หลายหน่วยงานลำปางยังปักหลักถ้ำหลวง
ลั่นไม่จบภารกิจไม่กลับ ผู้บริหาร
กฟผ.เผยงานสุดโหด ลงพื้นที่ลุยน้ำมุดถ้ำเอง เพื่อตรวจสอบระบบไฟฟ้า ส่งทีมดำน้ำเข้าร่วมเช่นเดียวกับทีมกู้ภัยลำปาง
รับหน้าที่จุดบัญชาการหน้าถ้ำ ขณะที่บาดาล ชลประทาน ปภ.เร่งสูบน้ำ ทหาร ร.17พัน 2
ลุยปีนเขา เผยนาทีทราบข่าวดี สุดตื่นเต้นคุ้มกับการทำงาน
หลังจากเกิดเหตุการณ์
ผู้ฝึกสอนและเด็ก จากทีมหมูป่าอะคาเดมี่ แม่สาย รวม 13
ชีวิต เข้าไปติดอยู่ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.61
ที่ผ่านมา ซึ่งหลังเกิดเหตุหลายหน่วยงานได้ส่งกำลังเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือด้านการค้นหาผู้สูญหาย
รวมทั้งที่ จ.ลำปาง ได้มีการส่งทีมเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น กฟผ.แม่เมาะ สำนักงานชลประทานที่ 2
ลำปาง สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 1 ลำปาง
ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 10 ลำปาง เจ้าหน้าที่ทหาร
ร.17 พัน 2 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี
เจ้าหน้าที่สมาคมกู้ภัยนครลำปาง ชุดดำน้ำนทีลำปาง เจ้าหน้าที่กู้ภัยวังเหนือ
เจ้าหน้าที่กู้ภัยศูนย์ตะวันเสริมงาม โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี
ทีมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลแม่เมาะ เป็นต้น
ซึ่งหลังจากพบตัวผู้สูญหายทั้ง 13
คนเมื่อวันที่ 2 ก.ค.61 ที่ผ่านมา
แต่ละหน่วยงานก็ยังปักหลักทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการถอนกำลังกลับแต่อย่างใด
เพื่อหวังจะช่วยเหลือเด็กๆออกมาจากถ้ำได้อย่างปลอดภัยจึงจะเสร็จสิ้นภารกิจ โดยปัจจุบันได้แบ่งหน้าที่กันทำงานเฉพาะด้านกันอย่างต่อเนื่อง
-กฟผ.แม่เมาะ
นายบรรพต ธีระวาส ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ ซึ่งได้เข้าไปร่วมภารกิจในถ้ำหลวงด้วยตัวเองเพื่อตรวจสอบระบบสายไฟฟ้าที่ทาง กฟผ.แม่เมาะได้ส่งไปสนับสนุน เล่าว่า ตนเข้าไปดูเรื่องความช่วยเหลือ และความปลอดภัยในการทำงานของลูกน้อง ว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง ทาง กฟผ.มีหลายหน้าที่ คือ ส่งหน่วยดำน้ำเข้าร่วมกับหน่วยซีล การสนับสนุนอุปกรณ์บอร์สโคป กล้องส่องในท่อ จำนวน 3 ชุด พร้อมเจ้าหน้าที่ 9 คน ตรวจเพื่อดูภายในปล่องด้านบนว่ามีอุปสรรคหรือไม่ เพราะในส่วนสูบน้ำมีข้อจำกัด น้ำลงไม่เร็วเท่าที่ควร รวมถึงการเจาะตาน้ำบริเวณไหล่เขา รวมเจ้าหน้าที่เข้าไป 30 กว่าคน และมีการส่งนักประดาน้ำของ กฟผ. 6 คน ร่วมกับหน่วยซีล ช่วยขนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ เช่น สายไฟ ถังออกซิเจน อาหาร
นายบรรพต กล่าวว่า ได้เข้าไปในถ้ำเพื่อไปสังเกตการณ์ว่าเครื่องมือที่ทำมีอุปสรรคอะไรบ้าง เหมาะกับหน้างานหรือไม่ และดูความปลอดภัยของลูกน้อง ซึ่งคนที่จะลงไปต้องแข็งแรงและมีความพร้อม เนื่องจากพื้นที่มีความแคบ มีทั้งปีน ทั้งลุยน้ำ ถือได้ว่าในเคสนี้ยังไม่มีประสบการณ์ เคยทำงานอย่างอื่นมาก่อน แต่ลักษณะงานก็ใกล้เคียงกัน แต่ครั้งนี้จะโหดกว่าที่เคยทำมา เพราะมีชีวิตคนมาเดิมพัน
