เมื่อวันที่
21 เม.ย.60 ที่ผ่านมา
นายสุนทร ใจแก้ว อดีต นายก อบต.สบป้าด พร้อมด้วยตัวแทนแกนนำในนามภาคประชาชน
อ.แม่เมาะ รวม 11 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่
เพื่อขอระงับการทำประชาพิจารณ์ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(กฟผ.) โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เนื่องจากมีความกังวลและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายที่การดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้นจะต้องผ่านหลายกระบวนการตามกฎหมาย
ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ได้กำหนดกำลังการผลิตอยู่ที่ 600
เมกกะวัตถ์ แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็น 655 เมกกะวัตถ์
ซึ่งต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA ใหม่ให้เสร็จสิ้นก่อน
แต่ปรากฏว่าได้มีการติดตั้งเครื่องจักรไปเรียบร้อยแล้ว
ทั้งที่ยังไม่ได้มีจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
นอกจากนี้ตัวแทนแกนนำภาคประชาชน
ยังได้ระบุว่า การแสดงความคิดเห็นในเวที
ค.1 มีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนในการแสดงความคิดเห็น
หากไม่ลงทะเบียนก็ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้
และการจำกัดเวลาเพียงคนละ 5 นาที เท่ากับว่าช่วงเวลาที่จัดประชุม
ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ไม่เกิน 30 คน
ขณะที่มีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1 พันคน
และประชากรแม่เมาะมีมากถึง 5 หมื่นคน
ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การยื่นคำร้องในครั้งนี้
จึงขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการจัดประชุมเรื่องนี้ออกไปก่อน ซึ่งศาลได้มีการรับเรื่องไว้
อยู่ระหว่างการพิจารณา
ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนแม่เมาะ
4 -7 จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมรอบแรก
(ค.1) ในวันที่ 29
เม.ย.59 ตั้งแต่เวลา 08.00 –16.00 น. หรือจนกว่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำ
EHIA ใหม่ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 500 คน ส่วนกรณีมีผู้ร้องศาลปกครองนั้น
การดำเนินการยังเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและกำหนดการที่ได้ร่วมหารือกับทุกภาคส่วนไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม กฟผ. พร้อมน้อมรับ หากศาลมีคำสั่งประการใดให้ดำเนินการ
นายสหรัฐ
บุญโพธิภักดี โฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.
และบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด
เชิญร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย
ในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping หรือ ค.1) โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทน
โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 - 7 เพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ
(EHIA) ในวันเสาร์ที่ 29 เม.ย.60
ตั้งแต่เวลา 08.00 –16.00 น.
หรือจนกว่าจะแล้วเสร็จตามที่มีผู้ขอแสดงความคิดเห็นไว้ โดยจัดที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.
แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
“จากการเผยแพร่ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งสื่อสารตามช่องทางต่างๆ
อย่างกว้างขวาง ทำให้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมรับฟังมากราว 500-600 คน
ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถลงทะเบียนขอแสดงความคิดเห็นได้ที่หน้าสถานที่จัดงาน
โดยจะมีการจับสลากลำดับการแสดงความคิดเห็นในเวลา 09.05 น.
นอกจากนี้ หลังการจัดประชุมแล้วเสร็จ ประชาชนยังสามารถแสดงความคิดเห็นได้ภายใน15
วัน อีก 3 ช่องทาง ได้แก่ ทางไปรษณีย์
โทรศัพท์ อีเมลล์ ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในเว็บไซต์ กฟผ. โดยความคิดเห็นทั้งหมด
จะนำไปประกอบการจัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนต่อไป”
โฆษก
กฟผ. กล่าวต่อไปว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็น EHIA ใหม่
เนื่องจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวเคยได้รับความเห็นชอบมีกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ แต่จากผลการการประกวดราคาปรากฏว่า
ได้โรงไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังผลิตติดตั้งขนาด 655 เมกะวัตต์
ซึ่งแม้ว่าจะมีประสิทธิภาพและควบคุมมลภาวะได้ดีขึ้น
แต่กำลังผลิตติดตั้งที่เพิ่มขึ้นทำให้ กฟผ. ต้องจัดทำ EHIA ใหม่
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนของกฎหมาย โรงไฟฟ้าดังกล่าวสามารถก่อสร้างต่อไปได้
แต่การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์จะต้องจัดทำ EHIA ใหม่ให้แล้วเสร็จ
และขออนุมัติจ่ายไฟฟ้าตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับประเด็นที่มีประชาชนบางส่วนได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองขอให้ระงับการดำเนินการ
จะมีผลต่อการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้หรือไม่ โฆษก กฟผ. ชี้แจงว่า กฟผ.
พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาล
แต่ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล
การดำเนินงานจึงเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายตามที่ กฟผ. บริษัทผู้จัดทำรายงาน
และภาคส่วนต่าง ที่ได้มีการหารือและกำหนดการไว้แล้ว
ทั้งนี้
ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมในเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
เพื่อกำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1) และดาวน์โหลดข้อมูลก่อนเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์
www.egat.co.th และสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างฉบับนี้ได้
ภายใน 15 วัน ตั้งแต่วันจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ
ถึงวันที่ 14 พ.ค.60
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1126 วันที่ 28 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น