วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ผู้ว่าฯสั่งรื้อบริหารลดซ้ำซ้อน

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

ผู้ว่าฯสั่งปรับการบริหารกองทุนไฟฟ้า ต้องบูรณาการ ลดโครงการซ้ำซ้อน  เข้มประเมินผล ย้ำแม่เมาะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงชัดเจน   ให้การบ้านนายอำเภอหาจุดเน้นในพื้นที่ให้เจอ พร้อมฝากถึงคณะกรรมการ อาจเจอแรงเสียดทานมาก ขอให้หนักแน่น เพื่อประโยชน์ของประชาชน

ลานนาโพสต์ยังคงติดตามการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้เพียง 2 เดือนเศษ ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการกองทุน โดยได้เข้าร่วมประชุมมอบนโยบาย และให้คำแนะนำกับคณะกรรมการกองทุนในหลายเรื่อง โดยเน้นย้ำให้เข้มข้นในเรื่องการตรวจสอบโครงการร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน ตำบล เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน รวมถึงการตรวจสอบประเมินผลโครงการที่ดำเนินการไปแล้วให้สัมฤทธิ์ผลมากที่สุด เพื่อให้เห็นเด่นชัดว่า อ.แม่เมาะ มีความเปลี่ยนแปลงหลังจากเกิดกองทุนพัฒนาไฟฟ้าขึ้น และชาวบ้านได้ประโยชน์จากงบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ที่มีมากถึงปีละ 400 ล้านบาทอย่างแท้จริง

นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม  ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยกับลานนาโพสต์ว่า ตนเองได้ติดตามเรื่องราวของกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาตลอดตั้งแต่ก่อนที่จะมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง  ในฐานะที่ผู้ว่าฯเป็นประธานกองทุนก็จริง  แต่ก็จะมอบให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำกับดูแลแทน คือ รองฯศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์   ซึ่งผู้ว่าฯจะมอบหมายในเชิงนโยบายไปเท่านั้น    ส่วนตัวเคยเป็นประธานกองทุนสมัยที่เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้เข้าไปดูแลกองทุนโรงไฟฟ้าขนอม ทำให้รู้ว่าอะไรที่เป็นจุดอ่อนอยู่  เช่น ระเบียบของกองทุน ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดสรรงบประมาณเป็นชั้นๆ มีกรรมการกองทุนกำกับดูแลอยู่  อีกประเด็นคือ หลักของการมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอโครงการต่างๆเข้ามา เลยมีโครงการเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่จำนวนมาก  

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า  การที่มีเงินกองทุนเป็นประโยชน์กับชาวบ้านโดยตรง ซึ่งในด้านหนึ่งก็เป็นการตอบแทนผู้เสียสละในพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้า  โดยการเกิดโรงไฟฟ้าก็อาจจะมีผลกระทบบางเรื่อง ไม่ว่าจะมากหรือน้อย แม้ว่าเทคโนโลยีจะสูงขึ้นเรื่อยๆก็ตาม เมื่อมีผลกระทบการที่ได้เงินกองทุนส่วนนี้มาก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่จะให้นำไปแก้ไขเรื่องผลกระทบ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย  ดังนั้นโดยหลักเกณฑ์แล้วการที่จะทำโครงการต่างๆ ก็น่าจะมุ่งสู่เรื่องของสุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อม  ขณะเดียวกันข้อเท็จจริง ระเบียบกองทุนก็มีแนวทางกว้างพอสมควร โดยจุดสำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชน  ดังนั้น คณะกรรมการ รวมไปถึงภาครัฐ ภาคท้องถิ่น  จึงควรบูรณาการร่วมกัน ในสิ่งที่เป็นความเห็นและความต้องการของชาวบ้าน เพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนในการทำงานของแต่ละหน่วยงาน

จากประสบการณ์ที่เคยดูแลกองทุนรอบโรงไฟฟ้าที่ผ่านมา ตั้งข้อสังเกตได้หลายประเด็น  เช่น สิ่งที่หลายคนเป็นห่วงจากการตั้งโรงไฟฟ้าคือ ปัญหาเรื่องสุขภาพอนามัย  ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  แต่โครงการต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการตอบโจทย์หรือป้องกันและแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้   ประเด็นที่สองที่พูดถึงกันมากคือ โครงการซ้ำซ้อนกันกับโครงการที่หน่วยราชการต่างๆขอมา และไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดการพัฒนาต่างๆได้มากนัก ซึ่งส่วนนี้น่าจะมีการพูดคุยให้ชัดเจน  ประเด็นที่สาม คือเบี้ยหัวแตก  ไม่สามารถทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน ที่สามารถเปรียบเทียบได้ชัดเจนระหว่างการมีโรงไฟฟ้า การมีกองทุนและไม่มีกองทุนรอบโรงไฟฟ้า  