-หัวหน้าทีมไฟฟ้า
ด้านนายวิโรจน์
ยาบาลี หัวหน้าทีมระบบไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า
ได้รับมอบหมายให้เข้าสนับสนุนช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในถ้ำ โดยสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ
ช่วยในการสูบน้ำออกจากถ้ำหลวง ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ปฏิบัติการอยู่ โดยนำสายไฟฟ้ากันน้ำซึ่งเป็นสายที่ใช้กับมอเตอร์ขนาดใหญ่สูบน้ำออกจากเหมืองแม่เมาะ
ทนความแรงดันได้สูง 8000
โวลต์ แช่น้ำและโคลนได้ ไม่มีกระแสไฟรั่วไหลปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน
การทำหน้าที่ในครั้งนี้ มีเหนื่อยบ้างแต่ได้พักแล้วก็หาย
เพราะมีเพื่อร่วมงานและมีกำลังใจ เป้าหมายสำคัญคือการช่วยเหลือเด็กทั้ง 13 คน จึงทำให้เราสู้ต่อไปได้
-ศูนย์ ปภ.เขต 10
ลำปาง
ขณะที่
นายคมสัน สุวรรณอัมภา ผอ.ศูนย์ ปภ.เขต 10
ลำปาง กล่าวถึงภารกิจของศูนย์ ปภ.เขต 10 ว่า ทางอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานเลขาของผู้ว่าราชการจังหวัด
แต่ด้วย ศูนย์ ปภ.เขต 15 เชียงราย
มีภารกิจมากมายจึงได้ประสานขอสนับสนุนจากศูนย์ ปภ.เขต 10
ลำปาง เข้ามาร่วมด้วย จึงได้ส่งชุดยูซาร์
ชุดสูบน้ำระยะไกล รถส่องสว่าง เข้าไปในช่วงแรก ได้ใช้รถสูบส่งระยะไกลสูบน้ำที่หนองน้ำพุใกล้กับถ้ำหลวง
เพื่อหวังดึงน้ำจากบ่อให้น้ำจากถ้ำออกมา แต่ได้ผลระดับหนึ่งในระยะถัดไปมีหลายหน่วยงานมาช่วยบูรณาการดึงน้ำจากถ้ำออกมา
มีเครื่องสูบน้ำจากหลายหน่วยงานกว่า 30 ตัว ปภ.มีศูนย์บัญชาการสั่งการ
อำนวยการเปิดไฟส่องสว่างที่หน้างานให้มีแสงไฟใช้ทั่วถึง
ปัจจุบันกำลัง
ERT จากลำปาง 12 คน และที่มาจากทุกภูมิภาค 100 กว่านาย มีส่วนสำคัญในการลากสายสูบน้ำจากภายในถ้ำออกมาและจะอยู่รอจนเสร็จภารกิจ
นำเด็กออกมาได้ทั้งหมด
ผอ.ศูนย์ ปภ.เขต 10 ลำปาง กล่าวว่า วันที่พบเด็กได้มีการทราบล่วงหน้า เนื่องจากการทำงานภายในต้องใช้ระยะเวลาในการส่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเป็นผู้ให้ข้อมูลเพียงคนเดียว แต่ก็จะทราบร่วมกันเพราะมีการประชุมร่วมกันทุกครั้ง ตอนได้ทราบข่าวทุกคนต่างตื่นเต้นดีใจ ที่เฝ้าคอย และทุกหน่วยได้พยายาม เห็นแล้วรู้สึกหายเหนื่อย
-สำนักชลประทานที่ 2
ลำปาง
นายวินัย
แสงสว่าง ผู้อำนวยการส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 2 ลำปาง
กล่าวว่า ทางผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 ลำปาง
มอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่สูบน้ำช่วยเหลือ โดยน้ำเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้วไป 2 เครื่อง พร้อมเจ้าหน้าที่ 14 คน ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.61 ในช่วงเช้า ติดตั้งบริเวณหนองน้ำพุ ซึ่งเป็นอ่างที่รับน้ำจากถ้ำหลวงบางส่วน
