เช้าต้นฤดูหนาวอากาศเย็นสบาย ภายในวัดเล็ก ๆ
แห่งหนึ่งในตำบลเวียงเหนือเงียบสงบ
จากบริเวณวัดเมื่อมองไปทางทิศตะวันออกจะเห็นองค์เจดีย์ทรงระฆังศิลปะล้านนาของวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามเด่นตระหง่าน
จะว่าไปแล้ว วัดหัวข่วงนั้น มีอยู่แทบทุกเมืองสำคัญในล้านนา
ไม่ว่าจะเป็นวัดหัวข่วง (ชัย) จังหวัดลำปาง ที่เรากำลังเดินชมอยู่นี้ วัดหัวข่วงแสนเมืองมาหลวงและวัดหัวข่วง
(ร้าง) เวียงท่ากาน จังหวัดเชียงใหม่ วัดหัวขัว (วัดหัวข่วงนางเหลียว)
จังหวัดลำพูน วัดหัวข่วงแก้ว จังหวัดพะเยา วัดหัวข่วงและวัดหัวข่วง (ร้าง) เมืองลองเก่า
จังหวัดแพร่ วัดหัวข่วง จังหวัดน่าน หรือแม้แต่วัดหัวข่วง เมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนา
วัดหัวข่วง เมืองเชียงตุง และวัดหัวข่วง เมืองยอง เขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา
ซึ่งวัดเหล่านี้มีธรรมเนียมในการตั้งชื่อตามที่ตั้ง คือ มักตั้งอยู่ทางทิศเหนือของข่วง
(ข่วง คือ ลาน หรือพื้นที่โล่งกว้างสำหรับประกอบพิธีกรรมและกิจกรรมของเมือง)
กล่าวถึงข่วง ทุกวันนี้ข่วงเมืองตามแบบแผนของล้านนายังปรากฏให้เห็นชัดเจนที่เมืองเชียงใหม่และเมืองน่าน
ส่วนเมืองลำปางของเรา ร่องรอยของข่วงเมืองอยู่บริเวณกลางเมืองทางด้านทิศตะวันตกของวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามและทางตอนใต้ของวัดหัวข่วง
ยาวไปจนจดบริเวณที่ดินขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
ซึ่งในอดีตเป็นที่ตั้งของคุ้มหลวง
พื้นที่นี้เป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม เดิมเป็นที่โล่งกว้าง
ชาวบ้านเรียกกันว่า “เด่นพระแก้ว” ทว่าปัจจุบันมีการสร้างบ้านเรือนจนเต็มพื้นที่แล้ว
ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุรพล ดำริห์กุล
นักวิชาการจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า
วัดที่มีชื่อว่าวัดหัวข่วงนั้น ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิม
แต่เป็นคตินิยมใหม่ที่เข้ามาสู่ล้านนาในยุคหลัง หรือยุคฟื้นฟูในปลายพุทธศตวรรษที่ 24 มานี้เอง โดยช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงแห่งการฟื้นฟูบ้านเมือง
มีการกวาดต้อนผู้คนจากท้องถิ่นอื่นเข้ามาช่วยสร้างบ้านแปลงเมืองมากมายหลายกลุ่ม
ซึ่งก็รวมถึงชาวเชียงแสนด้วย
สำหรับวัดหัวข่วงเมืองลำปาง สร้างขึ้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เมื่อครั้งที่ชาวเชียงแสนถูกกวาดต้อนให้มาอยู่เมืองเขลางค์ ณ ตำบลเวียงเหนือในปัจจุบัน
พวกเขาได้ตั้งเก๊าผีไว้ที่วัดช่างแต้ม
อันเป็นวัดเก่าที่เหลืออยู่ในละแวกวัดพระแก้วชมพู (วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม) และได้หาที่บริเวณวัดร้างแก้วโคมคำ
ด้านประตูตาลเวียงดินเหนือคุ้มเก่า (เขตอาคารบ้านพักพนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
ออป. ภาคเหนือ) สร้างวัดหัวข่วงโคมคำขึ้น โดยใช้เวลาสร้างยาวนานถึง 10 ปี และมีการฉลองสมโภชในปี พ.ศ. 2357
เราเดินชมรอบวิหารหลังใหญ่ วิหารพื้นเมืองมีลักษณะเป็นวิหารเครื่องไม้
ศิลปกรรมแบบล้านนา มองขึ้นไปด้านบนตรงส่วนกลางของหลังคาวิหารประดับด้วยปราสาทเฟื้อง
ส่วนแผงแลที่เห็นลิบ ๆ นั้น มีกรอบรูปแปดเหลี่ยม แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นลวดลายใด
นาคทัณฑ์โดยรอบวิหารทาสีแดงเด่นลวดลายไม่ซ้ำกัน อาทิ รูปตัวลวงประกอบพรรณพฤกษา โก่งคิ้วไล่เลยขึ้นไปจนถึงหน้าแหนบประดับลวดลายสลักไม้เป็นรูปพรรณพฤกษา
ยังคงงามวิจิตรแม้จะหลุดล่อนไปบ้างตามกาลเวลา
ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ทรงปราสาท
ว่ากันว่าคล้ายองค์เจดีย์ของวัดหัวข่วงที่จังหวัดน่าน
น่าเสียดายที่เจดีย์องค์นี้ถูกปล่อยปละให้ทรุดโทรม
ทุกวันนี้ไม่ใช่ทุกวัดที่จะเปิดกว้างให้เข้าชม
วัดหลายแห่งปิดตัวเงียบ การขอเข้าชมความงามในวิหารเป็นเรื่องยากลำบาก บางวัดเป็นไปไม่ได้
เพราะต้องระแวดระวังสมบัติของวัด แต่ทำให้คนที่ชื่นชอบการเที่ยวชมโบราณสถานและโบราณวัตถุต้องผิดหวัง
วัดหัวข่วงก็เช่นกัน ปกติช่วงเวลากลางวัน
วัดหัวข่วงไม่ได้เปิดวิหารอันงดงามนี้ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม
จะเปิดเฉพาะช่วงเย็นเท่านั้น เพราะผู้ถือกุญแจคือเณรไม่อยู่ แต่จากข้อมูลระบุว่า ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานศิลปะเชียงแสน
รุ่นสิงห์ 1 ธรรมาสน์โบราณ ที่บรรทุกหลังช้างมาจากเมืองเชียงแสน
แท่นคำ หีบธรรม ขันแก้วตั้งสาม ซึ่งล้วนแล้วแต่สวยงามทรงคุณค่า
ส่วนอุโบสถด้านในมี “พระเจ้าไม้” หรือพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้
ศิลปะตามแบบฉบับช่างพื้นบ้าน คือ พระเจ้ายืน (พระบาทเสมอกัน)
ซึ่งสามารถถอดพระเมาลีได้ น่าเสียดายที่เรา ซึ่งเป็นผู้หญิง ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าชมสมบัติศิลป์ชิ้นเยี่ยมชิ้นนี้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1156 วันที่ 24 - 30 พฤศจิกายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น