ยังไม่ต้องสนใจก็ได้ว่า ก้าวพ้นพงหนามของ สมชาย
วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี 75 วัน จะกลับมานำทัพเพื่อไทย
กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่งหรือไม่ แต่ควรสนใจหรือไม่ว่า ผลคดีสมชาย
วงศ์สวัสดิ์กับพวกนั้น
จะส่งผลอย่างไรหรือไม่ต่อคดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งกำลังนับถอยหลังอยู่เวลานี้
แม้มูลคดีต่างกัน เนื้อหาต่างกัน
พยานหลักฐานแตกต่างกัน ผลของความเสียหายไม่เท่ากัน
องค์คณะผู้พิพากษาจากว่าที่รองประธานศาลฏีกา เป็นว่าที่ประธานศาลฏีกาท่านชีพ
จุลมนต์ แต่เมื่อได้พิเคราะห์หลักวินิจฉัยคดีสมชาย วงศ์สวัสดิ์
ด้วยความเคารพในคำวินิจฉัยของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
คดียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็อาจมีบทสรุปในท่วงทำนองที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
พึงสังเกต บางประโยคในคำพิพากษา ซึ่งในทางคดี
ถือเป็นถ้อยคำสำคัญ เป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีต่อๆไป
“ศาลเห็นว่า
การที่พยานโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแก๊สน้ำตายังมีความคิดเห็นแตกต่างกันถึงผลที่เกิดจากการใช้แก๊สน้ำตา
แม้จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
แต่สถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะทราบว่า
แก๊สน้ำตาเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เมื่อเหตุการณ์ชุมนุมยังไม่สงบ
เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของทางราชการ
ขณะเกิดเหตุจำเลยก็ไม่อาจอนุมานได้ว่า
แก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมได้
ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบจึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษ
เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต..”
คำว่า “เจตนาพิเศษ”
มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เรียกได้ว่า คดีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทั้งคดีปิดฉากไปด้วยถ้อยคำ
เพียงคำเดียว
หลักการพิจารณาความผิดทางอาญานั้น
ต้องครบถ้วนทั้งองค์ประกอบภายนอก คือมีคนกระทำ มีการกระทำ และมีความสัมพันธ์ระหว่างเหตุแห่งการกระทำและผลของการกระทำ
เช่น ตั้งใจจะยิงเขาให้ตาย เล็งปากกระบอกปืนไปยังบุคคลอื่น ยิงออกไป
บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย นี่เรียกว่าเป็นองค์ประกอบภายนอก ที่เห็นได้ด้วยตา
และจะต้องมีองค์ประกอบภายใน ซึ่งโดยปกติ ใช้หลัก “เจตนา” คำว่าเจตนาหมายถึง
การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และผู้กระทำมีความมุ่งหมาย
อันประสงค์หรือเล็งเห็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้น เช่น ยิงปืนขึ้นฟ้า
ไม่ได้ต้องการให้โดนใคร แต่กระสุนตกไปที่บุคคลอื่นจนถึงแก่ความตาย คดีสมชาย
วงศ์สวัสดิ์ ก็เช่นเดียวกัน
แต่ในคดีสมชาย วงศ์สวัสดิ์
นอกจากหลักเจตนาธรรมดาแล้ว ศาลยังใช้คำว่า “เจตนาพิเศษ”
หมายถึงมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดด้วย เช่นจำเลยมีความตั้งใจ มีคำสั่ง
มีการเตรียมการ ที่บอกได้ว่า ต้องการทำร้ายผู้ชุมนุมให้บาดเจ็บล้มตาย
มิใช่เพียงระงับการชุมนุม หรือควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดความเสียหายร้ายแรงตามอำนาจหน้าที่ตามปกติเท่านั้น
โดยนัยเดียวกัน ในคดียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่อ้างว่า นโยบายจำนำข้าว
เป็นนโยบายแห่งรัฐที่ได้ประกาศเป็นสัญญาประชาคมไว้ก่อนการเลือกตั้ง
เมื่อได้เป็นรัฐบาลก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายนั้น อันสอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งในขณะที่ดำเนินนโยบายนั้น
ไม่ได้มีเจตนาพิเศษที่มุ่งจะให้เกิดการคอรัปชั่น
หรือสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติ
และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นก็ได้ใช้ความพยายามที่จะบรรเทาความเสียหายนั้นตามสมควรแก่เหตุแล้ว
นี่ก็น่าคิดว่า คำว่าเจตนาพิเศษ จะเป็นคุณแก่คดีทั้งพี่เขยและน้องเมียหรือไม่
ไม่เพียงประเด็นเรื่องคดีความ กรณีสมชาย
ยิ่งลักษณ์ ยังคงมีคำถามเรื่องบทบาทในการรายงานข่าวของสื่อมวลชน
การกำหนดวาระข่าวสาร เนื่องเพราะเมื่อเกิดกรณีขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนสองกลุ่มใหญ่ในสังคม
สื่อมวลชนก็เลือกข้างชัดเจนที่จะยืนอยู่ฝายใดฝ่ายหนึ่งด้วย
และก็ส่งผลถึงการให้หัวข่าว น้ำหนัก พื้นที่ ในการนำเสนอข่าว
รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ที่แฝงอคติในกรณีเล่าข่าว
ความคิด ทัศนคติทางการเมือง
อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์คนหนึ่งที่จะรัก ชอบ เกลียดชังใคร ควรอยู่บนพื้นที่ข่าว
อยู่บนหน้าจอ อยู่บนออนไลน์ อยู่บนพื้นที่สาธารณะ
อยู่ในการทำหน้าที่บนพื้นที่สาธารณะหรือไม่
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1140 วันที่ 4 - 10 กรกฎาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น