นายทรงพล กล่าวต่อไปว่า  บางเรื่องคณะกรรมการกองทุนฯ ไม่มีการประสานงานกันระหว่างกรรมการหมู่บ้านและแผนพัฒนาหมู่บ้าน ใครอยากได้ก็ยกมือกันแค่นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีการเชื่อมโยงเป็นความคิดและความต้องการของคนไม่กี่คน ในขณะที่รัฐเองต้องการส่งเสริมบทบาทของกรรมการหมู่บ้าน  เพราะฉะนั้นจึงให้นาวคิดว่าต่อไปต้องมีการพูดคุยร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ ให้โครงการสอดรับกับแผนพัฒนาหมู่บ้าน และเชื่อมโยงกับคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งต้องมีแผนขึ้นมาก่อนเป็นฐานสำคัญ ไม่ใช่พอได้งบเข้ามาแล้วมานั่งคิดว่าจะทำอะไร  การวางแผนพัฒนาส่วนนี้ ไม่ใช่รองรับเฉพาะงบประมาณที่มาจากกองทุนไฟฟ้าเท่านั้น  แต่รวมไปถึงงบประมาณกองทุนหมู่บ้านต่างๆที่จะลงสนับสนุนไปในหมู่บ้านด้วย   ส่วนระดับอำเภอ ต้องคิดให้ชัดเจนว่าจุดเน้นของ อ.แม่เมาะ คือเรื่องอะไร เรามีงบจากงบพัฒนาจังหวัดเข้ามาช่วยด้านไหนบ้าง ควรจะใช้งบของกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาใช้อย่างไรให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  ไม่ใช่มองแยกระหว่างเงินกองทุน แผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาอำเภอ ต้องมองให้ควบคู่กันไป   ขณะเดียวกันก็จะมีการพูดคุยกับส่วนราชการต่างๆด้วยว่าการที่ของบประมาณต่างๆเข้ามา เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่   อยากให้ตรวจสอบให้ชัดเจนว่า ตอนนี้รายได้ของคนแม่เมาะเท่าไรตั้งแต่แรก หลังจากมีโรงไฟฟ้ามีรายได้ขึ้นมาเท่าไร แต่ละปีอยากให้เห็นผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจนว่า ผลจากการนำเงินกองทุนลงในพื้นที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

“ต้องทำให้คนแม่เมาะได้ประโยชน์ ได้เปรียบกว่าคนอื่นที่ไม่มีโรงไฟฟ้า เช่น จ.กระบี่ เน้นการเป็นเมืองท่องเที่ยว สิ่งที่เขาคิดก็คือทำอย่างไรให้เด็กกระบี่ได้ดีกว่าคนอื่นในเรื่องของภาษาอังกฤษ ซึ่งจัดทำเป็นโครงการพิเศษขึ้นสำหรับเด็ก จ.กระบี่ ดังนั้น อ.แม่เมาะก็ต้องทำให้เห็นได้ชัดว่าเราจะมีความพิเศษในเรื่องอะไร หากจะเน้นด้านการศึกษา คงไม่ใช่การมอบทุนการศึกษาเท่านั้น แต่จะต้องหาจุดที่ให้เห็นว่าเราได้เปรียบและได้โอกาสที่ดีจากการอยู่ในพื้นที่ อ.แม่เมาะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้า และมีกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ  อย่าทำให้เกิดความเคยชิน ต้องแยกให้ชัดว่าสิ่งไหนควรจะขอใช้เงินกองทุนให้เกิดประโยชน์กับปากท้องชาวบ้าน” 

ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเรามีปัญหาเรื่องการโดนตรวจสอบการไม่สุจริต งานไม่เรียบร้อย ไม่มีการตรวจสอบกลั่นกรองบ้าง ทำให้มีการเสนอแนวทางในการปรับระเบียบให้เข้มข้นรัดกุมขึ้น  ฝ่ายประชาสัมพันธ์เองก็ต้องคอยติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ว่าชาวบ้านคิดเห็นอย่างไร สื่อว่าอย่างไรบ้าง ต้องมีการชี้แจงออกไป ไม่ใช่ให้ถามแต่ ผอ.หรือถามที่สำนักงาน เพราะสำนักงานกองทุนเป็นเพียงหน่วยงานที่ช่วยเหลือในเชิงธุรการ  ต้องมีหัวหน้าสำนักงานผู้ที่จะมาบริหารงานภายใน และสามารถให้รายละเอียดได้  เนื่องจาก ผอ.กกพ.เขต 1 ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา 

การเสนอโครงการต้องมีการลงพื้นที่ดูของจริง ไม่ใช่เสนอมาอย่างไรก็เอาตามนั้น ขาดการวิเคราะห์ให้ชัดเจน ยกตัวอย่างงบพัฒนาจังหวัดมีปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินติดปัญหาป่าไม้ ของบทำซ้ำซ้อน เมื่อลงพื้นที่ไปดูก็พบว่าสิ่งที่ขอมามีอยู่แล้ว สุดท้ายก็ต้องยกเลิกไป  บางครั้งก็หวังทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น อย่างกรณีสะพาน 8 ล้านที่เป็นข่าว อยู่ๆมีสะพานแต่ไม่มีถนนเชื่อมต่อ อาจจะเป็นเพราะการพูดคุยกันไม่ชัดเจน ผลคือสิ่งก่อสร้างจากงบกองทุนเสร็จแต่ของหน่วยงานอื่นยังไม่ได้ทำ เกิดเสียประโยชน์ส่วนนี้  ดังนั้น ถ้างบประมาณเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานส่วนราชการส่วนท้องถิ่น ต้องมาตกลงกันให้ชัดเจนว่าทำได้  เข้าใจว่าไม่ใช้ความผิดของคณะกรรมการ และเป็นความต้องการของพื้นที่ แต่ต่อไปขอให้เข้มข้นกว่านี้ ขอให้ทำงานจริงจัง และดึงคนที่มีความเชี่ยวชาญ มาจากหน่วยงานข้างนอกมาร่วมด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกรงใจกันเอง อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้

“เป็นเรื่องธรรมดาของการเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ที่ต้องเกิดแรงเสียดทานจากภายนอก แต่ก็ต้องยอมรับ และหนักแน่น เพื่อให้กองทุนนี้เป็นประโยชน์ของชาวบ้านจริงๆ”  ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าว


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1161 วันที่ 29 ธันวาคม 2560 - 11 มกราคม 2561)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์