วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

‘คณิตสมาร์ทฟาร์ม’ตามรอยเท้าพ่อ โชว์โมเดลการตลาดเชื่อมโยง

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

มันจะดีแค่ไหน ถ้าคนในชุมชนมีที่ทำกินและอาชีพที่ยั่งยืนอยู่ในชุมชนของตนเองโดยไม่ต้องออกไปล่าฝันแย่งชิงรายได้ที่มีต้นทุนทางสังคมสูงจากดินแดนไกลบ้าน  เช่นเดียวกับเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ ที่มีอาชีพเกษตรกรรมสืบเนื่องกันมาแต่ไหนแต่ไรเป็นทุนเดิม แล้วเดินตามโครงการส่งเสริมของรัฐบาลที่สนับสนุนมาเป็นกำลังเสริมแล้วเชื่อมโยงสร้างเครือข่ายกันเองเพื่อแลกเปลี่ยนผลผลิตและการตลาด ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้

เช่นเดียวกับโมเดลใหม่แบบบ้านๆที่กำลังเกิดขึ้น ที่ คณิตสมาร์ทฟาร์ม  ซึ่งเป็นบ้านและร้านค้าชุมชนของ คณิต กันทะตั๋น เกษตรกรวัย 48 ปี หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เกษตรกรดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสม สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง กรมส่งเสริมการเกษตร ผู้มุ่งมั่นด้านเกษตรและทำกินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่ยอมรับในฐานะศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่และศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)ประจำตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง  เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการตลาดและการขายผลผลิตที่ได้จากโครงการ9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้พระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน

ศูนย์แห่งนี้กำลังเปิดเป็นร้านค้าที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆซึ่งจัดว่าเป็นพื้นที่นอกเมือง แต่รูปแบบการตลาดและการขายไม่ธรรมดา เพราะผลผลิตจากเครือข่ายเกษตรกรรายเล็กๆและรายที่รวมกันเป็นกลุ่มเกษตรกร ในโครงการ9101 ฯ ในพื้นที่ตำบลทุ่งฝาย และสินค้าเกษตรปลอดภัยพื้นที่อื่นๆในลำปาง ทั้งผัก พืชผล ปศุสัตว์ เช่น ไก่ หมู ไข่ ไปจนถึง ปุ๋ยและสารชีวภาพต่างๆจะถูกนำออกสู่ตลาดแบบพอดีพอเพียง ในรูปของการแลกเปลี่ยนตามราคาส่งโดยไม่ต้องซื้อขายเป็นเงิน คล้ายกับการเทรดแบบธุรกิจบาร์เทอร์

“เกษตรกรส่วนใหญ่จะมีความถนัดและทักษะด้านการผลิต และต้องอยู่ในพื้นที่ ดังนั้นการออกไปขายไปทำตลาดรูปแบบต่างๆกลายเป็นอุปสรรคและความยาก แต่เมื่อผลิตแล้วก็ต้องขายให้ได้ แต่จะขายอย่างไรให้มีต้นทุนการขายต่ำที่สุด การเอาสินค้ามาแลกกันขายในเครือข่ายของเราที่มีหน้าร้าน และมีตลาดอยู่แล้ว และผลผลิตจากเครือข่ายเราก็ซื้อขายกันเองในราคาส่ง ใครเอาไปขายปลีกก็ได้กำไรอีกต่อหนึ่ง นอกจากนี้ก็ขายให้กับกลุ่มแม่บ้านทำจัดเลี้ยงในงานประชุมในท้องถิ่น จึงเป็นทางออกที่ดีกว่าการขายเข้าระบบทุนตอนนี้เรามีเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน กว่า 50 รายแล้ว” คณิตบอกด้วยสีหน้าและแววตาแห่งความยินดี

ประพาส รัตนประทีป หนึ่งในคณะทำงานบริษัทประชารัฐรักสามัคคีลำปาง และผู้ประกอบการฟาร์มผึ้งเลี้ยงพื้นที่อำเภอห้างฉัตร ผู้นำข้าวและผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งร่วมในขบวนการตลาดโมเดลนี้ บอกว่า เมื่อข้าวของเกษตรกรที่ห้างฉัตรมีมากกว่าตลาดที่เขาซื้อขายกันปกติ ก็เอามาแลกกับไข่ไก่จากฟาร์มไข่ หรือผลผลิตอื่นที่เรามีเพื่อไปขายที่หน้าร้านชุมชนห้างฉัตร ผลดีของกลยุทธ์การตลาดแบบแลกเปลี่ยนกัน จะเกิดผลกำไรสองต่อคือ เกิดการซื้อขายระหว่างเครือข่ายโดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ แต่แลกกันตามมูลค่าสินค้าในราคาส่ง และเมื่อขายสินค้าก็ได้ผลกำไรจากการขายปลีก แนวทางการตลาดแบบนี้เป็นการสร้างสายป่านการตลาดที่ยืนยาว

กิตติยา ปอนสืบ ประธานกลุ่มเลี้ยงไก่ไข่ บ้านแม่ทะ ต.ทุ่งฝาย อ.เมืองลำปาง และ และ นิลรัตน์ แก้วธรรมการณ์ กลุ่มผู้เลี้ยงนกกระทา ซึ่งนำผลผลิตเกษตรในโครงการ 9010ฯ ร่วมขายในเครือข่าย คณิตสมาร์ทฟาร์ม กล่าวว่า การตลาดในรูปของการเชื่อมโยงเครือข่ายกัน ช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรที่มีข้อจำกัดเรื่องการตลาด และการขนส่งเดินทางออกไปขายสินค้าตามตลาด แต่ศูนย์กลาง มีข้อมูลทังผู้ซื้อ ผู้ขาย จับมาเชื่อมกันโดยขายแบบมีการสั่งซื้อ ล่วงหน้า ช่วยให้บริหารจัดการการขายได้ง่ายประหยัดทุนและเวลาทางการตลาด
ศิริรัตน์ เศษโคตร จากศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียง สวนสองพี่น้อง อ.เกาะคา เสริมว่า การตลาดที่ดีเป็นความหวังของเกษตรกร ดังนั้นการเกาะกลุ่มกันอย่างจิงจัง เป็นการเกื้อหนุนกันก้าวไปสู่การตลาดที่ยั่งยืน กว่าการรอมาขายให้กับพ่อค้าคนกลาง หรือการขายเข้าห้างใหญ่

โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้พระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งที่มาของชื่อโครงการเลข 9 หมายถึงรัชกาลที่ 9 ถึงรัชกาลที่ 10 และ เลข 1ตัวท้าย หมายถึง ปีที่หนึ่งในรัชกาลปัจจุบัน ที่น้อมนำหลักการ ทฤษฎี และแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9ได้พระราชทานไว้ ด้านการปฏิรูปภาคการเกษตรให้เกิดผลสำเร็จ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชุมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและดำเนินโครงการให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตั้งแต่ต้นทางกลางทางจนถึงปลายทาง โดยใช้ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) เป็นศูนย์การเรียนรู้การเกษตรของชุมชน และกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการทำงานในพื้นที่ โครงการนี้มีเป้าหมายพื้นที่ 9,101 ชุมชนทั่วประเทศ สิ้นสุดโครงการในเดือนธันวาคม 2560นี้ 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1153 วันที่ 3 - 9 พฤศจิกายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์