การใช้อำนาจตามมาตรา
44 หยุดกระบวนการสรรหา กสทช.ทั้งระบบ หลังจากสภานิติบัญญัติคว่ำ
กสทช.สรรหาทั้ง 14 คน คล้ายทฤษฏีสมคบคิด
ประกอบสร้างให้จุดเล็กๆ คือข้อสงสัยใน ผู้ได้รับการสรรหาบางคน ให้เป็นภาพใหญ่ว่า
หากเลือก 7 ใน 14 นั้น หรือเปิดสรรหาใหม่
ก็จะได้คนที่มีคุณสมบัติต้องห้าม ไม่ให้เป็น กสทช.อีก ซึ่งจะทำให้การเลือก
กสทช.เป็นงูกินหางไม่จบสิ้น
นายสมชาย แสวงการ
สมาชิกสภานิติบัญญัติ(สนช.) ผู้มีบทบาทสำคัญในการล้มกระดานเลือก กสทช.อธิบายว่า
นี่เป็นหน้าที่ของสนช.แทนวุฒิสภา ที่จะต้องกลั่นกรอง ตรวจสอบ
คุณสมบัติของผู้ที่ผ่านการสรรหา อย่างละเอียด ถี่ถ้วน และจากการตรวจสอบ ก็พบว่า
มีผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 7 (ข.)แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ
อย่างน้อย 6 – 8 ราย ในจำนวน 14 ราย
ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการเลือกของ สนช.เพราะต้องมีจำนวน ได้รับเลือกเป็นกรรมการไม่น้อยกว่าสองเท่าของจำนวนกรรมการทั้งหมด
คุณสมบัติตามมาตรา 7 (ข)
(12) คือไม่เป็น หรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ
ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วนในบริษัท
หรือห้างหุ้นส่วน หรือนิติบุคคลอื่นใด บรรดาที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง
กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการเสนอชื่อ
หรือก่อนได้รับการคัดเลือก
คุณสมบัติต้องห้ามข้อนี้
มิใช่ข้อห้ามเด็ดขาด คือ เคยเป็นในบทบาท หน้าที่เหล่านี้ได้
แต่ต้องพ้นจากบทบาทนั้นมาหนึ่งปีแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการเหล่านั้น
เช่น เคยเป็นผู้บริหารทีวีดิจิตอล ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ กสทช.
ซึ่งความเป็นจริง
การเขียนไว้แบบนี้ ก็ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ได้อยู่ดี เพราะถึงไม่มีตำแหน่ง
ไม่มีชื่อ ไม่มีบทบาท หรือไม่มีหุ้นแม้สักหุ้นเดียวในสังคมไทยก็รับรู้กันอยู่ว่า
การเป็นนอมินี หรืออยู่เบื้องหลังอำนาจและผลประโยชน์ นั้น ทำได้ไม่ยากเย็น
แต่ก็ต้องเขียนไว้ อย่างน้อยก็เป็นการกลั่นกรองไว้ชั้นหนึ่งก่อน
นอกจากเหตุผลเรื่องคุณสมบัติการถือครองหุ้น
หรือเกี่ยวข้องกับกิจการ ภายใต้การกำกับของ กสทช. ในคลิปหลุด ที่อ้างว่ามีคนไม่พอใจรายชื่อ
กสทช.มีบางถ้อยคำพูดถึง “มาเฟียก๊วนเดิม”จับใจความได้ถึงคนมีฐานะ เคยเป็นนักการเมือง ซึ่งอาจหมายถึง 1 ในผู้ได้รับการสรรหา
คือ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ
กสทช. ซึ่งครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมกรุงศรีริเวอร์ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มีพี่ชายชื่อนายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายก่อกิจ
ยังเคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ
นี่ก็เป็นเหตุผลที่แปลกประหลาด
หากสนช.จะกินรวบ นายก่อกิจไปด้วย เพราะเป็นคนในตระกูลมีฐานะ มีพี่ชายเป็นนักการเมือง
และเขาเคยทำงานการเมือง ซึ่งไม่เข้าลักษณะต้องห้ามของกรรมการข้อไหนเลย
ถ้าเอาเหตุผลแบบนี้ นายสนธยา คุณปลื้ม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ซึ่งล้วนเคยเป็นนักการเมือง โดยเฉพาะนายสมคิด ที่รับใช้ขั้วอำนาจตรงข้าม”ประยุทธ์”มายาวนาน
ก็ไม่ควรเข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรี
คนเลือกยังอธิบายอีกว่า
เมื่อมีผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามถึง 6 – 8 ราย
ก็เท่ากับมีให้เลือกน้อยกว่าสองเท่า ต้องล้มกระดานทั้งหมด แล้วถ้าสมมติว่า 8
ราย ต้องห้าม
แล้วที่เหลือซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนก็ต้องล้มไปด้วยหรือ
ในกฎหมายพูดถึงจำนวนไม่น้อยกว่าสองเท่า ซึ่งที่เสนอมาก็ถูกต้องตามข้อกฎหมาย
ไม่มีเหตุที่จะคิดเป็นอย่างอื่น
มาตรา 17 เขียนไว้ว่า
ถ้าเลือกแล้วกรรมการไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด ให้ประธานวุฒิสภา
ซึ่งในยุคนี้คือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และให้นายกรัฐมนตรีเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเลือกกรรมการให้ครบ
นี่ก็เป็นขั้นตอนตามกฎหมายที่ทำได้
น่าสงสัยว่า
กรรมการสรรหาที่ล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ
มีบทบาทสำคัญในภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ขาดวุฒิภาวะ
ถึงขนาดเลือกผู้ที่ผ่านการสรรหาและมีลักษณะต้องห้ามมากมาย เสนอไปสนช.ได้อย่างไร และยิ่งน่าสงสัยว่า
คนๆเดียว คือนายกรัฐมนตรี จะใช้อำนาจพิเศษ ลงดาบซ้ำ ให้หยุดกระบวนการสรรหา
ด้วยเหตุผลอันใด
ไม่มีสิ่งใดชัดเจน
ไม่มีเหตุผล ไม่มีธรรมาภิบาล มีแต่ตัวกู ที่ถูกต้องที่สุด
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น