วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561

วัดเกาะวาลุการาม ยามเมื่อเกาะกลายเป็นแผ่นดิน

จำนวนผู้เข้าชม Counter for tumblr

ความเงียบสงบยามบ่ายปกคลุมวัดเกาะวาลุการามที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำวังย่านตลาดจีน (กาดกองต้า) สายน้ำขุ่นแดงเอ่อท้นหลากไหล หากเป็นเมื่อ 100 กว่าปีก่อน แม่น้ำวังบริเวณนี้จะถูกแยกออกเป็น 2 สาย เพราะมีเกาะเกาะหนึ่ง ความยาวประมาณ 200 เมตร ช่วงกว้างที่สุดประมาณ 50 เมตร ตั้งขวางทางน้ำไว้ เล่ากันมาแต่โบราณว่า เกาะแห่งนี้เป็นสถานที่ที่เจ้าหญิงองค์หนึ่งแห่งล้านนามาประทับอยู่เพื่อทำพิธีบางอย่าง แต่แล้วก็ถูกปล่อยร้างไป

ครั้นต่อมามีชาวบ้านข้ามฝั่งขึ้นไปบนเกาะเพื่อทำกินและอยู่อาศัยบางส่วน ข้างฝ่ายพ่อค้าวาณิชและคหบดีในย่านนั้น รวมไปถึงชาวบ้านและข้าราชการจำนวนมาก ก็ตั้งใจจะสร้างวัดไทยอีกวัดคู่กับวัดดำรงธรรม จึงลงความเห็นว่าเกาะกลางแม่น้ำวังแห่งนี้เหมาะที่สุด เนื่องจากอยู่ใกล้ชุมชน ขณะเดียวกันก็แยกเป็นสัดส่วนไม่ปะปนกับชุมชน จึงช่วยกันสนับสนุนทั้งทุนทรัพย์และแรงกายสร้างวัดขึ้นราวปี พ.ศ. 2427-2430

ผู้เฒ่าผู้แก่ย่านตลาดจีนเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนวัดเกาะฯ ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำวังจริง ๆ ด้านถนนเจริญประเทศเป็นแม่น้ำวังแควใหญ่ ด้านถนนตลาดเก่านี่เป็นแม่น้ำวังแควเล็ก เกาะตรงกลางจึงมีแม่น้ำวัง 2 แควไหลขนาบไป แต่ด้วยเหตุที่แม่น้ำวังท่วมล้นตลิ่งทุกปี ทำให้น้ำไหลพาดินทรายมาทับถมสูงขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งเชื่อมต่อกับฝั่งแม่น้ำวังด้านหลังบ้านเรือนแถวตลาดจีนจนติดกับที่ดินของเกาะวัดเกาะฯ จนกลายเป็นผืนดินต่อเนื่องกัน ไม่มีแม่น้ำวังแควเล็กเหลืออยู่อีกต่อไป วัดเกาะฯ จึงไม่ได้ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำวังเหมือนเมื่อก่อน

เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดเกาะฯ คือ หลวงพ่อกริ่ม เดิมท่านเป็นพระธุดงค์ผ่านมาหลายจังหวัด จนกระทั่งมาถึงลำปาง ได้มาพักอยู่ที่วัดเมืองศาสน์และวัดดำรงธรรมช่วงหนึ่ง แล้วจึงรับนิมนต์จากผู้ใหญ่ในคณะอุปถัมภ์ก่อตั้งวัดเกาะฯ ให้มาจำพรรษาอยู่ที่วัด ซึ่งต่อมาญาติโยมได้ขอให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

หลวงพ่อกริ่มพร้อมด้วยคณะศรัทธาต่างร่วมแรงร่วมใจกันวางรากฐานความเจริญให้กับวัดเกาะฯ ท่านเป็นผู้นำในการสร้างเจดีย์สถาปัตยกรรมแบบพม่า รวมไปถึงมณฑปจตุรทิศศิลปะแบบพม่า ครอบพระพุทธบาทจำลอง 4 รอย ซึ่งแกะสลักจากหินอ่อนเมืองมัณฑเลย์ของพม่า แล้วนำลงเรือมา ภายในมณฑปยังมีจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวตอนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาโปรดเหล่าพระอรหันต์ให้ชมด้วย

ด้านอุโบสถสีขาวที่ตั้งอยู่ใจกลางวัด หลวงพ่อกริ่มริเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2469 ด้วยทุน 800 บาทของหลวงกำจรวานิช โดยสร้างแบบไทยภาคกลาง ฝีมือสล่าเมียวขิ่น หน้าบันโดดเด่นด้วยลวดลายปูนปั้นรูปไก่ พญานาค เต่า วัว และสิงห์อยู่ภายในซุ้ม ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือ ป. สุวรรณสิงห์ ด้วยลีลาการเขียนแบบไทยภาคกลาง โดยมีตอนที่น่าสนใจ คือ ตอนที่เล่าถึงเหตุการณ์ไฟไหม้หอสวดมนต์ รวมถึงรายละเอียดในวิถีชีวิตของคนลำปางสมัยก่อน ส่วนเสาและคานก็ยังมีลายกระหนกงดงาม

สมัยหลวงปู่บุญชุบ ทินฺนโก เจ้าอาวาสรูปที่สาม ท่านได้ลงแรงร่วมสร้างศาลาการเปรียญสถาปัตยกรรมแบบไทยภาคกลาง โดยตั้งอยู่เคียงข้างอุโบสถจนถึงทุกวันนี้ แม้จะทรุดโทรมจนใช้งานไม่ได้แล้ว ศาลาการเปรียญหลังนี้ยังดูโอ่อ่า คงความงดงามไว้ได้อย่างน่าชมยิ่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าบันที่เป็นแผ่นไม้แกะสลักขนาดใหญ่ ผสมผสานกับงานปูนได้อย่างกลมกลืน ส่วนฝ้าเพดานหากแหงนหน้ามองจะพบชื่อผู้บริจาคจำนวนมากติดอยู่ ดูเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

สิ่งที่น่าเดินชมในวัดยังมีหอพระนอนที่มีพระพุทธรูปเก่าแก่สวยงามหลายองค์ มีกุฏิปูนหลังแรกของวัด กรุ่นด้วยกลิ่นอายของศิลปะตะวันตกแทรกผสม รวมถึงกุฏิทินนโกอนุสรณ์ หรือกุฏิรวมหลังใหญ่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำวัง นอกจากนี้ ใกล้ ๆ กับหอสวดมนต์ทรงไทยประยุกต์ที่สร้างด้วยไม้สักใหญ่โต ยังมีหอพระไตรปิฎกสร้างด้วยไม้สัก ตั้งอยู่บนเสาไม้สักต้นเดียว แปลกตา หาชมได้ยาก

บ่ายคล้อยเมฆฝนเริ่มตั้งเค้า ดอกสาละทางด้านหลังของอุโบสถส่งกลิ่นหอมละมุนไปทั่วบริเวณ แม้ถึงที่สุดแล้ว ความเป็นเกาะของวัดจะเลือนหายไปตามสภาพภูมิประเทศที่แปรเปลี่ยน แต่สิ่งที่ยังคงอยู่อย่างรู้สึกได้ คือศรัทธาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งทำให้วัดเกาะวาลุการามยังคงรุ่งเรืองตลอดระยะเวลามากกว่า 130 ปี

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1182 วันที่ 8 - 14 มิถุนายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์