วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ส่งต่อชอเส็งสู่รุ่น3 ธุรกิจฟื้นชีวิตเครื่องหนัง

จำนวนผู้เข้าชม Counter for tumblr

เรื่องราวที่ความพิเศษมักมาจาก ความไม่เหมือนใคร เพราะแม้คนกลุ่มหนึ่งจะรู้จักร้านซ่อมและขายรองเท้าหนังแท้เก่าแก่ในลำปาง ชื่อ “ร้านชอเส็ง” แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นๆอายุวันเลยหลัก 4 ไปแล้ว นั่นหมายถึงคนรุ่นเก่าๆในลำปาง รู้จักร้านนี้ว่าเป็นร้านขายรองเท้ามายาวนานมากกว่า 50 ปี แต่ถ้าถามคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน อาจจะส่ายหน้า เพราะเกิดไม่ทันยุครุ่งเรืองของร้านนี้

แต่ถ้าถามว่า หากจะหาร้านซ่อมรองเท้า กระเป๋า เครื่องราคาแพง ให้กลับคืนสภาพที่ยังต่ออายุของมันได้ แค่กดค้นหา ในกูเกิล (Google)  หรือถามเพื่อนที่รู้จัก ก็อาจจะพบข้อมูลในโลกออนไลน์ และในสื่อโซเชียลเฟสบุค ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสาร และสืบค้นข้อมูลตอบโจทย์ชีวิตของคนในยุคนี้

“ถ้าไม่กลับมาทำร้านต่อ มันอาจหมายถึงเรากำลังจะปล่อยให้ตำนานของชอเส็งจบลง”  นุ่น ศุภางค์ ไทยสมบูรณ์สุข ลูกสาวคนโต 1 ใน 3 ทายาท ร้านชอเส็ง เล่าด้วยรอยยิ้มที่แฝงด้วยความมุ่งมั่น ว่า เธอตัดสินใจละทิ้งหน้าที่การงานเงินเดือนเหยียบแสนในเมืองกรุง เพื่อกลับมาสานต่อธุรกิจการทำรองเท้าหนังแท้ของ ทั้งจำหน่ายผลิต ซ่อม ครบวงจร ของร้านชอเส็งที่ทำมาตั้งแต่รุ่นอากง ได้เพียง 2 เดือน และนี่คือการเปลี่ยนชีวิตเข้าสู่การเป็นเถ้าแก่ หรือธุรกิจของตัวเอง อย่างเต็มตัว

“ที่จริงนุ่น เห็นและอยู่กับ ธุรกิจร้องเท้าของที่บ้านมาตั้งแต่เด็กแต่เราไม่เคยได้คลุกคลีใกล้ชิดอะไรมากนัก เพราะต้องเรียนหนังสือ จบมาก็ไปทำงานอยู่ ในกรุงเทพฯ กว่า 10 ปี พอถึงช่วงหนึ่งพ่อป่วย แต่เราอยู่ไกล ลางานมาก็ยากมาก น้องๆ ก็คุยกันว่า ทำไมเราต้องไปอยู่กรุงเทพ รายได้สูงมจะเทียบกับการอยู่กับครอบครัว มาดูแลพ่อแม่ในวันที่ยังไม่จากเราไปได้เหรอ จึงเริ่มกลับมาคิดใหม่ว่า ที่บ้านเราก็มีธุรกิจของตัวเอง แต่ปล่อยให้พ่อแม่ทำจนไม่ไหวแล้ว เราก็ยังมีทางเลือก อย่างน้อยก็ไม่ต้องไปเป็นลูกน้องใคร”

นั่นคือแรงบันดาลใจหลักของการตัดสินใจ กลับมา ฟื้นธุรกิจ งานซ่อมรองเท้า กระเป๋า และงานเครื่องหนังแท้ตามแบบฉบับของ“ชอเส็ง” ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เริ่มปรับปรุงหน้าร้าน และการจัดการการสื่อสารการตลาดผ่านช่องทางสังคมออนไลน์และเน้นการให้บริการลูกค้า เรียกได้ว่าเป็นการรีแบรนด์ครั้งประวัติศาสตร์ของครอบครัว “ชอเส็ง”

