ท่ามกลางการแข่งขันตลาดน้ำแร่ในประเทศไทย ซึ่งหลายแบรนด์ดังกำลังช่วงชิงตลาดตามเทรนด์รักสุขภาพ น้ำแร่ "กรีนเมาน์เทน" จากโรงงานเล็กๆ ภายใต้ โรงงานน้ำแร่ เดอชาเลต์ บ่มเพาะตัวเองมากว่า 7 ปี เริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงการน้ำดื่ม
วีฤทัย สุวรรณเสรี และ อนุพงษ์ ไทยผดุงพานิช
ผู้บริหารโรงงานน้ำแร่ เดอชาเลต์ เล่าถึงที่มาของธุรกิจว่า
เดิมครอบครัวทำธุรกิจด้านก่อสร้างในกรุงเทพฯ
มีคนรู้จักชักชวนมาทำธุรกิจน้ำแร่ จึงร่วมกับนักธรณีวิทยาศึกษาและสำรวจแหล่งน้ำคุณภาพดีที่มีคุณสมบัติเป็นน้ำแร่สำหรับดื่ม
ซึ่งพบแหล่งน้ำแร่ใต้ดินที่ไม่ห่างจากกับอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนมากนัก จึงได้นำตัวอย่างน้ำจากการสำรวจไปตรวจสอบคุณสมบัติตามมาตรฐานน้ำเพื่อบริโภค ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ 10 เชียงใหม่
กรมวิทยาศาสตร์บริการ กรุงเทพฯ และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พบว่ามีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ทางครอบครัวจึงตัดสินใจซื้อที่ดินดังกล่าวราว 10 ไร่ เพื่อตั้งโรงงานผลิตน้ำแร่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก
ดำเนินการการขอใบอนุญาตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์น้ำดื่มที่ถูกต้อง ปัจจุบันมีกำลังผลิต
วันละ 20,500 ขวด นับเป็นก้าวแรกของการทำธุรกิจน้ำดื่มเต็มตัว
“ที่แจ้ซ้อนเป็นภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ มีทั้งน้ำตกและน้ำพุร้อน
น้ำแร่ที่เรานำขึ้นมาผลิตได้จากสายน้ำแร่ใต้ดินลึก 150 เมตรซึ่งเป็นน้ำแร่บริสุทธิ์มีอายุยาวนานกว่า 3,000 ปี
มีคุณสมบัติดื่มได้ให้คุณประโยชน์ ซึ่งแตกต่างแร่ที่ได้จากน้ำพุร้อน”
เป้าหมายทางการตลาดของน้ำแร่กรีนเมาน์เทน คือแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ
มีโอกาสดื่มน้ำแร่ในราคาใกล้เคียงกับน้ำดื่มทั่วไปในท้องตลาด
โดยวางฐานตลาดตามร้านค้าพาณิชย์ ในท้องถิ่นและกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ท
แหล่งท่องเที่ยว และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
ที่ใช้น้ำดื่มในงานประชุมสัมมนา นอกจานี้เราก็นำน้ำดื่มเราไปแจกหรือมีส่วนร่วมงานกิจกรรมของชุมชน
ให้คนได้รับรู้และบอกต่อว่า "น้ำแร่จากอำเภอแจ้ซ้อนลำปาง"
วีฤทัย สุวรรณเสรี ผู้บริหารควบตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด บอกว่า แม้จะน้อยประสบการณ์แต่ก็มากด้วยความตั้งใจ ที่จะนำน้ำแร่กรีนเมาน์เทน
ฟันฝ่าถนนสายการตลาดที่มีการแข่งขันสูงมาก ซึ่งไม่ง่ายสำหรับแบรนด์น้องใหม่
“ในเส้นทางตลาดเราพบอุปสรรคและการแข่งขันหลายรูปแบบ หลายคนถามว่าเราเคยไปช่องทางตลาดใหญ่ในกลุ่มโมเดิร์นเทรด
และห้างสรรพสินค้าไหม ตอบว่าไปมาทุกที่ แต่เราตัวเล็กมากต้องพับข้อเสนอกลับบ้านทุกครั้ง
เคยผู้แทนจากกลุ่มทุนใหญ่มาติดต่อเจรจาซื้อขายออเดอร์วันละ 300,000 ขวด นั่นหมายถึงเราต้องลงทุนเครื่องจักรเพิ่มและตกเป็นทาสของระบบทุน
เราจึงเลือกที่จะปฏิเสธเงื่อนไข แต่ปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตามธรรมชาติและศักยภาพการผลิต
ขณะเดียวกันก็ขยายฐานตลาด และมองลู่ทาง ไปยังตลาดเพื่อนบ้านที่ติดแนวเขตภาคเหนือ
ที่กำลังจะเชื่อมโยงเส้นทางเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต”
นั่นคือแนวทางของการเดินทางอย่างช้าๆแต่ก็ยังมองไกลไว้เผื่อวันที่เดินไปถึง
แต่ความอยู่รอดภายใต้การตลาดธรรมชาติ ยังต้องเดินหน้าต่อให้ถึงจุดคุ้มทุน
และเปิดช่องทางตลาดสำรอง ด้วยการรับจ้างผลิตน้ำแร่ให้กับหน่วยงาน องค์กร หรือ
ธุรกิจในกลุ่มโรงแรม ที่พัก
หรือแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องการมีน้ำดื่มที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง ไว้บริการลูกค้า
โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะมียอดสั่งผลิตขั้นต่ำ 5,000 ขวด ซึ่งสามารถทยอยผลิตได้
“งานรับจ้างผลิต เหมือนเป็นดาบสองคมในทางธุรกิจ นั่นคือการแข่งขันกันเอง
หรืออาจส่งผลต่อตัวตนของกรีนเมาน์เทน ซึ่งเรื่องนี้เรามีหลักคือ การรับจ้างผลิตจะมีราคาสูงกว่า
กรีนเมาน์เทน ดังนั้นไม่ว่าผู้จ้างผลิตจะมียอดผลิตสูงกว่าเรากี่เท่าตัว
ก็ไม่กระเทือนต่อระบบธุรกิจโดยรวม”
ปัจจุบัน น้ำแร่กรีนเมน์เทน ได้รับรองมาตรฐานองค์การอาหารและยา (อย.) และ GMP และอยู่ระหว่างพัฒนาสู่มาตรฐานอื่นๆ เช่น HACCP และ
ISO9000 ขณะนี้มีฐานรับลูกค้าขายส่งตรงจากโรงงาน ตั้งอยู่ ต.แจ้ซ้อน
อ.เมืองปาน จ.ลำปาง และ วางจำหน่ายปลีกไปรษณีย์ทุกสาขาในจังหวัดลำปาง
และเริ่มมีร้านค้าทั่วไปในภาคเหนือ และมีศูนย์กระจายสินค้าจำหน่ายที่กรุงเทพฯ
และอยู่ระหว่างจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในตัวเมืองลำปางและขยายไปจังหวัดใกล้เคียงเร็วๆนี้
ผู้บริหาร เดอชาเลต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกก้าวย่างอาศัยคำว่า
"จริงใจ"นำทาง ทว่าหนทางของการเติบโตยังอีกยาวไกล
แม้การเริ่มต้นดูเหมือนกรีนเมาน์เทนจะเป็นลูกเป็ดน้อย แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจที่อาศัยแผ่นดินและทรัพยากรธรรมชาติ
เล่าขานเส้นทางสายน้ำแร่แหล่งแจ้ซ้อนลำปางให้ลือไกล
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1173 วันที่ 30 มีนาคม - 5 เมษายน 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น