วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560

นักธุรกิจสื่อ เมล็ดพันธุ์อันเลวร้ายในวงการสื่อ

จำนวนผู้เข้าชม .

ย่าได้แปลกใจไปเลยว่า เหตุใดการปฏิรูปสื่อ ที่ถูก “ผลิตซ้ำ” ครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งห้วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงคล้ายย่ำเท้าลงไปบนผืนทราย ไม่มีมรรคมีผลอันใด ต่อการปฏิรูปสื่อในแง่การปฏิบัติอย่างเห็นผลจริงจัง

เวลาที่สังคมวิพากษ์ วิจารณ์ ดุด่า ต่อว่า เวลาที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชี้หน้า ตำหนิ ติเตียนการนำเสนอข่าว ของนักข่าวทำเนียบรัฐบาล พวกเขาได้คิดหรือไม่ว่า บรรดานักข่าวภาคสนาม นักข่าวหรือช่างภาพฝ่ายปฎิบัติการนั้น ไม่ได้มีบทบาท หรือมีส่วนร่วมอย่างใดเลย ต่อการนำเสนอข่าวที่ละเมิดสิทธิบุคคลอื่น ข่าวที่ไร้ความรับผิดชอบ ข่าวที่มุ่งต่อยอดขาย ยอดคนอ่าน ยอดวิว ยอดไลค์ คนดู และคนฟัง

เขาทำตามหน้าที่ ทำข่าวมาให้ละเอียดที่สุด ถามให้มากที่สุด ให้ครบถ้วนในทุกประเด็น ช่างภาพก็ถ่ายภาพ ทุกแง่ ทุกมุม แม้เขาจะเห็นว่า ข่าวที่ทำมามีความสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดจริยธรรม ภาพที่ถ่ายมา อาจมีผลกระทบต่อบุคคลอื่น  แต่คนเลือกข่าว และภาพเหล่านั้น เผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะ เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่เคยต้องมารองรับอารมณ์แหล่งข่าว มาฟังคำดุด่า ว่ากล่าว โดยตรงจากนายกรัฐมนตรี

คนกลุ่มนั้น อาจเรียกว่า “นักธุรกิจสื่อ” ซึ่งหากย้อนหลังไปในห้วงระยะเวลาราว 20 ปีแรกของอาชีพคนข่าวของ “จอกอ” เราจะพบว่า สื่อโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ ล้วนมีนายทุน ทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ กลุ่มอำนาจและผลประโยชน์ต่างๆ ดาวสยาม ชาวไทย เศรษฐกิจการเมืองรายวัน เจ้าของทุนเหล่านี้ คือเจ้าของเงิน หรืออย่างน้อยก็เป็นช่องทางที่สามารถระดมทุนเข้ามาเลี้ยงปาก เลี้ยงท้องคนทำหนังสือพิมพ์  ยังไม่นับนายทุนหนังสือพิมพ์ ประเภทที่ต้องวิ่งแลกเช็คมือเป็นระวิง ซึ่งส่วนใหญ่หนังสือพิมพ์ที่พึ่งพาวิธีการได้เงินมาเช่นนี้ จะอายุสั้น และตายไปในไม่ช้า

ถึงกระนั้น ก็ไม่มีใครเรียกพวกเขาว่า นักธุรกิจ ดีที่สุดคือนายทุน

ชัดเจนไปว่า คือนายทุน ที่ไม่ต้องมาอิงแอบสถานะอื่น โดยเฉพาะสถานะความเป็นคนข่าว ที่มีเป้าหมายและความรับผิดชอบแตกต่างกับคนหาเงิน

เมื่อบริษัทสื่อ เริ่มคิดการใหญ่ นำกิจการไประดมทุนในตลาดหุ้น ราวปี 2530-2531 มีการเติบโต ขยายตัว ขยายงานด้านสื่อออกไปในลักษณะของ Cross Media มีการขยายกิจการทั้งในรูปแบบของ Books หนังสือการ์ตูน ออนไลน์ แม้กระทั่ง Non-Publishing เช่น  การฝึกอบรม มหาวิทยาลัย ไกลไปถึง Property ที่ไม่เคยมีความรู้ ความเชี่ยวชาญเลย  เรียกว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์  ก็ไม่ละเว้น กิจการที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์นี่เอง ที่ต่อมา ทำให้บริษัทอยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย มีการโยกย้ายถ่ายเทเงินออกไปจากบริษัท โดยที่หาตัวคนรับผิดชอบไม่ได้

พัฒนาการเช่นนี้ นำไปสู่ ภูมิทัศน์ใหม่ของสื่อ นั่นคือ Media Industry

Media Industry หรือ ความเป็นอุตสาหกรรมสื่อ เรียกร้องการระดมทุนมากขึ้น เพื่อให้ได้สัดส่วนกับการลงทุนขยายงาน เช่น งานพิมพ์ ที่ต้องใช้เงินนับร้อยล้านในการซื้อแท่นพิมพ์ การจ้างงานเพิ่มขึ้น ภาระรับผิดชอบในค่าจ้าง เงินเดือน สวัสดิการมากขึ้นและมากขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับผู้บริหารองค์กรสื่อบางแห่ง เท่าที่สืบค้น พบข้อมูลในปี 2545 ผู้บริหารจำนวนหนึ่งไม่เกิน 10 คน มีเงินเดือน ค่าตอบแทน สูงมากกว่าระดับบริหารในธุรกิจสื่อด้วยกันหลายสิบเท่า

นั่นก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดภาระรายจ่ายสะสม  ที่เกินความสามารถในการทำงาน และการบริหารงาน จนกระทั่งนำไปสู่ภาวะ “ผึ้งแตกรัง” เมื่อไม่นานมานี้

การบริหารงานในภาพของอุตสาหกรรม เปลี่ยนวิธีคิด วิธีบริหาร ของผู้บริหารองค์กรสื่อไปโดยสิ้นเชิง จากบทบาทของคนข่าว กลายเป็นบทบาทของนักธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบในแง่ผลประกอบการ กำไร-ขาดทุน มากกว่าเป้าหมายเชิงอุดมการณ์หรือความรับผิดชอบต่อสังคม

เปลี่ยนผู้บริหารสื่อเป็น “นายทาส” เปลี่ยนนักข่าว เป็น “คนงาน” ในโรงงานอุตสาหกรรมข่าว

แม้ด้านหนึ่งจะพยายามแสดงราคา ความเป็นสื่อที่มีอุดมการณ์ แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำทุกวิถีทางที่จะให้ได้เงินมา ไม่ว่าจะถูกต้องตามหลักการ หรือทำนองคลองธรรมหรือไม่ ในขณะที่การละเมิดจริยธรรม ความผิดพลาดในการนำเสนอข่าวสาร ข้อมูล เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยไม่มีใครสนใจ นำพา

เราคงมีความหวังในการปฏิรูปสื่อไม่มากนัก เพราะเมื่อการปฏิรูปตกอยู่ในมือของนักธุรกิจสื่อ เราคงได้เห็นแต่การพูดซ้ำๆในเรื่องเสรีภาพของสื่อ ความเป็นอิสระของสื่อ ที่เป็นเพียงกระพี้ หาแก่นสารอะไรไม่ได้ 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1149 วันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์