
การจัดการให้สื่อมวลชน
ที่จะเข้าไปทำข่าว กลุ่มผู้ชุมนุม “คนอยากเลือกตั้ง” ต้องมีปลอกแขนสีแดง
ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เป็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของ พล.ต.อ.ศรีวราห์
รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สะท้อนแนวคิดอำนาจนิยมชัดเจน ในการกำหนดวิธีการทำงานของสื่อมวลชน
ที่มิใช่หน้าที่หลักของตำรวจ
ก่อนหน้านี้
การเข้าไปทำข่าวในหน่วยงานราชการ หรือกระทั่งข่าวในพระราชสำนัก
อย่างน้อยนักข่าวต้องมีบัตรสื่อมวลชน ออกให้โดยกรมประชาสัมพันธ์
คล้ายป้ายอาญาสิทธิ์ ไม่มีบัตรนี้เข้าไปทำข่าวไม่ได้
องค์กรสื่อพยายามต่อสู้เพื่อให้ยอมรับบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวที่ออกให้โดยต้นสังกัด
หรือองค์กรวิชาชีพที่สมาชิกผู้นั้นสังกัด แต่ก็ยังไม่เป็นผลมากนัก
ครั้งนี้แม้แต่บัตรกรมประชาสัมพันธ์ก็ยังใช้เข้าพื้นที่การชุมนุมไม่ได้
นอกจากนั้น
หากสวมปลอกแขนที่ไม่ใช่ ของบชน. หรือไมสวมปลอกแขน .เข้าไปในบริเวณกลุ่มผู้ชุมนุม
ตำรวจก็อาจแจ้งความดำเนินคดีฐานเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองโดยผิดกฎหมายได้ ความคิดนี้มาจากสมองของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ซึ่ง “จอกอ”
เห็นแย้งแน่นอน เพราะการกระทำที่จะเรียกว่ามีความผิดทางอาญานั้น
ไม่ใช่เพียงเจตนาภายนอก คือเข้าไปยืนอยู่ในจุดของผู้ชุมนุม แต่ต้องมีเจตนาภายใน
คือเจตนาในการเข้าร่วมชุมนุมด้วย
นี่คือคำขู่
ที่คล้ายผู้ใหญ่หลอกเด็ก และน่าสงสัยว่าเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดอ่าน
ที่ปกติหรือไม่
ไม่เพียงเท่านั้น
พล.ต.อ.ศรีวราห์ ยังสอนสั่งไม่ให้นักข่าวเสนอข้อมูล ข่าวสาร
ที่มีลักษณะยั่วยุให้เกิดความรุนแรง หรือทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
คนทำงานข่าว
เขารู้หน้าที่ว่า จะต้องทำอย่างไร เสนอข่าวอย่างไรให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง
อย่างครบถ้วนและรอบด้าน
และในสนามข่าววันนั้น ก็ชัดเจนว่า พวกเขาทำหน้าที่เพียงการรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
ไม่ได้มีประเด็นใดที่เป็นการยั่วยุ หรือทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเลย
ด้วยบริบทของสังคม
ที่มีสื่อที่หลากหลาย การบิดเบือนความจริง ไม่มีทางเกิดขึ้นได้
เพราะมันจะเกิดระบบตรวจสอบกันเองโดยอัตโนมัติ ทั้งสื่อด้วยกัน และผู้บริโภคข่าวสาร
ประเด็นสำคัญที่ควรใส่ใจมากกว่าของตำรวจ
คือการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ ใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยขาดดุลพินิจ
มุ่งตอบสนองผู้มีอำนาจมากกว่าการทำหน้าที่ปกติ การชุมนุมโดยสงบ
และปราศจากอาวุธเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน มองในมุมคนข่าว
กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง พวกเขาก็ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานนี้
แม้ศาลปกครองจะไม่รับคำร้องให้ตำรวจยกเลิกห้ามม็อบ
ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมาย เนื่องจากผู้ฟ้องคดี ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง
จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ไม่ใช่การที่ศาลจะไม่สั่งให้ตำรวจยกเลิกห้ามม็อบ
หากผู้ฟ้องคดีดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว
การจับกุมผู้ที่แสดงเจตนารมณ์ต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ด้วยข้อหาจากประกาศ คำสั่ง
กฎหมายที่มาจากฐานคิดเผด็จการ จึงเป็นการใช้กฎหมายโดยขัดต่อหลักนิติธรรม
คือความเป็นธรรมตามกฎหมาย
และหากมองในแง่สื่อมวลชน รัฐธรรมนูญก็บัญญัติรับรองว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ดังนั้น
การกำหนดเงื่อนไขมากมาย ในการทำข่าว การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
การกำหนดให้มีปลอกแขนเฉพาะของตำรวจ ก็ไม่ต่างไปจาก “ปลอกคอ” จูงสื่อไปในทางที่ตัวเองต้องการ
อำนาจนั้นควรใช้อย่างเหมาะสมและจำเป็น
หากใช้อำนาจจนเกินขอบเขต หรือใช้อำนาจล้ำไปในแดนแห่งเสรีภาพ นั่นก็เป็นเพียงสีกากี
ที่เป็นเพียงเครื่องมือของผู้มีอำนาจเท่านั้น หาคุณค่าและเกียรติยศอันใดมิได้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น