รณฤทธิ์ ไทยสมบูรณ์สุข ในวัย 64 ปี หรือที่ใครๆก็เรียกว่า “เฮียน้อย” พ่อของนุ่น เจ้าของร้านชอเส็งรุ่นที่2  ซึ่งสืบทอดวิชาตัดและซ่อมรองเท้าหนังจากอากง เล่าว่า เมื่อเขายังเด็ก พ่อหรือที่ลูกๆเรียกว่า ป๊า ทำธุรกิจร้านค้าพาณิชย์ ขายเสื้อผ้า รองเท้า ในตลาดสดสมบูรณ์ (ตลาดออมสินหรือตลาดเทศบาล 1 ในปัจจุบัน) เมื่อค้าขายไปนานๆก็พบว่ามีลูกค้าที่มีปัญหา หาซื้อรองเท้าที่พอดีกับเท้าไม่ได้ มีรูปเท้าที่ผิดปกติ จึงสนใจศึกษาเรียนรู้การตัดรองเท้าด้วยตัวเอง โดยใช้แบบของรองเท้าที่มีในท้องตลาดมาเป็นต้นแบบ ซึ่งเขาก็ได้เรียนรู้วิชาทั้งหมดมาจากผู้เป็นพ่อและพัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ สิ่งสำคัญที่ทำให้เขา ดำเนินธุรกิจมาจนถึงทุกวันนี้ เพียงเพราะมีใจรัก

“งานเย็บหนัง มันเป็นศาสตร์และศิลปะ อย่างหนึ่ง คนทำได้ต้องมีใจรัก ป๊าผมเป็นคนกล้าลงทุน ทำจริง ซื้อเครื่องจักรมาสร้างเหมือนโรงงานเล็กๆหลังบ้าน หัวใจสำคัญของการทำรองเท้า คือหุ่นรองเท้า ทำจากไม้เนื้อแข็ง กลึงให้ได้ตามแบบและสัดส่วนของเท้า สมัยก่อนมีราคาแพง แต่เราก็ลงทุนซื้อหุ่นรองเท้าจำนวนมากซึ่งทุกวันนี้ก็ยังใช้งานได้อยู่ นอกจากนี้วัสดุอุปกรณ์การตัดเย็บ ต้องหาซื้อจากหลายแหล่ง เลือกของดี มีคุณภาพ ดังนั้นเราถือว่าเป็นหนึ่งเดียวที่ตัดเย็บร้องเท้าที่ขึ้นชื่อในลำปาง รวมไปถึงการตัดเย็บเครื่องหนังสำหรับ รถม้า ปลอกมีด และซองปืน และเครื่องหนังต่างๆ ทุกวันนี้ยังมีนักสะสมมาขอให้เราช่วยบริการตัดให้ เพราะเขาเชื่อถือและ ไว้ใจในฝีมือของเรา”

เมื่อถึงยุคของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อรองเท้าจากโรงงานมากมาย ไปจนถึงสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาแย่งชิงตลาดเกือบหมดสิ้น ธุรกิจตัดรองเท้าก็ค่อยๆอ่อนล้า งานจ้างตัดรองเท้าลดลงเรื่อยๆ ช่างตัดเย็บก็เริ่มทยอยออกไปรับจ้างโรงงาน หรือเปิดร้านซ่อมรองเท้าเป็นของตัวเอง เป็นอย่างนี้มาร่วม 10 ปีแล้ว ต้องยอมรับว่าส่งผลให้ เฮียน้อย เกือบจะท้อละหมดหวังกับธุรกิจนี้ไปเสียแล้ว

“ดีใจที่ลูกกลับมาสานต่อ ผมบอกว่าพ่อสอนให้ลูกดีกว่าสอนให้คนอื่น เพราะลูกยังมีโอกาสใช้ความสามารถมาพลิกแพลง ด้านการตลาดให้มันเข้ากับยุคสมัย ทักษะที่เรามีถ่ายทอดกันได้ เรื่องการผลิตผมไม่กลัวแต่เรื่องการตลาดมันหมดยุคของผมแล้ว  เมื่อลูกกลับมาทำผมเชื่อว่าเขาทำได้ จุดแข็งด้านการผลิตที่เรามีทั้งหมดเป็นฐานสำคัญเพียงแค่ต่อยอดให้ถูกทาง” นั่นคือ มุมยิ้มเล็กๆอย่างมีความหวังของผู้เป็นพ่อ