ได้ปฏิบัติภารกิจอยู่ประมาณ 6 วัน โดยมีการติดตั้งเครื่องสูบไว้ต่อเนื่องบริเวณหนองน้ำพุระยะหนึ่ง
เมื่อน้ำในหนองน้ำพุแห้งไปประมาณ 70
เปอร์เซ็นต์จึงหยุดสูบ
จากนั้นได้มีการย้ายการติดตั้งไปช่วยสูบออกจากพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านด้วย
โดยมีการถอนการติดตั้งบางส่วนเมื่อวันที่ 3 ก.ค.61 และมีการช่วยสูบการเกษตรซึ่งกำลังหาจุดที่เหมาะสมอยู่
สำนักงานชลประทานที่ 2 ลำปางจะเป็นผู้ประสานงานกับทางกรมชลประทานมาร่วมอีก 20 เครื่อง พร้อมทีมงานอีกกว่า 30 คน
ที่ผ่านมาได้เข้าไปอยู่ร่วมในพื้นที่ เพิ่งกลับออกมาได้เพียง 2 วัน เนื่องจากติดภารกิจอื่น แต่ก็ติดตามข่าวทางโทรทัศน์อยู่ตลอด ตอนที่ทราบข่าวว่าเจอเด็ก ดีใจสุดๆ ทุกคนทุ่มเทที่จะช่วยให้เขาได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง นายวินัย กล่าว
-น้ำบาดาล เขต 1
สำหรับหน่วยงานที่สำคัญอีกหน่วยงานหนึ่ง
คือ สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 ลำปาง ซึ่งนายศักดิ์ฉลาด ศรีวิชา ผอ.สำนักฯ
พร้อมกับทีมงานยังคงปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.61 ได้เดินทางมาช่วยเหลือในพื้นที่ 11 นาย พร้อมเครื่องสูบซับเมอร์ส จำนวน 12 ตัว เพื่อสูบน้ำในถ้ำ เริ่มสูบในระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร น้ำ พอน้ำขึ้นจึงต้องถอนการติดตั้งออกมา
จึงได้มาวิเคราะห์กันใหม่ โดยดูในเรื่องของชั้นดินชั้นหิน วางแผนการเจาะบาดาลหน้าถ้ำ
จำนวน 3 บ่อ
เนื่องจากปากถ้ำมีโพรงโยงถึงในถ้ำเพื่อเป็นการพร่องน้ำจากด้านใน และติดปั๊มใหญ่ 3 ตัว ได้นำ 200 คิวต่อชั่วโมง
ขณะนี้ต้องเฝ้าระวังเครื่องสูบให้ติดอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง
ได้มีการสลับสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ประมาณ 30 นาย
เข้ามาดูแลในส่วนนี้
ตอนพบเด็ก
ได้ทำการสูบน้ำอยู่ด้านหน้าถ้ำ ได้ยินเสียงเฮฮามาก็รู้แล้วว่ามีข่าวดี เลยมองย้อนไปถึงบรรยากาศก่อนที่จะพบเด็ก
เห็นแม่เด็กเอาอาหารมาให้ มาเรียกหาลูกทุกเช้า พอเห็นก็รู้สึกหดหู่ไปด้วย
ก่อนหน้านี้นอนไม่หลับถึง 4 คืน
เชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ได้สัมผัสเหตุการณ์จริงไม่มีใครได้นอนหลับ แต่พอทราบว่าพบเด็กทุกคนดีใจ
สิ่งที่ทุ่มเทไปไม่ได้สูญเปล่า ยิ่งมีกำลังใจขึ้น นอนหลับได้ดีขึ้น
แต่ภารกิจยังไม่จบเพราะเด็กยังไม่ออกมา เรามีความตั้งใจและความมุ่งมั่น
ไม่เคยทำงานสู้กับวิกฤตที่แต่ละนาทีมีคุณค่าขนาดนี้ ผอ.สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 กล่าว
-สมาคมกู้ภัยนครลำปาง
ด้านทีมสมาคมกู้ภัยนครลำปาง
ที่มีบทบาทสำคัญอีกหน่วยงานหนึ่ง ได้เข้าร่วมสนับสนุนช่วยเหลือเป็นชุดแรกๆ เล่าว่า
หลังจากทราบเหตุก็ได้รวมทีมกันชุดแรก 15 คน
เพื่อเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือในพื้นที่ โดยอยู่ในการควบคุมดูแลของ ปภ.
