คุณโตมร ศุขปรีชา เขียนบทความเรื่อง
“เที่ยวตลาด” ใน TAT Review Magazine โดยกล่าวถึงคำว่า
Artisan ซึ่งน่าสนใจมาก
Artisan ทุกวันนี้อาจกินความถึงช่างฝีมือที่ทำงานหัตถกรรมทั้งหลาย
ก่อเกิดเป็นสินค้าประเภท Artisanal ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะพวกอาหารโฮมเมด
แต่หมายรวมถึงงานทำมืออีกมากมาย เช่น งานแกะสลัก หรืองานคราฟต์อื่น ๆ
และสินค้าแปรรูปจากผลผลิตในท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่
ซึ่งต้องการซื้อกลับบ้าน
การเสาะแสวงหา Artisanal Products นั้น คนที่สนใจการท่องเที่ยวแนวพื้นถิ่นคงรู้ดีว่าควรต้องมุ่งหน้าไป
“ตลาด” แน่นอน
ตลาดสดยามเช้าของบ้านเรามีความเป็น Artisan
อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตลาดเก๊าจาว ตลาดรัษฎา หรือตลาดรอบเวียง
ตลาดเหล่านี้เปี่ยมไปด้วยความคลาสสิกในความเป็นพื้นถิ่น แต่ส่วนใหญ่เน้นไปที่ของสด
ไม่ได้ออกแนวของฝาก ของที่ระลึก จะมีบ้าง แต่ก็ต้องอาศัยจังหวะและการซอกแซกเสาะหา
Artisan Marketplace เมืองลำปาง ชัด ๆ
เลยคือการที่ร้านค้าเล็ก ๆ ของคนพื้นถิ่นมารวมตัวกันขายสินค้าทำมือของตนเอง
เรานึกถึงถนนเวียงเหนือตอนเย็นวันศุกร์ หรือที่คนลำปางเรียกกันติดปากว่า
ถนนวัฒนธรรม กาดกองต้าก็ใช่ หรือแม้แต่ We Market ตลาดเล็ก ๆ
ทุกเช้าวันอาทิตย์แห่งนี้ มีความเป็น Artisan ชัดเจน
แต่ละร้านใน We Market ล้วนขายงานสร้างสรรค์ของตนเอง คุณอาจสังเกตเห็นสล่าเครื่องเงินมานั่งทำงานแกะสลักของเขาอยู่เงียบ
ๆ ร้านขายอาหารแทบทุกร้านคือแนว “จากฟาร์มสู่โต๊ะ” หรือ Farm to Table ไม่ว่าจะเป็นร้านสลัดผัก ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกผักปลอดสารพิษเอง พวกเขาเก็บผักจากฟาร์ม
แล้วนำมาทำสลัดให้ลูกค้าในตอนเช้า บางร้านรวบรวมวัตถุดิบมายืนทำสลัดม้วนให้เห็นกันเลยทีเดียว
ขณะที่บางร้านปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงู ก่อนจะนำมานึ่งขายพร้อมกับข้าวง่าย ๆ ด้านเจ้าของไร่สับปะรดทำสับปะรดกวนมาขาย
นอกจากนี้ ยังมีอาหารและเบเกอรีแนว Artisan แสนดึงดูดมากมาย
การไปตลาดทุกวันนี้
จึงไม่ใช่แค่เพียงไปซื้อของ ตลาดยังแสดงให้เรารู้ถึงที่มาที่ไปของสิ่งที่เรากิน
และนั่นทำให้รู้สึกถึงความอร่อยล้ำ ตลาดยังมอบประสบการณ์แบบท้องถิ่นให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงวิถีแห่งเมืองและชีวิตผู้คน
ผ่านผลิตผลที่เราอาจมองว่าแสนจะธรรมดาที่สุด
กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1168 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น