วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คารวะสักสองจอก ‘กิตติภูมิ’ เลิกเตาเผาขยะพิษ

จำนวนผู้เข้าชม website counter

ารตัดสินใจยกเลิกโครงการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ของนายกิตติภูมิ นามวงศ์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง นับเป็นความกล้าหาญ และควรชื่นชมยินดี ที่นายกฯเล็กเมืองลำปาง เลือกประชาชน มากกว่าเลือกผลประโยชน์ถ้ามี ในฐานะที่ลำปางยอมรับเป็นแหล่งกำจัดขยะของจังหวัดภาคเหนือตอนบนทั้งหมด

ถึงกระนั้น การจัดการมูลฝอยติดเชื้อตามสถานพยาบาลต่างๆ ก็เป็นหน้าที่ของเทศบาล ซึ่งก็คงเป็นภาระรับผิดชอบเฉพาะพื้นที่ ไม่ใช่แบกรับแทนที่อื่นๆ

ลำพังขยะธรรมดาๆ คนก็หวาดผวาแล้ว ยิ่งเป็นขยะติดเชื้อ ที่มีโอกาสจะแพร่กระจายเชื้อต่อไป ยิ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และเป็นบทเรียนหนึ่งของเทศบาล แม้จะบอกว่าได้ฟังชาวบ้านมาแล้ว

พวกเขาคงไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียดถึงขนาดจะบอกว่า ขยะติดเชื้อเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ แต่เทศบาลก็ไม่ได้อธิบายความหมายของขยะติดเชื้ออย่างครบถ้วน รอบด้าน คล้ายจะให้ผ่านๆโดยคิดถึงผลกระทบที่มีต่อชาวบ้านไม่มากนักในตอนแรก      

ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย อดีตรองอธิบดีกรมอนามัย ได้เคยอธิบายความหมายของ ขยะติดเชื้อไว้ ว่าเกิดขึ้นจาก 3 แหล่ง ได้แก่ โรงพยาบาลหรือคลินิกที่ดูแลคนไข้ โรงพยาบาลสัตว์ และห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ทั่วประเทศมีขยะติดเชื้อเกิดขึ้น 43,000 ตันต่อปี หรือ 43 ล้านกิโลกรัมต่อปี เฉลี่ย 120 ตันต่อวัน หรือ 1.2 แสนกิโลกรัมต่อวัน นับเป็นปริมาณขยะที่เกิดขึ้นเยอะมาก แต่ประสิทธิภาพในการทำลายจากเตาเผาขยะติดเชื้อขนาดใหญ่ตามเทศบาลและเอกชนรองรับได้เพียงวันละ 100 ตัน หรือ 1 แสนกิโลกรัมต่อวันเท่านั้น ที่เหลือปนเปื้อนไปกับขยะทั่วไป เป็นเรื่องที่น่ากังวล

แนวโน้มของขยะติดเชื้อมีมากขึ้นเนื่องจากโรงพยาบาลมีการขยายตัวและมีการรักษาผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้การจัดการขยะติดเชื้อยังประสบปัญหา ตั้งแต่แหล่งกำเนิด เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของระบบคัดแยกขยะติดเชื้อในสถานพยาบาล สภาพเตาเผาที่ชำรุด และไม่มีการตรวจวัดมาตรฐานอากาศเสียจากปล่องควันตามกฎหมาย อีกทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลให้สถานพยาบาลมีแนวโน้มในการส่งขยะติดเชื้อให้เอกชนกำจัดนอกสถานพยาบาลมากขึ้น ซึ่งขยะติดเชื้อที่กำจัดไม่ถูกวิธีจะแพร่กระจายเชื้อโรคและส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เช่น โรคท้องร่วง เชื้ออหิวาตกโรค ไทฟอยด์ โรคบิด บาดทะยัก ไวรัสตับอักเสบ และโรคเอดส์  อดีตรองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

การแก้ปัญหาเบื้องต้นคือ โรงพยาบาลต้องพยายามลดการใช้ขยะลง เช่น ผ้าก๊อต จากเดิมใช้ 4 แผ่น อาจใช้เพียง 2 แผ่น ส่วนขวดแก้วยาปฏิชีวนะแทนที่จะเอาไปทิ้ง ก็ให้นำไปฆ่าเชื้อ อบไอน้ำ แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ หรือหลอดและเข็มฉีดยาก็ทำลายตัวเหล็กแล้วนำพลาสติกที่เหลือไปขายเป็นขยะรีไซเคิลได้

นอกจากนี้ กรมอนามัยจะเร่งผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีเตาเผาขยะที่ได้มาตรฐานและเพิ่มเตาเผาขยะในโรงพยาบาลชุมชนเพื่อที่จะได้เป็นศูนย์ในการดูแลกำจัดขยะให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยรอบ

นั่นแปลว่า ถึงแม้จะไม่มีเตาเผาขยะติดเชื้อขนาดใหญ่  แต่ก็จำเป็นจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดขยะมีพิษ ให้กับสถานพยาบาล และโรงพยาบาลทุกระดับ

ท่านนายกฯเทศบาลตัดสินใจถูกต้อง แต่ชาวบ้านก็ต้องช่วยกันคิด และสนับสนุนการกำจัดขยะติดเชื้อในบ้านของตัวเองให้มีคุณภาพด้วย


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1130 วันที่ 26 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์