วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

อีก7เดือนน้ำเต็มอ่าง รับอพยพ ต.บ้านดง

จำนวนผู้เข้าชม good hits

ออป.เหนือบน เร่งทำไม้ 1,164 ต้น ออกจากพื้นที่อพยพ ต.บ้านดง คาดแล้วเสร็จปลายเดือน พ.ค. ขณะที่ชลประทานฯลำปาง วางแผน 7 เดือนสร้างอ่างเก็บน้ำแม่เฟือง พร้อมอาคารประกอบ ตั้งเป้า พ.ย. เริ่มกักเก็บน้ำ ด้าน นายกอบต.บ้านดง พอใจคืบหน้าเร่งสร้างอ่างเก็บน้ำ

ความคืบหน้าโครงการอพยพราษฎร อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ครั้งที่ 7 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่         15 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นการร้องขออพยพของราษฎรจำนวน 1,458 ครัวเรือน จาก 5 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 2 ตำบล คือ บ้านดง หมู่ 2 , บ้านหัวฝาย หมู่ 1 , บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ 8 และบ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ 7 ต.บ้านดง จำนวน 982 ครัวเรือน พื้นที่ 1,387 ไร่ และ บ้านห้วยคิง ต.แม่เมาะ จำนวน 476 ครัวเรือน พื้นที่ 590 ไร่
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 นายบุญเทียร คำภิระปาวงศ์ ผู้ช่วยหัวหน้าโครงการจัดการที่ดินและอพยพเหมืองแม่เมาะ (ช.หก-มม.) พร้อมด้วย นายศุกร์ ไทยธนสุกานต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง (อบต.บ้านดง) อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง , นายสายันต์ กลิ่นโลกัย หัวหน้างานสวนป่าแม่เมาะ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบน (ออป.เหนือบน) , นายศราวุธ โลหะโชติ วิศวกรชำนาญการ สำนักงานชลประทานที่ 2 ลำปาง (สชป. 2) , กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เฟือง ในการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่รองรับการอพยพของราษฎรดังกล่าว

นายสายันต์ กลิ่นโลกัย หัวหน้างานสวนป่าแม่เมาะ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบน (ออป.เหนือบน) เปิดเผยว่า พื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เฟืองเนื้อที่ 160 ไร่ หลังจากกรมป่าไม้ ได้ออกประกาศให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เมาะ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เฟืองในการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่รองรับการอพยพราษฎรตำบลบ้านดง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 ก็ได้ดำเนินการสำรวจและจัดทำบัญชีไม้ที่จะต้องทำออกซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 1,164 ต้น แบ่งเป็น ไม้สัก 1,047 ต้น และไม้กระยาเลย จำนวน 117 ต้น

จากนั้น ได้เสนอให้จังหวัดลำปางพิจารณาอนุมัติให้ทำไม้ออก ตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการใช้พื้นที่เป็นสถานที่ปฏิบัติงานหรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นของส่วนราชการหรือองค์การของรัฐ ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2548 ซึ่งได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา  ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ที่ได้ทยอยนำไม้ออกโดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ บริเวณสันเขื่อน เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ได้ตัดโค่นต้นไม้เรียบร้อยหมดแล้ว อยู่ในขั้นตอนการเตรียมลากขนไปพักไว้ที่หมอนไม้บริเวณสวนป่าแม่เมาะ สำหรับส่วนที่เหลือเนื้อที่ 130 ไร่ พื้นที่รองรับน้ำ อยู่ในขั้นตอนหมายวัด ตัดทอน และลากไม้ออก

“กำลังเจ้าหน้าที่ที่ใช้ปฏิบัติงานมีทั้งหมด 7 นาย เครื่องจักรกล 3 คัน คือ รถหกล้อจำนวน 1 คัน         รถแทรกเตอร์จำนวน 2 คัน พร้อมกับช้างอีก 1 เชือก ตัดโค่นต้นไม้และทำไม้ออกเฉลี่ยวันละ 50 ต้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดได้ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม” นายสายันต์ กล่าว    

