วันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ดัน ‘กฤษณะโมเดล’ ฝ่าวิกฤตสับปะรดล้น

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

เกษตรกรต้นแบบชงประเด็นแก้ปัญหาสับปะรดยั่งยืน เสนอจังหวัดหนุนเกษตรกรใช้โมเดลเพิ่มมูลค่าผลผลิตสับปะรดปลอดสารนอกฤดูกาล พร้อมปูฐานการตลาดออนไลน์ และตลาดเกษตรปลอดภัยของลำปางรองรับอย่างเป็นรูปธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากการประชุม ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การพัฒนาจังหวัดลำปาง เพิ่มขีดความสามารถในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและแผนปฏิบัติราชการ ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 6-7 ก.ค.2561 ณ โรงแรมเวียงลคอร อ.เมือง จ.ลำปาง ได้มีการระดมความคิดเพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การพัฒนาจังหวัดลำปาง หลายประเด็น ในการนี้หัวข้อสัมมนาในเช้าวันที่ 6 ก.ค 2561 ในภาคเช้าได้มีการเสวนาแนวทางการพัฒนาจังหวัด โดยมี นายอนุวัตร ภูวเศรษฐ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน) นางปัทมา  กฤษณรักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง นายอนันต์  สีแดง ผอ.ททท.สำนักงานลำปาง  นายกฤษณะ สิทธิหาญ เกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer ผู้ปลูกสับปะรด เจ้าของแปลงปลูกสับปะรดอินทรีย์ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.)จังหวัดลำปางแลกเปลี่ยนแนวทางและข้อเสนอการพัฒนาลำปางร่วมกันแบบองค์รวม

นางปัทมา กฤษณรักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กล่าวว่า การพัฒนาจังหวัดลำปาง จะเป็นต้องสนับสนุนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ดีกว่าการจัดอีเวนท์จัดกิจกรรมขึ้นมาแล้วต่างคนต่างกลับบ้านจบกันไปแค่งานๆไป แต่ควรให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจในท้องถิ่น ให้ขยับไปจากรูปแบบเดิมๆ ซึ่งไม่ส่งผลให้มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมได้

ขณะที่ นายกฤษณะ สิทธิหาญ เกษตรกรต้นแบบ Smart Farmerเกษตรกรดีเด่นระดับภาคเหนือ วัย  42 ปี  เจ้าของแปลงปลูกสับปะรดอินทรีย์ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.)จังหวัดลำปางได้ยกประเด็นปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของจังหวัดลำปางอยู่ขณะนี้ว่า จังหวัดลำปางเป็นแหล่งปลูกสับปะรดที่สำคัญของไทย แต่ต้องพบกับปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำมาเป็นระยะ ซ้ำๆเดิมๆ อีกทั้งที่ผ่านมายังไม่เกิดความร่วมมือให้มีกระบวนการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนอย่างจริงจัง ซึ่งแผนพัฒนาจังหวัด ควรให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ด้วย โดยบรรจุลงไปในแผนระดับจังหวัดให้เกิดความร่วมมือระดับจังหวัด ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มเกษตรกร หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสายตรงเท่านั้น

“จากประสบการณ์ที่ผมเป็นผู้ปลูกสับปะรด และทำแปลงเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรสับปะรดมา พบว่า ปัญหาที่เกิดกับเกษตรกรทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ปกติเกษตรกรจะเริ่มปลูกลงหน่อพร้อมกันทั้งแปลง และอีกประมาณ 12-16 เดือน ก็จะเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจำหน่ายสู่ตลาดพร้อมกัน ทำให้ผลผลิตออกมามาก ราคาไม่ดี ถึงแม้จะนำไปแปรรูปก็ไม่ทัน เกิดการเน่าเสีย ซึ่งเป็นปัญหาและความเสี่ยงของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดอย่างมาก  หลังจากทดลองทดสอบทำสับปะรดนอกฤดู อยู่ 3 ปี ก็ได้คำตอบว่า การโดยทยอยปลูก และทยอยเก็บ และปลูกแบบปลอดสารเคมี โดยใช้เทคนิคการนำเครื่องมือง่ายๆ ราคาไม่แพงจากภูมิปัญญามาเป็นเครื่องมือช่วยให้ทำเกษตรง่ายขึ้น เหนื่อยน้อยลง ได้ผลผลิตมากขึ้น และยังได้ราคาดี ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ทุกวันนี้ผมไม่ได้รับผลกระทบเรื่องราคาเพราะผมมีลูกค้า มีตลาดที่รอซื้ออยู่แล้วในราคาที่สูงกว่าราคาหน้าสวนทั่วไป และสามารถกำหนดราคาได้ ซึ่งผมสร้าง “กฤษณะโมเดล” พร้อมที่จะแบ่งปันให้เพื่อนเกษตรกรนำไปพัฒนาการปลูกสับปะรดที่ทำราคาได้ปัจจุบันราคาผลผลิตแบบที่ผมทำจำหน่ายได้เฉลี่ยลูกละ 25 บาท และได้ลงนามเซ็นสัญญาซื้อขายร่วมกับบริษัทประชารัฐ รักสามัคคีลำปางแล้ว” 

อย่างไรก็ตาม นายกฤษณะ สิทธิหาญ เกษตรกรต้นแบบ ยังได้เสนอต่อที่ประชุมฯว่า เมื่อเกิดการยกระดับพัฒนาการปลูกสับปะรดของเกษตรกรได้ เป็นเพียงต้นน้ำของการแก้ปัญหา แต่จะต้องขอรับการสนับสนุนระดับจังหวัดในเรื่องของการพัฒนาการตลาด โดยใช้เทคโนโลยี การตลาดออนไลน์มา ซึ่งอาจจะพัฒนาไปจนถึงการสร้างแอพลิเคชั่น ต่างๆมาช่วยสร้างฐานการตลาดแบบออนไลน์ให้เป็นช่องทางการเข้าถึงกันของผู้ซื้อและผู้ขาย ขณะเดียวกันต้องสร้างพื้นที่การตลาดแบบออฟไลน์ ซึ่งหมายถึงตลาดปลอดภัยในตัวเมืองลำปาง โดยให้เกษตรกรที่ปลูกพืชปลอดภัยทุกกลุ่ม มีพื้นที่ขายที่แท้จริง มีรายได้จากการขายปลีก แปรรูป  เพิ่มช่องทาง เพิ่มจากรอขายส่งหน้าสวน ก็เป็นขวัญและกำลังใจในการยกระดับการปลูกแบบยั่งยืน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1136 วันที่ 7 - 13 กรกฎาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์