วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เซรามิคแฟร์ งานร่อนเร่ พเนจร

จำนวนผู้เข้าชม

ซรามิคแฟร์ ที่คล้ายจะเป็นงานมีหน้ามีตาของคนลำปางประจำปี มาถึงรอบใหม่แล้ว ด้วยสถานที่จัดงานที่หมุนเวียนไปเรื่อยๆ เหมือนเจ้าไม่มีศาล ปีนี้อาศัยห้างเซ็นทรัลจัดงาน ด้วยขนาดพื้นที่อลังการ แต่แคบกว่าลานเบียร์หลังห้าง

ปีนี้จัดเป็นปีที่ 30 เกือบจะต้องเอา 30 หาร เพราะไม่เคยมีสถานที่จัดงานเป็นของตัวเอง ไม่เคยมีภาพจำในใจคนว่าถึงปีจะต้องไปงานเซรามิคแฟร์ที่นี่ หรือที่ไหน ในขณะที่ศูนย์เซรามิค ทุ่มโถมกันเข้าไป 200 ล้าน แต่ปล่อยร้าง ปล่อยเซรามิคเคว้งคว้างกันมาทุกปี

คนต่างถิ่นพูดถึงลำปาง เขาอาจคิดถึง รถม้า แม่เมาะ และแน่นอน เซรามิค แม่เมาะนั้นให้ภาพลบสำหรับคนที่ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม การสร้างปัญหาให้กับชาวบ้านในอดีต แต่เซรามิคก็ไม่ได้มีภาพชัดถึงขนาดจะ “คิดถึงเซรามิกต้องลำปาง”

เพราะลำปางไม่ได้มีเพียงเซรามิคท้องถิ่น หากแต่ยังมีเซรามิคต่างถิ่น ที่คุณภาพไม่เท่าเซรามิคเนื้อแท้ลำปาง คำถามสำคัญก็คือ เราจะรักษาความภาคภูมิใจของคนพื้นถิ่นเจ้าของเซรามิค และให้คนต่างถิ่นได้สัมผัสคุณภาพเซรามิคลำปาง ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวได้อย่างไร

พูดให้เข้าใจง่าย คือ ถ้าต้องการเซรามิคลำปาง จะต้องมาลำปาง ไม่ใช่เซรามิคราคาถูก สองข้างทางที่จะหาซื้อที่ไหนก็ได้

นอกจากนั้น ยังต้องสร้างอัตลักษณ์เซรามิคให้สะท้อนความเป็นลำปาง ที่มีหลายมิติ เช่น การมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี บอกเล่าเส้นทางประวัติศาสตร์ชามตราไก่ โดยการลงทุนของภาคเอกชน เอาท์เลท และกิจการค้าเซรามิค ของบริษัทอินทราเซรามิค ซึ่งจัดการบริหารให้มีชามตราไก่ขนาดยักษ์ มีสิ่งก่อสร้างด้วยเซรามิค เป็นแลนด์มาร์คหนึ่งของลำปาง

ในภาคราชการ อาจมีหมู่บ้านเซรามิค ที่บริหารจัดการโดยท้องถิ่น แสดงวิถีชีวิตชาวบ้าน และการผลิตเซรามิคแบบดั้งเดิม

เป็นหมู่บ้านเซรามิค ที่รวมทุกสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้อง เป็นทั้งนิทรรศการกลางแจ้ง เป็นที่จำหน่ายเซรามิคคุณภาพท้องถิ่น

แปลว่า จะต้องมองในระยะยาว และเริ่มปูทางไปสู่ความเป็นเมืองเซรามิคที่ยั่งยืน มิใช่เพียงการแจกชามตราไก่ แล้วคิดว่าจะสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือน

และจะต้องประสานเป็นหนึ่งเดียวระหว่างภาครัฐและเอกชน 

ในแต่ละปี ลำปางมีงานเซรามิคแฟร์ ซึ่งถือเป็นงานอันเป็นหน้าเป็นตาของคนลำปาง แต่งานเซรามิคแฟร์ในแต่ละปี ก็อาจมีเรื่องของการขาย การสร้างรายได้เป็นเป้าหมายนำ ลองคิดนอกกรอบ หากเรามีเซรามิคแฟร์ทั้งปี โดยมีรูปแบบ วิธีการนำเสนอ หมุนเวียนเปลี่ยนไป ไม่ให้เกิดความจำเจ

โซนจัดแสดงการผลิตเซรามิค การให้ความรู้เรื่องเซรามิค การขาย การจัดให้ผู้ผลิตมาพบกับผู้ค้า อันเป็นส่วนต่อขยายจากแนวคิดหมู่บ้านเซรามิคที่ผมพูดไว้ในตอนต้น มีการสร้างแลนด์มาร์คเซรามิคให้เป็นที่จดจำ และสร้างแรงจูงใจ ให้คนปรารถนาที่จะมาเยือน มาถ่ายภาพ ณ จุดที่อาจเรียกว่าใจกลางมหานครแห่งเซรามิคสักครั้ง และเอาให้แน่นอนว่าถ้าจะมางานเซรามิค จะต้องไปที่ไหน

ความฝันนี้เป็นจริงได้ไม่ยาก ขอแค่ให้คนคิดถึงลำปาง ภาพของเซรามิคก็มาอยู่ตรงหน้า เท่านี้ก็สำเร็จแล้ว

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1158 วันที่ 8 - 14 ธันวาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์