วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560

กรณีศึกษา เมื่อคนข่าวเป็นข่าว

จำนวนผู้เข้าชม

นห้วงราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์หนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก คือ คนข่าวที่เป็นข่าวเสียเอง เริ่มจากคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา จนกระทั่งถึงกรณีผู้บริหารองค์กรวิชาชีพสื่อแห่งหนึ่ง คำถามคือ สื่อจะนำเสนอข่าวเหล่านี้อย่างไร คนข่าวที่เป็นข่าวเสียเอง จะอธิบายเรื่องราวเหล่านี้ต่อสังคมอย่างไร

ตอนที่เกิดคดีเรื่องไร่ส้มใหม่ๆ  คุณสรยุทธ ใช้รายการเรื่องเล่าเช้านี้  ชี้แจงว่า ได้คืนเงินให้ อสมท จำนวน 138 ล้านบาทครบถ้วนแล้ว และจะยื่นฟ้องศาลปกครองเรียกเงินคืน แต่ก็ยอมรับว่าได้จ่ายเช็ค 7 แสนบาท เป็นค่านายหน้าหาโฆษณาจริง เรื่องของคุณสรยุทธ เป็นคดีความที่มีผู้เสียหายชัดเจน คือ อสมท มีการชี้มูลความผิดโดย ป.ป.ช.ชัดเจน และคุณสรยุทธ ก็ควรมีสิทธิที่จะใช้พื้นที่ของเขา อธิบายความ จะสั้น จะยาว จะเหมาะสมหรือไม่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง

การเสนอข่าวคุณสรยุทธ จึงดำเนินไปบนพื้นฐานของข่าวที่มีที่มา ที่ไป มีกระบวนการทางกฎหมายรองรับ

แต่สำหรับกรณีผู้บริหารองค์กรวิชาชีพสื่อ เหตุที่มาของข่าว เกิดจากการซุบซิบ นินทา และนำไปสู่การโพสต์ข้อความรวมกับ กรณีคุกคามทางเพศอีก 2 กรณี คือ กรณีที่เกิดขึ้นในทีวีสาธารณะ และทีวีเอกชนแห่งหนึ่ง ในลักษณะของการตั้งคำถาม

พฤติกรรมที่กล่าวอ้างว่า เกิดภายในองค์กรสื่อ หรือทีวีช่องหนึ่ง ถูกนำมาอธิบายถึงพฤติกรรมของคนอีกคนหนึ่ง

ในขณะที่อีกสององค์กรนั้น กับพฤติกรรมคุกคามทางเพศ ที่มีคนยืนยันข้อเท็จจริงนั้น หายไป ไม่มีใครพูดถึงอีก

ไม่ว่าเหตุผลแท้จริงจะเป็นเช่นใด สิ่งที่สื่อจะต้องยืนยัน คือการทำหน้าที่กระจกสะท้อนสังคม หรืออีกบทบาท การเป็น Watchdog  เป็นหมาเฝ้าบ้าน ที่ต้องเห่าตะโกนให้เจ้าของบ้านรู้ว่า มีเหตุเภทภัยใด โดยไม่อยู่ในเงื่อนไขว่า เป็นเรื่องของคนในวิชาชีพเดียวกันหรือไม่ ซึ่งในทางตรงกันข้าม เมื่อหมาเฝ้าบ้านเห่าตะโกนคนอื่นที่แปลกปลอมได้ ก็ต้องเห่าตะโกนคนกันเองให้ดังกว่า

หลักการเป็นเช่นนี้ แต่หากหมาเฝ้าบ้านทำหน้าที่ไม่เที่ยงตรง กลายเป็นหมาเห่าใบตองแห้ง แปลว่า เห่าตะโกนแม้เพียงเห็นใบไม้ไหว ก็เป็นเรื่องที่ต้องทบทวน และทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า ข่าวนั้นไม่ว่าจะเป็นข่าวของใคร ของคนข้างนอก หรือคนในบ้าน จะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง มีความครบถ้วนและรอบด้าน

เรื่องของผู้บริหารองค์กรวิชาชีพสื่อเรื่องนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือการประเมินคุณค่าข่าว หรือ News Values เพราะมีทีวีเพียงบางช่อง และหนังสือพิมพ์บางฉบับเท่านั้นที่เสนอข่าวนี้ แม้กระทั่งช่องทีวีที่เคยให้ความสนใจเรื่องที่เป็น Human Interest ก็ไม่มีข่าวนี้

พื้นที่ของข่าวส่วนใหญ่ จะไปอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ข่าว “บอกต่อ”ต่อๆกันไป โดยอาจจะไม่มีใครคิดถึงต้นทาง หรือสนใจถามเรื่องความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล

ปรากฏการณ์ผู้บริหารองค์กรวิชาชีพสื่อครั้งนี้ อาจอธิบายในเชิงวิชาการ ได้ว่า เป็นเรื่องของ Prior  Attitude หรือทัศนคติเริ่มต้น เป็นสารตั้งต้น คือความเชื่อพื้นฐานของผู้รับสารที่มีอยู่แล้ว หรือทัศนคติที่เป็นลบอยู่ก่อนหน้านั้น เมื่อรวมกับข้อมูลใหม่ที่ได้รับรู้ ก็กลายเป็นความเชื่อชนิดปักใจเชื่อ ด้วยเรื่องราวนั้นสอดคล้องกับอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง

เราอาจจะตัดสินไม่ได้ว่า ถูกหรือผิด แต่ควรรับฟัง และเคารพความคิดเห็นที่หลากหลาย และหากสรุปความคิดได้ ก็ควรตั้งใจไว้ในที่ที่ไม่ลำเอียง เราอาจจะค้นพบความจริงได้

ถ้าเราพบความจริงได้ เราก็จะกลับมาสู่พื้นฐานการทำงานภายใต้หลักการ ความจริง ครบถ้วนและรอบด้านได้ โดยไม่หวั่นไหว หรือตื่นตูมไปกับเสียงร้องตะโกนของคนๆหนึ่ง

ลองดูตัวอย่างใกล้ตัว  มีชาวบ้านมาร้องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก กฟผ.ในการปักเสาไฟฟ้าแรงสูงในพื้นที่ของเธอ กว่าข่าวนี้จะนำเสนอสู่สาธารณะ ลานนาโพสต์ก็ใช้เวลาถึง 2 เดือน ที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่างครบถ้วน และรอบด้าน

เริ่มจากการไปสำรวจพื้นที่พิพาท สัมภาษณ์ผู้ร้อง ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง สรุปประเด็นที่โต้แย้งกัน จากนั้นไปสอบถามกฟผ.ให้ตอบทุกคำถามที่ชาวบ้านข้องใจ

เราอย่าหลงประเด็น ในการเพิกเฉยละเลย ไม่ตรวจสอบกันเอง หรือที่กล่าวกันว่าแมลงวันไม่ตอบแมลงวัน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม หน้าที่สื่อมวลชนคือต้องตรวจสอบทุกคน ทุกกรณี อย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ลูบหน้าปะจมูก แต่ต้องแน่ใจว่า นั่นมิใช่เพียงเรื่องใบไม้ไหว แล้วบอกว่าแผ่นดินจะถล่ม


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1147 วันที่ 22 - 28 กันยายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์