ในมุมของ “นุ่น” มองว่า อาชีพการทำรองเท้า โดยเฉพาะการซ่อมรองเท้า บางคนอาจจะมองว่าเป็นอาชีพที่ต้อยต่ำ หากแต่มองมุมกลับ ซึ่งเธอเองก็เพิ่งจะเข้าใจ ว่าทำไม ป๊าและแม่ ทำมาได้ค่อนชีวิต เพราะการซ่อมรองเท้าเป็นเสมือนการซ่อมความสุขเล็กๆ ของคนที่รักรองเท้า หรือ บางคนก็อาจจะมีความหลังที่ผูกพันกับรองเท้าคู่นั้น เพราะอาจจะเป็นของขวัญจากคนอันเป็นที่รักซื้อให้ หรือ อาจจะประทับใจอย่างใดอย่างหนึ่งจนเสียดายที่ต้องทิ้งรองเท้านั้นไป

“นอกจากงานรองเท้าที่เราซ่อมแล้วที่เราสานต่อแล้ว การตัดเย็บรองเท้าแตะหนังสไตล์โบราณที่มีปลายงอนๆแบบทางเหนือ หรือล้านนา ในอดีตเราขายดีมาก เพราะเหมาะกับการแต่งกายสไตล์ล้านนา ไปจนถึงพระสงฆ์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นตลาดหลักของรองเท้าชนิดนี้ที่ยังคงเป็นซิกเนอเจอร์ของร้านชอเส็ง  ส่วนๆอื่นที่นุ่นให้ความสนใจถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งไลน์ของร้านชอเส็งนั่นก็คือการทำสปา งานซ่อมกระเป๋า รองเท้า เครื่องหนัง ทั้งแบรนด์แนมและไม่แบรนด์เนม  เพราะปัจจุบันหาร้านซ่อมที่มีคุณภาพยากมาก บางคนซื้อกระเป๋ามาราคาแพง เมื่อชำรุดนิดหน่อยก็ไม่อยากทิ้ง ซ่อมแล้วยังใช้งานได้อีกนาน ดังนั้น นี่คือโอกาสทางตลาดของเราในยุคนี้ด้วยเช่นกัน” นุ่นบอกถึงแนวทางเป้าหมายการตลาดที่กำลังเริ่มสร้างจุดขายของ ชอเส็ง ยุคใหม่

อภิส์ณัฐ อัครวิชัยธรรม สามีของนุ่นที่ตัดสินใจมาอยู่ลำปางมาเป็นช่วยกันสานต่อธุรกิจครอบครัวเป็นช่างซ่อมรองเท้า ด้วยเช่นกัน บอกว่า ในระยะหนึ่งเดือนที่เขาฝึกหัดทำงานรองเท้าของร้านโดยมีพ่อของนุ่นถ่ายทอดความรู้เบื้องต้น และให้อิสระทางในการคิดสร้างสรรค์งานซ่อม เขากลับพบความสุขและความท้าทายอีกแบบหนึ่ง เมื่อเจอปัญหาอาการชำรุดของรองเท้าจากเครื่องหนังแต่ละชิ้นงาน มันเกิดความท้าทาย และเขามีความสุขทุกครั้งเมื่อลูกค้ามารับรองเท้าแล้วชื่นชมกับของที่ซ่อมแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งมันคือ สิ่งที่ นุ่นและ เฮียน้อยพูดว่า “รองเท้าทุกคู่มีประวัติศาสตร์ในตัวเอง”

ชอเส็ง จะกลับมาเป็นธุรกิจเติมเต็มความสุขของลูกค้าอีกครั้ง ในฐานะร้านซ่อมรองเท้าและเครื่องหนังที่เก่าแก่ผ่านร้อนผ่านฝนมากว่าครึ่งทศวรรษของนครลำปาง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1155 วันที่ 17 - 23 พฤศจิกายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์