กาลเวลาต่างหากที่ทำเราหัวหมุนและเหวี่ยงเราอย่างไม่ปรานี
หลัง ๆ มานี้ เมืองลำปางของเรามีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่น่าใจหาย
บางเหตุการณ์ประชิดเข้ามาโดยที่เราไม่ทันตั้งตัวด้วยซ้ำ ดงต้นฉำฉาใหญ่ร่มครึ้มถูกตัดโค่นลงในพริบตา
พื้นที่รกร้างหลายแห่งถูกปรับแต่งรอการต่อเติม อาคารเก่าแก่ดั้งเดิมถูกทุบทิ้งทำลาย
แหลกสลายลงไปพร้อม ๆ กับหัวใจของใครหลายคน
เรากำลังพูดถึงอารมณ์ของเมืองที่กำลังหันเหไปสู่ความเพิกเฉย
เมืองที่ไม่แม้แต่จะเหนี่ยวรั้งความผูกพันของผู้คนได้อีกต่อไป
เพราะมันกำลังจะมีแต่คำว่า ธุรกิจ อาคารพาณิชย์ และคอนโดมิเนียม
อาคารบ้านเรือนเก่าแก่ที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสมกำลังทรุดโทรม
และสุดท้ายปลายทางก็ทยอยหายไปจากเมืองลำปาง
หากเรายังไม่มีการดำเนินการและตื่นตัวเกี่ยวกับการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่อย่างจริงจัง
อาคารเก่าในบ้านเรามีทั้งอาคารที่ดูแลโดยภาครัฐและอาคารที่ดูแลโดยเจ้าของบ้านเอง
ซึ่งแน่นอนว่า มันย่อมเกิดความเสียหายไปบ้างตามกาลเวลา
ครั้นจะปรับปรุงซ่อมแซมก็ไม่สามารถหาวัสดุอุปกรณ์แบบเดิมได้อีก ด้านช่างฝีมือก็หายากที่จะมีทักษะชำนาญงาน
หรือถ้ามีก็เรียกราคาสูงลิบลิ่ว
ทางออกหนึ่งในการที่จะดูแลรักษาอาคารบ้านเก่าให้ยังคงอยู่ในสภาพดั้งเดิมก็คือ
การนำอาคารขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยเจ้าของบ้านสามารถแจ้งความประสงค์ด้วยตนเอง
หรือจากการสำรวจพื้นที่ของเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร
ทว่าเมื่ออาคารถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว
สิทธิบางอย่างของเจ้าของบ้านย่อมถูกลดทอนลง (แต่ก็ยังมีอำนาจถือครองอยู่เหมือนเดิม)
อาทิ กรณีจะซ่อมแซม หรือต่อเติมอะไรก็ตาม ต้องแจ้งกรมศิลปากรทุกครั้ง
เพราะอาคารดังกล่าวถือเป็นโบราณสถานของชาติที่ประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว ทั้งนี้
กรมศิลปากรจะกำหนดรายการซ่อมตามหลักวิชาการและควบคุมให้เหมือนสภาพเดิมมากที่สุด โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทุกอย่าง
เจ้าของบ้านจะต้องจ่ายเอง...ด้วยข้อจำกัดนี้ จึงทำให้เจ้าของบ้านต้องคิดหนัก เพราะเห็นแล้วว่า
การขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของอาคารที่พักอาศัยนั้น ไม่ได้ทำให้เขามีสิทธิพิเศษแต่อย่างใด
นอกจากบ้านจะกลายเป็นมรดกของชาติ
มีคนเสนอทางออกว่า
ประเทศไทยน่าจะมีการจัดตั้งหน่วยงานกลางทำหน้าที่ดูแลเชื่อมโยงข้อมูล เช่น ใครต้องการซ่อมแซมบ้านเก่าก็จะมีช่างเข้าไปดูแล
หรืออาจจะมีองค์กรที่ทำหน้าที่ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือในเรื่องทรัพยากร
โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ
ระหว่างที่ยังไม่มีสิ่งใดชัดเจนในการแก้ปัญหาเรื่องนี้
อาคารบ้านเก่าจึงถูกขายไปอยู่ในมือนายทุนทีละหลังสองหลัง ถูกทุบทิ้ง
เพื่อแปรสภาพเป็นอะไรก็ตามที่เพิ่ม “มูลค่า” ได้มากกว่า
น่าเสียดายที่เราต่างหลงลืม “คุณค่า”
ที่อาคารเหล่านี้มอบให้เมืองลำปางของเรามาเกือบร้อยปี ทั้ง ๆ ที่อาคารบ้านเก่านั้น
“ขายได้” แต่เป็นการขายความเก่า โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างกระแสบ้านเก่าให้ดึงดูดการท่องเที่ยวแนวโหยหาอดีต
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็มิได้นิ่งนอนใจ มีการลงชื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม
รวมทั้งมีการเรียกร้องให้เทศบาลนครลำปางตราเทศบัญญัติเพื่อควบคุม อนุรักษ์
และระบุรูปแบบอาคาร กำหนดเขต จัดสรรผังเมือง
และสร้างแนวทางเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ในเขตเมืองให้คงไว้ซึ่งเสน่ห์ของเมืองเก่าต่อไป
ซึ่งก็ปรากฏว่า มีแนวร่วมพันกว่าคนแล้ว พิสูจน์ให้เห็นว่า
คนลำปางไม่นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ส่วนคนที่ยังนิ่งนอนใจในเรื่องนี้
กลับเป็นหน่วยงานที่ (ควรจะ) เกี่ยวข้องนั่นแหละ
การอนุรักษ์อาคารบ้านเก่าต้องมีการเริ่มต้นและลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด
ก่อนที่เราจะสูญเสียสถาปัตยกรรมที่บรรจุเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองไปอย่างไม่อาจเรียกคืน
แล้วยังต้องมานั่งตอบคำถามนักท่องเที่ยวว่า “ลำปาง เมืองที่ไม่หมุนไปตามกาลเวลา”
จริงหรือ ?
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1144 วันที่ 1 - 7 กันยายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น