วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ชูสับปะรดหวานสดรสน้ำผึ้ง กลยุทธ์รวมแปลงใหญ่ขายห้าง

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

ลำปางเดินหน้ายกระดับคุณภาพมาตรฐานผลผลิตสับปะรดขายผลสด ดันเกษตรอุตสาหกรรมรวมเป็นแปลงใหญ่ขายขึ้นห้าง-ส่งออก ลดการผลิตขายส่งเข้าโรงงานอาหารกระป๋อง

เมื่อกลไกตลาดราคาสับปะรดเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล และความต้องการตลาดในประเทศไทย ทำให้ราคาสับปะรดลำปางผกผันในปีนี้ตกต่ำกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก เนื่องจากพื้นที่ปลูกมีเท่าเดิมแต่ผลผลิตดีขึ้น เช่นเดียวกับพื้นที่ปลูกในภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่ประจวบคีรีขันธ์ มีผลผลิตมากมีผลให้โรงงานอาหารกระป๋องแถบภาคกลางรับซื้อสับปะรดจากลำปางน้อยลง

ในคราวที่นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมา ประธานเปิดงาน “โครงการเชื่อมโยงการตลาดสับปะรดลำปางแบบยั่งยืน โดยกลไกสหกรณ์/ประชารัฐ” ณ สหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรดลำปาง จำกัด ต.บ้านเสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2561 ได้เผยข้อมูลล่าสุดว่า แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาสับปะรดอยู่ในเกณฑ์ดี และปีนี้มีรายงานข้อมูลภาพรวมผลผลิตทั้งหมดทั่วประเทศมากเกินกว่าความต้องการรับซื้อของโรงงาน ซึ่งรับได้ราวปีละ 2.6 ล้านตัน แต่ปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิต 3.8 ล้านตัน ซึ่งจะมีจำนวนส่วนต่างจากการขายเข้าระบบโรงงานจำนวนมาก ทางออกเร่งด่วนจึงขอให้ทุกจังหวัดที่มีผลผลิตสับปะรด ช่วยกระจายผลผลิตไปขายผลสด ตั้งแต่เริ่มฤดูกาลเพื่อป้องกันปัญหาล้นตลาดจนเกินแก้ และยังได้สนับสนุนแนวทางพัฒนา “ลำปางโมเดล”  ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง 


ซึ่งกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์สับปะรด เป็นวาระสำคัญของจังหวัด ตามแผนปฏิบัติการเกษตรสุขภาพ เกษตรคุณภาพ โดยได้ใช้งบประมาณพัฒนาจังหวัดเพื่อสนับสนุน เน้นการพัฒนาผลผลิตสับปะรด ตามแนวทางเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้สามารถขายผลสดรสชาติดีซึ่งได้ราคาดีกว่าขายเข้าโรงงาน และพัฒนาพันธุ์สับปะรดผลสด MD2 เป้าหมายขายส่งออกต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาพันธุ์สับปะรดลำปาง ด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยมีสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาลำปาง ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม และภาคเอกชนวางแผนการตลาดชูจุดขายสับปะรดลำปาง “หวานสด รสน้ำผึ้ง” ซึ่งต่างจากสับปะรดจังหวัดอื่นๆ นอกจากนี้ยังได้ วางแผนด้านสนับสนุนพัฒนาการแปรรูปสับปะรดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาสับปะรดทั้งระบบแบบยั่งยืน

ให้โมเดลการพัฒนาสับปะรดแบบยั่งยืน เป็นพืชเศรษฐกิจคู่เมืองลำปางและเป้าหมายที่น่าสนใจคือการขายส่งออกต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ดูแนวทางตลาดแถบรัสเซีย และยุโรปตะวันออก ที่ชื่นชอบการดื่มน้ำสับปะรดเข้มข้น และ สับปะรดกระป๋อง คุณภาพดี และกรมปศุสัตว์ก็กำลังพัฒนาผลการทดลองการนำผลสับปะรดที่เหลือทิ้งจากขายเข้าโรงงาน เอาไปทำน้ำหมักพืชอาหารสัตว์ สำหรับเลี้ยงโคนม ซึ่งมีผลพลอยได้ด้านสุขภาพและเพิ่มปริมาณน้ำนมโคซึ่งช่วยเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง  


