วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

หมิ่นประมาท คดีสามัญคนทำสื่อ



จำนวนผู้เข้าชม

สำหรับคนทำสื่อแล้ว การถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาท นับเป็นเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งของชีวิต ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดของเวลา การเข้าถึงแหล่งข่าว ทัศนคติและความรู้ของแหล่งข่าว การถูกฟ้องว่าทำให้คนอื่นเขาเสียชื่อเสียง เกียรติยศ ทางทำมาหาได้  ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

ม้าสีหมอก ทำข่าวมาค่อนชีวิต เป็น บก.ถูกฟ้องมานับร้อยคดี ไม่อาจปฏิเสธว่า ความผิดพลาดเกิดได้ แต่เมื่อเกิดแล้ว จะยอมรับผิดในทุกกรณี หากทำผิดจริง แต่จะไม่ถอยแม้ก้าวเดียว ถ้าแน่ใจว่าได้ทำข่าวบนพื้นฐานของหลักการ เป็นการเสนอข้อเท็จจริง อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและรอบด้าน

คดีทายาททิพย์ช้าง ฟ้องลานนาโพสต์ จากถ้อยคำในสื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซต์ และหนังสือพิมพ์ และศาลจังหวัดลำปางสั่งว่าคดีไม่มีมูล เนื่องจากเป็นการลงข่าวตามข้อเท็จจริง นั่นก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง

แต่ที่น่าสนใจ เมื่อได้อ่านคำบรรยายฟ้อง ซึ่งก็อาจจะเป็นเช่นเดียวกับคำฟ้องในคดีอื่นๆ ที่โจทก์หรือผู้ที่อ้างว่าเสียหายไม่เข้าใจว่า คำที่ปรากฏในสื่อออนไลน์นั้น มาอ้างเป็นถ้อยคำฟ้องหมิ่นประมาทตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไม่ได้  

ลองดูตัวอย่างคดี ที่ “ม้าสีหมอก” เป็นจำเลยเรื่องหนึ่ง และศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง

ศาลอาญา มีคำพิพากษายกฟ้องคดี Slc ฟ้อง Nation หลังจากทนายจำเลย ยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายว่าด้วยการกระทำของจำเลย ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (5) เพราะมีการแก้ไขกฎหมายมิให้ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์

ศาลวินิจฉัยว่า องค์ประกอบความผิด ตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ที่แก้ไขใหม่แตกต่างจากองค์ประกอบความผิด ตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์เดิม ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการกระทำความผิด

เมื่อองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษเกี่ยวกับการกระทำโดยทุจริต หรือหลอกลวง แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องถึงเจตนาดังกล่าว ศาลจึงเห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง จึงมีคำพิพากษายกฟ้อง

คดีนี้เป็นผลสืบเนื่องจาก บริษัท โซลูชั่นคอนเนอร์ 1988 จำกัด (มหาชน) หรือ Slcต่อมาเปลี่ยนเป็น นิวส์ เน็ตเวิร์ค ซื้อหุ้นบริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 12.27 % อันมีลักษณะเป็นการ ผูกขาด ครอบงำกิจการ ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 คอลัมน์ "คิดใหม่วันอาทิตย์" เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ และ facebook อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ได้เขียนแสดงข้อความ ข้อเท็จจริง และตั้งคำถามถึงการเข้ามาของ Slc ในครั้งนั้น เป็นเหตุให้ Slc แจ้งความดำเนินคดี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550  และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 เป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมและลงโทษผู้กระทำความผิดที่ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ในการฟ้องคดีหมิ่นประมาทสื่อมวลชน โจทก์หรือผู้เสียหายมักจะฟ้องข้อหาความผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์มาด้วย เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีโทษหนัก และยอมความไม่ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด!!!

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 ได้เปลี่ยนแปลงหลักการนี้ในมาตรา 14 โดยระบุถึงการกระทำซึ่งจะเป็นความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ว่า การ กระทำความผิดโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา

บทบัญญัติดังกล่าวนี้ ได้แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่อย่างชัดเจนว่า เมื่อเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ก็ไม่ถือเป็นความผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์อีก ซึ่งคดีที่ฟ้องฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายคอมพิวเตอร์เดิม หากจำเลยยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ไม่ให้ใช้ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลก็จะยกฟ้องโจทก์ โดยถือว่าเป็นการฟ้องผิดตัวบทกฎหมาย คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยความผิดอีกต่อไป

ก่อนหน้านี้ มีการยกฟ้องคดีที่กองทัพเรือ ฟ้อง “ภูเก็ตหวาน” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวภาคภาษาอังกฤษที่จังหวัดภูเก็ตโดยศาลวินิจฉัยตอนท้ายว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์มิได้มุ่งเจตนาลงโทษผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ซึ่งความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้วในประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

สำหรับผู้ที่ถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาท ตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ จะต้องยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ ไม่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับข้อหาหมิ่นประมาท ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะยกฟ้อง

อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน อยู่ในมาตรา 14-15  คือการนำเข้าสู่ เผยแพร่ ส่งต่อ เว็บไซต์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปลอม เป็นเท็จ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา และข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะลามกอนาจาร ผู้ให้บริการที่เป็นบริษัทต่างๆ มีหน้าที่ต้องตรวจสอบการใช้คอมพิวเตอร์ของลูกจ้าง หรือลูกค้า  ถ้าเป็นความผิด ผู้ให้บริการหรือเว็บมาสเตอร์อาจต้องร่วมรับผิดด้วย

ตัวอย่างการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จ คือการตัดต่อภาพซึ่งหากเป็นการตัดต่อภาพที่ทำให้ผู้เสียหายถูกดูหมิ่น เกลียดชัง หรือเสียหายต่อชื่อเสียง สื่อมวลชนก็อาจต้องรับผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จ แต่ไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาท

หลายครั้งที่มักได้ยินขู่กันว่า จะฟ้องหมิ่นประมาท ตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ ใครที่เป็นผู้เสียหายอย่าได้หลงประเด็น จากโจทก์จะกลายเป็นจำเลยเอาง่ายๆ


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับ 1189 วันที่ 27 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์