ทางสมาคมจึงได้เข้าร่วมลงทะเบียน และได้รับมอบหมายงานให้อยู่ในจุดบัญชาการหน้าถ้ำ หรือเรียกว่า
บก.หน้าถ้ำ ร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยซีล
ทหาร ฯลฯ เพื่อติดต่อประสานงานระหว่างในถ้ำและนอกถ้ำ ถ้าหน่วยซีลต้องการอะไรก็จะประสานออกมา
และทางกู้ภัยจะไปแจ้งให้ ปภ.ทราบ
นอกจากนั้นจะมีทีมไปช่วยเหลือในการขนย้ายของและแพ็คของเข้าไปด้านในถ้ำ
ต้องเดินลุยน้ำเข้าไปมีความลึกประมาณเอว เพื่อช่วยจัดเตรียมถังอากาศ
ประกอบชุดและอุปกรณ์ดำน้ำ ซึ่งการเดินทางลำบากเป็นหินและโคลนไม่มีทางเดินเรียบ
มีแต่ความมืด และยังมีทีมดำน้ำชุดนทีลำปาง
ที่ร่วมดำน้ำเข้าไปส่งอุปกรณ์ให้กับหน่วยซีลในโถง 3
ซึ่งตั้งเป็นจุดบัญชาการภายในถ้ำด้วย และจะมีทีมช่วยเหลือในเรื่องท่อประปา
ทีมช่วยเหลือ กสทช.ลากสายโทรศัพท์
ตอนที่มีการแจ้งข่าวอยู่ในเหตุการณ์พอดี มีเจ้าหน้าที่หน่วยซีลเดินออกมาคุยกับ ผบ.ตร.บอกว่าพบทั้ง 13 คนแล้วปลอดภัยดี ทางเจ้าหน้าที่ก็โห่ร้องกันด้วยความดีใจ การค้นหาได้เสร็จสิ้นแล้วต่อไปคือภารกิจการกู้ภัยช่วยทั้ง13 ชีวิตออกมาจากถ้ำ ทีมสมาคมกู้ภัยลำปางจะยังคงปฏิบัติหน้าที่จนกว่าภารกิจจะเสร็จสิ้น ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีตัวแทนของเจ้าหน้าที่สมาคมกู้ภัยอยู่ในพื้นที่กว่า 10 คน
นายอธิพันธ์
ยะเปียง เจ้าหน้าที่กู้ภัยศูนย์ตะวันเสริมงาม อ.เสริมงาม หรือกู้ภัยตัวเล็กใจใหญ่ กล่าวว่า
ได้เดินทางกับน้องๆกู้ภัยรวม 7 คน เข้าร่วมภารกิจดูแลอำนวยความสะดวกที่ลาดจอดเฮลิคอปเตอร์
ซึ่งไม่ได้เข้าไปด้านในถ้ำ เนื่องจากภารกิจด้านในมีเจ้าหน้าที่ทำเต็มแล้ว ได้เข้าร่วมเพียง 1 วัน
เพราะต้องกลับมาทำหน้าที่การงานของตนเองต่อ แต่ก็เห็นการทำงานของแต่ละฝ่าย
เห็นความร่วมมือความสามัคคี
ก็จะเก็บเรื่องราวต่างๆที่เจอมาปรับใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
อ.เสริมงาม และขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจคนร่างเล็ก
จะตั้งใจทำงานกู้ภัยต่อไป
และขอแสดงความดีใจกับผู้ปกครองด้วยที่ได้รับข่าวดีพบตัวทั้ง 13 คนแล้ว
-กู้ภัยต้นธงชัย
น.ส.กานดาวดี
เทพสุธรรม เจ้าหน้าที่สมาคมกู้ภัยต้นธงชัย
อ.เมืองลำปาง ที่ได้ไปร่วมงานที่ถ้ำหลวง เล่าว่า การวางแผนของการทำงานภายในถ้ำ ทุกคนตั้งใจ
และแข็งขันมากในการร่วมทำงานเป็นจิตอาสาที่ไปช่วยในงานนี้ ไม่ว่างานอะไร
ก็ทำหมด
ประจวบเหมาะพอดีวันที่ไปถึงและเข้าจุดวันแรก เป็นวันที่มีข่าวดีเป็นที่ทางหน่วยซีล
แจ้งกลับออกมาว่า พบตัวน้องทั้ง 13 คนแล้ว ความรู้สึกตอนนั้นคือตัวชา ตื่นเต้น
แต่เขาก็บอกให้อยู่ในอาการที่สงบ มือไม้สั่นโทรศัพท์กลับมาหาแม่ที่บ้านเจอแล้ว
ใจอยากจะอยู่รอดู แต่ก็ต้องกลับมาก่อน มีภารกิจที่บ้านรออยู่
-กู้ภัยวังเหนือ และ
จนท.ทหาร
นอกจากนั้นยังมีทางสมาคมกู้วังเหนือ ที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ 5 คน ร่วมรับภารกิจเดินสำรวจปล่องถ้ำ ดอยผาหมี และขึ้นไปทำฝายเพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำลงสู่ถ้ำหลวง โดยอยู่ร่วมงานถึง 5 วัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหาร ร.17 พัน 2 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี จำนวน 12 นาย ที่ได้รับภารกิจการปีนเขาเพื่อสำรวจปล่องถ้ำเช่นกัน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1186 วันที่ 6 - 12 กรกฎาคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น