อาจเพราะวัดศรีชุมเป็นวัดพม่า
จึงรับเอาความคิดความเชื่อของชาวเมียนมามาด้วย
จากประตูทางเข้าวัดศรีชุม
ด้านซ้ายมือเราเห็นรูปปั้นของนัตโบโบยีและเทพกระซิบ ราวกับว่านี่คือเจดีย์โบตะทาวในเมืองย่างกุ้งของเมียนมา
เจดีย์โบตะทาวเป็นหนึ่งในพุทธสถานของเมียนมาที่นักท่องเที่ยวชาวไทยรู้จักมากที่สุดรองจากเจดีย์ชเวดากอง
ก็ด้วยเหตุผลที่เจดีย์แห่งนี้เป็นที่สถิตของ “เทพทันใจ”
ที่ชาวไทยนิยมไปกราบไหว้ขอพร
นอกจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว
ชาวเมียนมายังมีความเชื่อในนัต (Nat)
ที่ฝังรากลึกไม่ต่างจากกัน นัตไม่ใช่ผี ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เทพ
แต่นัตคือจิตวิญญาณของผู้ที่ตายแล้ว แต่อยู่ในระดับ
สูงกว่าผีและต่ำกว่าเทพ
ส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยสร้างความดี แต่อาจเกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิตอย่างกะทันหัน
วิญญาณจึงยังคงผูกพันกับภาระหน้าที่ ดังนั้น
นัตส่วนใหญ่จึงเป็นผู้คุ้มครองปกปักรักษาเมือง สถานที่สำคัญ ๆ รวมทั้งพุทธสถาน
แต่ละเมือง แต่ละวัด แต่ละเจดีย์ ก็จะมีนัตคุ้มครองแตกต่างกันไป
เทพทันใจ หรือนัตโบโบยี (Bo
Bo Gyi) เป็นหนึ่งในนัตที่ชาวเมียนมานับถือมากที่สุด
นัตตนนี้ถูกค้นพบพร้อมกับพระเกศธาตุ มีลักษณะยืนชี้นิ้วไปทางองค์เจดีย์ ชาวเมียนมาจึงเชื่อว่า
นัตตนนี้คือผู้ปกปักรักษาพระเกศธาตุ ส่วนเหตุที่ชื่อว่าเทพทันใจ ก็เพราะเชื่อว่า
เมื่ออธิษฐานขอสิ่งใดก็จะสมปรารถนาทันใจ ชาวเมียนมาจึงนิยมนำกล้วย มะพร้าวอ่อน
และผลไม้ จัดใส่ตะกร้ามาถวาย จากนั้นนำธนบัตร 2 ใบม้วนใส่ในมือที่กำลังชี้มาข้างหน้าของท่าน
ใบหนึ่งเก็บกลับมาเป็นเงินขวัญถุง ส่วนอีกใบบริจาคให้เป็นค่าใช้จ่ายของทางวัดไป
อีกสิ่งสำคัญคือ เวลาขอพรให้เอาหน้าผากไปแตะตรงปลายนิ้วชี้ของนัตโบโบยี
เท่านี้เป็นอันเสร็จพิธี
นอกจากเทพทันใจแล้ว
ตรงข้ามกับเจดีย์โบตะทาวยังเป็นที่สถิตของเทพกระซิบ หรือเมียะนานหน่วย (Mya
Nan Nwe) ซึ่งคนไทยนิยมไปต่อคิวยาวเพื่อขอพรด้วยเช่นกัน
เทพกระซิบเป็นรูปปั้นหญิงสาวผมยาว หน้าตาสะสวย นั่งพนมมือค้อมหัว
ชาวพม่าเชื่อว่าเมียะนานหน่วยไม่ใช่นัต แต่เป็นเพียงดวงวิญญาณ
ชาวเมียนมานิยมนำน้ำนมข้าวตอกและดอกไม้หอมมาถวาย พร้อมกระซิบขอพรที่ข้างหูเบา ๆ
บ้างก็ถวายผ้าแพรสีเขียวผืนบางที่ต้องฉีดน้ำหอมให้หอมฟุ้งก่อนถวาย
และกระซิบขอพรจากท่าน ซึ่งเมื่อมองไกล ๆ ก็เหมือนท่านกำลังตั้งใจรับฟังด้วยเช่นกัน
สำหรับที่วัดศรีชุมมีการจัดทำป้ายชี้แจงถึงวิธีสักการะนัตโบโบยีและเทพกระซิบอย่างละเอียด พร้อมมีของสักการะขาย ส่วนรูปปั้นนัตโบโบยีของวัดศรีชุมก็ยืนชี้นิ้วเหมือนที่เมียนมา
และเต็มไปด้วยผ้าที่ผู้ศรัทธานำมาถวาย ด้านเทพกระซิบ ซึ่งอยู่เยื้อง ๆ
กันของวัดศรีชุมทั่วทั้งองค์เป็นสีน้ำตาล ตั้งอยู่ท่ามกลางดอกไม้ประดิษฐ์หลากสี
แต่ที่เมียนมาองค์สีขาว ผมสีดำขลับ แต่งหน้าสะสวย
เราไม่ได้เข้าไปในวัดศรีชุมนานมากแล้ว
จึงแปลกใจเมื่อเห็นทั้งเทพทันใจและเทพกระซิบจากเมืองย่างกุ้งที่วัดศรีชุม อาจเพื่อเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวในหมู่ชาวไทยที่นิยมขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์
สะท้อนให้เห็นการเลื่อนไหลถ่ายเททางความคิดความเชื่อระหว่างไทยกับเมียนมาด้วยเหมือนกัน และพรนั้นหากให้ผลทันใจก็ยิ่งยอดเยี่ยม
ตามยุคสมัยที่ทุกอย่างต้องรวดเร็วและรอไม่ได้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1161 วันที่ 29 ธันวาคม 2560 - 11 มกราคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น