ธวัชชัย สิทธิวีระกุล เกษตรจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่าปัจจุบันลำปางมีพื้นที่ปลูกประมาณ 24,000 กว่าไร่ ผลผลิตภาพรวมทั้งหมดมากกว่า 60,000 ตัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งโรงงาน 80%  บริโภคสดประมาณ 19% แปรรูปประมาณ 1%  ทั้งนี้ทางจังหวัดลำปางได้กำหนดการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพผลผลิตสับปะรด ร่วมกันแบบบูรณาการภายใต้ วาระ “เกษตรสุขภาพ เกษตรคุณภาพ”

ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดนั้น ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรครบวงจรทุกอำเภอ  สำหรับพืชสับปะรดนั้น ศพก.อำเภอเมือง  เป็นศูนย์ที่ได้รับการยอมรับเป็นระดับ A ซึ่งมีประธานศูนย์เป็นเกษตรกรจิตอาสาได้ศึกษาและจัดทำต้นแบบการพัฒนาการปลูกสับปะรดคุณภาพ ตั้งแต่การปรับปรุงดิน เรื่องน้ำของชลประทาน เรื่องระบบการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ การใช้สารชีวภัณฑ์ เพื่อกำจัดศัตรูพืชของสับปะรด เพื่อให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปีขายได้ราคา ให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดสามารถเข้าไปเรียนเหมือนโรงเรียน แล้วนำความรู้ไปพัฒนาในแปลงปลูกของตนเองให้มีประสิทธิภาพ 


ขณะนี้ทางจังหวัดได้ส่งเสริมให้พัฒนาในรูปของเกษตรแปลงใหญ่ คือการรวมแปลงปลูกสับปะรดพื้นที่ใกล้เคียงกันรวม 1,000 ไร่  ขณะนี้มีเกษตรกรตำบลเสด็จ อ.เมืองลำปาง จำนวน 120 ราย รวมพื้นที่ปลูกมากกว่า 700ไร่ ร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพการผลิตทุกกระบวนการ นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรปลูกสับปะรดนอกพื้นที่โครงการแปลงใหญ่ร่วมในโครงการพัฒนาผลผลิตสับปะรดคุณภาพมาตรฐาน GAP  มีจำนวน 390 ราย รวมพื้นที่เกือบ 5,000ไร่ ได้ผลผลิตมาตรฐาน GAP ปีไม่น้อยกว่า 17,000 ตัน และกำลังขยายพื้นที่ทุกปี ตามแผนพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมให้สามารถตอบสนองความต้องการตลาดใหม่ เช่นการขายส่ง  ส่งขึ้นห้างสรรพสินค้า หรือโมเดิร์นเทรด

ขณะเดียวกัน ทาง มทร.ล้านนาลำปางยังพัฒนาการเพาะเนื้อเยื่อสับปะรดสายพันธุ์ใหม่ของลำปาง และมีแผนส่งเสริมการปลูกสับปะรดพันธุ์ MD2 เพื่อเป้าหมายขายสับปะรดส่งออกญี่ปุ่น ปีละ 400-600 ตู้คอนเทนเนอร์ (40 ตัน) 

แผนปฏิบัติการเหล่านี้นับเป็นวาระการพัฒนาแก้ปัญหาผลผลิตสับปะรดลำปาง ที่ยังต้องขับเคลื่อนกลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าผลผลิต ยกระดับให้เกษตรกรสามารถปลูกสับปะรดมาตรฐานขายผลสดเพิ่มขึ้นเพื่อลดจำนวนผลผลิตขายเข้าโรงงาน อย่างต่อเนื่อง เพื่อการแก้ปัญหาสับปะรดทั้งระบบได้อย่างแท้จริง

วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 จังหวัดลำปางมอบปัจจัยการพัฒนาศักยภาพการผลิต ให้ ศพก. ลำปาง ประกอบด้วยรถไถ น้ำหมักสูตรนม เครื่องมือการเกษตรพลากสติกคลุมแปลง เพื่อช่วยรักษาความชื้นและป้องกันวัชพืช



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1181 วันที่ 1 - 7 มิถุนายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์