ขยายความจากที่ “จอกอ”
ตอบคำถามอาจารย์สุภาพร โพธิ์แก้ว แห่งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในรายการ “สื่อสันติภาพ จับจ้องมองสื่อ” หัวข้อ “ความท้าทาย โอกาส
และความหวังของคนทำสื่อปี 2561” วิทยุจุฬา CU Radio 101.5 MHz เมื่อวันอาทิตย์ (7) ที่ผ่านมา ว่า
ความตายที่ปรากฏในวันนี้ มิใช่ความตายของสื่อ หากแต่เป็นความตายของอุตสาหกรรมสื่อ
แปลว่า
เมื่อกิจการสื่อเติบโต ขยายตัว จนมีคนเห็นช่องทางว่า
นอกจากบทบาทของสื่อในการสร้างอำนาจ อิทธิพล ที่สำคัญกันมาผิดๆว่า เป็น “ฐานันดรสี่”
แล้ว สื่อยังมีโอกาสสร้างผลกำไรในทางธุรกิจด้วย
ในยุคก่อนการลงทุนในธุรกิจสื่อ
เป้าหมายหลักคือการสร้างอำนาจ อิทธิพล รวมทั้งปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจ
ซึ่งมีทั้งธุรกิจเปิดเผยและธุรกิจใต้ดิน นายทุนสื่อจึงล้วนมีเบื้องหน้า เบื้องหลัง
เป็นนักธุรกิจ เป็นนักการเมือง เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ
เมื่อเกิดตลาดหุ้นขึ้นเมื่อสามทศวรรษก่อน
กิจการสื่อหลายแห่ง ต่างเข้าไปจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหุ้น เพื่อระดมทุนจากคนทั่วไป
ในแง่หลักการ พวกเขาอธิบายว่า ประชาชนทั่วไปจะได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของสื่อ
เป็นผู้กำหนดทิศทาง และกำหนดเนื้อหาที่จะตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภคข่าวสารเอง
“จากนี้ไป
เราจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพในวงการหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มเดียว
ที่กล่าวได้อย่างภาคภูมิใจว่า เป็นกลุ่มที่ “มหาชน” มีส่วนเป็นเจ้าของ
ไม่เพียงแต่ต้องพิสูจน์ผลงาน “วันต่อวัน” ต่อผู้อ่านเท่านั้น
ยังต้องพิสูจน์ผลการดำเนินงานต่อผู้ถือหุ้นทั้งปวงอีกด้วย”
คำประกาศของผู้บริหารองค์กรสื่อ
องค์กรหนึ่ง ในยุคเฟื่องฟู และเหยียดหยันกิจการหนังสือพิมพ์ในยุคเดียวกันนั้นว่า
เป็นกิจการในครอบครัว หรือเป็นของคณะบุคคลเพียง 2 – 3 คน ที่คิดและตัดสินใจ โดยยากที่คนอื่นจะเข้าไปรับรู้และตรวจสอบ
ความเจริญรุ่งเรืองและความเสื่อมทรุด เป็นเรื่องเฉพาะของคนส่วนน้อยเท่านั้น
ไม่นานนักก็พิสูจน์ว่า
คำว่ามหาชนนั้น คือมหาทุนทั้งหลายที่ล้วนมีบาดแผล และวาระแอบแฝง
ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเป็นหุ้นใหญ่ มหาชนที่เป็นชาวบ้าน เป็นคนบริโภคข่าวสาร
เป็นคนเล็ก คนน้อย ไม่ได้มีส่วนร่วมในกิจการมหาชนนั้นเลย
ที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น
ความเป็นบริษัทมหาชน กลับซุกซ่อนความผิดพลาด ล้มเหลวไว้มากมาย ความเป็นบริษัทมหาชน
ช่วยสร้างฐานะ ความร่ำรวย และมีบันทึกไว้ว่า
นี่คือกิจการที่ผู้บริหารองค์กรเคยมีรายได้สูงสุดในกลุ่มองค์กรสื่อด้วยกัน
กลุ่มกิจการหนังสือพิมพ์
ที่บริหารในรูปแบบครอบครัว หรือเป็นของคนเพียงไม่กี่คน
แม้จะถูกพายุความเปลี่ยนแปลงพัดกระหน่ำอยู่บ้าง แต่พวกเขายังคงมั่นคง
และสามารถยืนอยู่ได้บนซากปรักหักพังของบริษัทมหาชน
ของกิจการที่พยายามก้าวกระโดดไปเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
ในช่วง “ขาขึ้น”
ของบริษัทสื่อในตลาดหุ้น
มีการเติบโตแบบกระจายตัว หรือ Diversification อย่างรวดเร็ว
มีทั้งกระจายไปสู่ธุรกิจประเภทอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกับธุรกิจสื่อสารมวลชน เช่น
ร้านขายหนังสือ หรือแตกต่างอย่างมาก เช่น สนามกอล์ฟ โรงแรม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
การคาดคะเน
ผลสำเร็จทางธุรกิจจากการที่มีเงินไหลเข้ามาจำนวนมาก
คือการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจหลายๆประเภท ซึ่งน่าจะมีโอกาสสร้างผลกำไรรวมมากขึ้น
แต่นั่นคือการ
ดีดลูกคิดรางแก้ว คือการทำสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด ไม่เชี่ยวชาญ ไม่รู้จริง
“จอกอ”
สรุปความเห็น เรื่องความท้าทาย โอกาส และความหวังของคนทำสื่อปี 2561 ว่า
เลิกคิดการใหญ่ ลดอัตตา ลดความปรารถนา ที่จะร่ำรวยมั่งคั่งจากอาชีพสื่อ และกลับมาทำสิ่งที่ตัวเองรัก
ที่ชอบ ที่เชี่ยวชาญ เราจะเป็นคนผลิตงานสื่อเล็กๆที่มีความรับผิดชอบ ที่รู้ว่าใครอ่าน ใครดู ใครฟัง
โดยที่สื่ออื่นทดแทนไม่ได้
แล้วเราจะพบคำตอบว่าเราอยู่รอดได้
พื้นที่ของเราอาจจะไม่ใหญ่โตมากนัก
แต่ขอให้ทุกตารางนิ้วคือความสุขที่ได้เป็นคนทำสื่อ เท่านี้ก็เพียงพอ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1162 วันที่ 12 -18 มกราคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น