วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เรื่องร้อน ๆ

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

กำลังโด่งดังเลยทีเดียวสำหรับแหล่งชมความร้อนใต้พิภพ (Geo-Thermal) แหล่งใหญ่ของโลกอย่างเยลโลสโตนที่สหรัฐอเมริกา และยังเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของโลก (จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1872) ด้วยความที่ใต้เยลโลสโตนนั้น มีซูเปอร์วัลคาโน หรือมหาภูเขาไฟตั้งอยู่ จึงมีพุน้ำร้อนนับพัน ๆ แห่ง และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมมนุษยชาติจึงต้องยำเกรง

พุน้ำร้อนมีความสัมพันธ์กับบริเวณที่เปลือกโลกมีการเคลื่อนตัว เมื่อเปลือกโลกเคลื่อนตัว จะเกิดรอยคดโค้ง หรือรอยเลื่อนของชั้นหินขึ้น ทำให้ความร้อนที่อยู่ใต้พิภพถ่ายเทมาถึงบริเวณนี้ เมื่อน้ำใต้ดิน ซึ่งก็คือน้ำจากผิวโลกที่ซึมผ่านรอยแยก หรือช่องโพรงในหิน ซึมลึกลงไปใต้พื้นผิวโลก น้ำใต้ดินจะมีความร้อนสูงจนกลายเป็นไอน้ำ และดันให้น้ำร้อนใต้ดินพุ่งกลับขึ้นมาสู่ผิวดิน กลายเป็นพุน้ำร้อนในที่สุด โดยบางแห่งมีแก๊สและแร่ธาตุจากใต้พื้นโลกไหลปะปนขึ้นมาด้วย

พุน้ำร้อนมีหลายลักษณะ บางแห่งที่มีกำลังแรงไม่มาก ก็จะมีเพียงน้ำรินไหล หรือเดือดปุด ๆ แต่บางแห่งมีกำลังแรงมาก ถึงขนาดทำให้น้ำพุ่งขึ้นมาจากใต้ดิน โดยมีไอน้ำและแก๊สพุ่งออกมาด้วย พุน้ำร้อนลักษณะนี้มักมีแรงอัดดันให้น้ำพุ่งขึ้นมาเป็นพัก ๆ เมื่อหมดแรงส่ง น้ำจะหยุดพุ่ง จนเมื่อสะสมกำลังได้มากพอ ก็จะดันน้ำและไอน้ำให้พุ่งขึ้นมาได้อีก นักวิชาการเรียกพุน้ำร้อนชนิดนี้ว่า “กีเซอร์”

สำหรับประเทศไทย พุน้ำร้อนไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีทุกภาค ภาคอีสานไม่มีพุน้ำร้อน ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก มีอยู่รวมกัน 16 แห่ง ทั้งนี้ พุน้ำร้อนจะอยู่ในภาคเหนือมากที่สุด โดยมีถึง 50 แห่ง รองลงไปคือภาคใต้ มีอยู่ 25 แห่ง รวมแล้วประเทศไทยมีพุน้ำร้อนทั่วประเทศ 91 แห่ง แน่นอน ในจำนวนนี้บางแห่งน้ำร้อนจัด ยืนมองได้อย่างเดียว บางแห่งก็ลงไปแช่แบบออนเซนได้ ต้มไข่ได้ แว่วมาว่า หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวกำลังจะโปรโมตเส้นทางเที่ยวชมแหล่งความร้อนใต้พิภพเหล่านี้อยู่

ในบรรดาแหล่งชมความร้อนใต้พิภพในประเทศไทย ผศ. ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยกให้โป่งเดือดป่าแป๋ จังหวัดเชียงใหม่ เจ๋งสุด อย่างไรก็ตาม อาจารย์คนดังยังบอกด้วยว่า หากเน้นไปกินไข่ต้ม หรือดูเพลิน ๆ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปางของเราชนะเลิศ

ฤดูที่เหมาะจะไปเที่ยวบ่อน้ำพุร้อน คือ ช่วงปลายฝนต้นหนาว เนื่องจากสภาพป่ายังเขียวครึ้มอยู่ อีกทั้งบริเวณบ่อน้ำร้อนในช่วงเช้าและเย็น จะเป็นช่วงที่ไอน้ำจากบ่อน้ำร้อนปะทะกับความเย็นของอากาศโดยรอบ เกิดเป็นม่านหมอกไอน้ำลอยปกคลุมสวยงาม

ทว่าแม้จะดูราวกับภาพฝัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะไม่อันตราย อาจารย์ธรณ์จึงเตือนว่า การท่องเที่ยวในแหล่งความร้อนใต้พิภพควรใช้ความระมัดระวังให้มาก เพราะเราไม่อาจคาดเดาสถานการณ์ใต้ผืนโลกได้ เพียงแผ่นดินไหวเบา ๆ ก็อาจทำให้พุน้ำร้อนเปลี่ยนสภาพไป โดยที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำ จึงควรใส่ใจและให้ความสำคัญกับป้ายเตือน กฎกติกามารยาท แม้ไม่มีป้ายก็ต้องรอบคอบและระมัดระวัง ทั้งนี้ นอกจากเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองแล้ว ยังเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติของแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเปราะบางอีกด้วย


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1142 วันที่ 18 - 24 สิงหาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์