๆ ด้วย
ส่วนเรื่องนั่งท้ายกระบะ
ต้องกลับมาที่โลกแห่งความจริงประเทศนี้มีรถกระบะวิ่งอยู่เกินครึ่งหนึ่งของรถทั้งหมด
สงกรานต์นี้ถ้าตำรวจทำหน้าที่เถรตรง คงเกิดจลาจลทั้งประเทศแน่ แล้วรถแห่พระพุทธรูป สลุงหลวง มาให้คนสรงน้ำ
ที่เอาพระตั้งบนกระบะมีคนนั่งประคอง ทั้งคนประคองและพระพุทธรูปจะต้องโดนจับด้วยไหมครับ
อย่าไปเทียบเคียงประเทศอื่นเลย ลักษณะการใช้รถและวิถีชีวิต
และวัฒนธรรมมันต่างกันมาก ถ้าบังคับใช้จริงๆ สงกรานต์นี้จะมีรถทัวร์
รถโดยสารออกวิ่งพอรับส่งคนหรือไม่ครับโปรดพิจารณาดู
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ 1124 วันที่ 7-20 เมษายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น