
หนึ่งในวัดเก่าแก่สำคัญ
และเป็นหนึ่งในพระอารามหลวงของจังหวัดลำปาง ก็คือ “วัดพระเจดีย์ซาวหลัง”
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นธงชัย ห่างจากตัวเมือง ๔ กม.
ตามถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม เป็นวัดที่ชาวลำปางเคารพสักการะเป็นอย่างมาก
เพราะเป็นที่ประดิษฐานของ ‘พระเจ้าแสนแซ่ทองคำ’
สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้มีอายุกว่าพันปี
เนื่องจากได้ขุดพบพระเครื่องสมัยหริภุญไชยที่ฐานองค์พระเจดีย์ ตามตำนานกล่าวไว้ว่า
หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 500 ปี มีพระอรหันต์สองรูปจากชมพูทวีปได้จาริกเพื่อเผยแผ่พระศาสนามาจนถึงบริเวณนี้
และเห็นว่าเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม จึงได้หยุดพำนักเพื่อเผยแผ่ธรรม
ในครั้งนั้น
พระยามิลินทร์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง ผู้ทรงสนพระทัยใฝ่ธรรม
ได้มาสนทนาธรรมกับพระอรหันต์ทั้งสอง จนเกิดความเลื่อมใส ประสงค์จะสร้างถาวรวัตถุเพื่อเป็นอนุสรณ์
พระอรหันต์ทั้งสองรูปจึงได้มอบเกศาธาตุให้แก่พระยามิลินทร์ รูปละ 10 เส้น รวมเป็น
20 เส้น พระยามิลินทร์จึงนำเกศาธาตุบรรจุในผอบทองคำ และประดิษฐานไว้ภายใต้เจดีย์
20 องค์ที่ทรงสร้างขึ้น จึงเป็นที่มาของคำว่าพระเจดีย์ซาวหลัง (ซาว ภาษาเหนือแปลว่า
20 และ หลัง แปลว่า องค์)
พระเจดีย์
20 องค์เป็นศิลปะแบบพม่าผสมล้านนา ด้านหน้าหมู่พระเจดีย์
มีวิหารหลังเล็กประดิษฐาน ‘พระพุทธรูปทันใจ’ หรือ ‘พระเจ้าทันใจ’
พระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน
‘พระเจ้าแสนแซ่’
เป็นคำเรียกพระพุทธรูปโบราณที่ชาวล้านนาหล่อขึ้นหลายส่วน
และนำมาประกอบเข้าเป็นองค์พระ โดยใช้วิธีการยึดด้วยสลักหรือหมุดตามข้อต่อต่างๆ
ภาษาล้านนาเรียกสลักหรือหมุดว่า
“แซ่ว” หรือ “แซ่” ส่วน “แสน” หมายถึง มากยิ่ง
ดังนั้น พระพุทธรูปที่ใช้หมุดหรือแซ่ยึดไว้เป็นจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่า “พระเจ้าแสนแซ่” เช่นเดียวกับที่คนภาคกลางเรียกพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ว่า
“หลวงพ่อโต” นั่นเอง
วัดหลายแห่งในภาคเหนือมีพระเจ้าแสนแซ่ประดิษฐานไว้
รวมทั้งวัดเจดีย์ซาวหลัง อ.เมือง จ.ลำปาง
แต่พระเจ้าแสนแซ่ที่วัดพระเจดีย์ซาวหลังนี้
เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะพิเศษต่างจากพระเจ้าแสนแซ่โดยทั่วไป
ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อปี
2526
ได้มีชาวบ้านขุดพบพระพุทธรูปทองคำและนำมาถวายให้เป็นสมบัติของวัดพระเจดีย์ซาวหลัง
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ
เข้าลักษณะพระสีหลักษณะตามตำรับช่างโบราณเชียงแสน ศิลปะสมัยลานนา-กรุงศรีอยุธยา
ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้วครึ่ง สูง 15 นิ้ว ทำด้วยทองคำ 95.5%
น้ำหนักรวม 100 บาทกับ 2 สลึง
สร้างด้วยกรรมวิธีเคาะตีขึ้นรูปทั้งองค์
ถอดออกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ได้ 32 ชิ้น สังฆาฏิถอดได้เป็นแผ่นยาว
ที่สังฆาฏิด้านหน้าด้านหลังประดับด้วยอัญมณีที่มีค่า
ที่พระนลาฎประดับด้วยนิหล่า(พลอยชนิดหนึ่งมีสีฟ้าเข้ม อมเทา) 1 เม็ด
รอบพระเมาลีอีก 4 เม็ด และที่ยอดพระเมาลี 1 เม็ด เมื่อนำชิ้นส่วนต่างๆ
เหล่านี้มาประกอบสวมต่อกันด้วยสลักใส่ไว้เป็นแห่งๆจึงเข้าตำรับ ‘แสนแซ่’ ที่สำคัญก็คือ
ในช่องพระเศียรมีผอบซึ่งบรรจุพระบรมธาตุไว้ด้วย และสามารถถอดพระเศียรได้เป็นชั้นๆ
ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ
ภายในองค์พระมีหัวใจ ตับ ไต ไส้ ซึ่งทำด้วยทองคำบริสุทธิ์เช่นกัน
และยังมีใบลานทองคำ 2 แผ่น จารึกคาถาอักษรพื้นเมืองพันรอบขั้วหัวใจ
และที่ไตมีจารึกอักขระ 32 ตัว
พระเจ้าแสนแซ่เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ
และในวันที่ 15 เมษายนของทุกปี จะมีงานประเพณีประจำปี
พิธีสรงน้ำพระเจ้าแสนแซ่ทองคำ และในวันนั้นจะมีพิธีถอดสลักเปิดพระเศียร
เพื่อนำพระบรมธาตุจากพระผอบมาสรงน้ำด้วย
แน่นอนว่า...ใครก็ตามที่มาเยือนวัดแห่งนี้คงต้องนับองค์พระเจดีย์กันแน่
เพราะที่นี่มีความเชื่อว่า หากใครนับได้ครบ 20 องค์ถือว่าเป็นคนมีบุญ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1179 วันที่ 18 - 24 พฤษภาคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น