ด้าน นายศราวุธ โลหะโชติ วิศวกรชำนาญการ สำนักงานชลประทานที่ 2 ลำปาง กล่าวว่า สำหรับ   อ่างเก็บน้ำห้วยแม่เฟืองพร้อมอาคารประกอบ ขนาดของทำนบกว้าง 8 เมตร สูง 23 เมตร และมีความยาว 256 เมตร ปริมาณกักเก็บน้ำ 1,100,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 2 ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงฐานรากโดยการฝังท่อกรุ อัดฉีดน้ำปูนสร้างความมั่นคงให้กับฐานราก เพื่อไม่ให้น้ำลอดซึมใต้ฐานราก

“การดำเนินงานคืบหน้าไปแล้ว 20 % หลังจากนั้นจะดำเนินการบดอัดร่องแกนด้วยดินเหนียวคาดว่าจะใช้ปริมาณดินถมราวๆ 250,000 ลูกบาศก์เมตร โดยขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 7 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ และจะเริ่มกักเก็บน้ำได้ประมาณเดือน พ.ย.60” นายศราวุธ กล่าว

นายศุกร์ ไทยธนสุกานต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง (อบต.บ้านดง) อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบพื้นที่และคณะกรรมการเร่งรัดติดตามโครงการอพยพ กล่าวว่า จากการติดตามการดำเนินงานเห็นสภาพพื้นที่ การเตรียมก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เฟือง ก็รู้สึกอุ่นใจที่มีการเร่งรัดทำงาน เพื่อให้อ่างเก็บน้ำทันต่อการรองรับน้ำฝนในปีนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้คณะทำงานมีการขยายแผนการทำงานมาแล้ว 1 ครั้ง    ที่ผ่านมาทางผมก็ได้ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความก้าวหน้าของโครงการอพยพฯ เช่น การวางผังหมู่บ้าน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ การนำไม้ออกของ ออป. ให้ชาวบ้านผู้อพยพได้รับทราบมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ยังไม่มีความชัดเจนและที่ชาวบ้านสอบถามมาตลอด คือ เรื่องการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินและที่ดินว่าจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นความคืบหน้าก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เฟืองครั้งนี้ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ

ขณะที่ นายบุญเทียร คำภิระปาวงศ์ ผู้ช่วยหัวหน้าโครงการจัดการที่ดินและอพยพเหมืองแม่เมาะ     (ช.หก-มม.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการอพยพราษฎรอำเภอแม่เมาะครั้งที่ 7 ว่า ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น  3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1. พื้นที่รองรับการอพยพราษฎรบ้านห้วยคิง แปลงที่ 1 เนื้อที่ 590 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติใช้พื้นที่  ส่วนที่ 2. พื้นที่รองรับการอพยพราษฎรตำบลบ้านดง แปลงที่ 2 เนื้อที่ 1,387 ไร่ หลังจากได้รับอนุมัติให้ทำไม้ออกตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการใช้พื้นที่ปฏิบัติการหรือประโยชน์อย่างอื่นของส่วนราชการหรือองค์การของรัฐ ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 ได้จัดทำบัญชีไม้ออกแบ่งเป็น 2 งวด โดยงวดที่ 1 ดำเนินการแล้วเสร็จ 100% จำนวนไม้ทั้งสิ้น 3,529 ต้น ส่วนงวดที่ 2 เริ่มดำเนินการทำไม้ออก เมื่อวันที่ 7 มี.ค.60  ตอนนี้คืบหน้าไปแล้วกว่า 66.47% จากจำนวนต้นไม้ทั้งหมด 2,589 ต้น ขณะเดียวกัน สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง ก็ได้ดำเนินการทำแนวถนนและปรับผังหมู่บ้านตามสภาพพื้นที่จริง พร้อมจัดทำผังบริเวณที่ตั้งสาธารณูปโภคควบคู่กัน ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวผู้นำชุมชนก็ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย

สุดท้าย ส่วนที่ 3. พื้นที่รองรับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เฟือง แปลงที่ 3 เนื้อที่ 160 ไร่ กรมป่าไม้    ได้ออกประกาศ ณ วันที่ 6 ก.พ. 60 เรื่องการกำหนดบริเวณพื้นที่ให้ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐเข้าใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2560 ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เมาะ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เฟืองในการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่รองรับการอพยพราษฎร เนื้อที่ 160 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.60 จนถึงวันที่ 5 ก.พ. 90 ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำไม้ออก   ทั้งนี้ กฟผ.แม่เมาะ ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบให้มีความคืบหน้าในแต่ละส่วนงานมากที่สุด  นายบุญเทียร กล่าว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1127 วันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2560)






Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์