วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561

Critical Theory ความย้อนแย้งในวงการแมลงวัน

จำนวนผู้เข้าชม web counter

วามประหลาดเรื่องหนึ่งในวงการสื่อมวลชน คือขณะที่ครูบาอาจารย์ทางด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ พยายามอธิบายทฤษฎีวิพากษ์ หรือ Critical Theory เพื่อให้สื่อมวลชน ตระหนักถึงความคิดในเชิงวิพากษ์ ซึ่งนับเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับคนที่อยู่ในอาชีพสื่อมวลชน

คนในวงการสื่อมวลชน ซึ่งทำหน้าที่ในการวิพากษ์สังคม เป็นผู้นำความคิดในสังคมในการชี้ถูกชี้ผิดในสังคม กลับหลีกเลี่ยงที่จะวิพากษ์วิจารณ์กันเอง จนเกิดทัศนคติในหมู่ประชาชนว่า “แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน” หมายถึงพวกเดียวกันจะไม่ทำร้ายกันเอง

ข้อนี้มีความจริงอยู่บ้าง เพราะสื่อมวลชน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในอาชีพการงานของสื่อมวลชน หลายคนก็ยังมีทัศนคติว่า การวิพากษ์ คือการด่า การประณามกัน ไม่ว่าองค์กรนั้นจะดีหรือเลว มีข้อบกพร่องควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ก็ควรเพิกเฉยเสีย จะเป็นการปลอดภัย และรักษาสถานะ หน้าที่การงานไว้ได้

ยิ่งเป็นองค์กรสื่อสาธารณะ ยิ่งต้องมีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้  ตราบใดที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้น อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง มีเหตุ มีผล อธิบายชัดเจน และเห็นได้ชัดว่าเจตนาคือการสร้างสรรค์ มิใช่ทำลาย

เพราะสื่อสาธารณะเป็นของประชาชน เป็นของคนทุกคน ไม่มีใครที่จะอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของ และสร้างกำแพงไว้ปกป้องสถานะตัวเอง ด้วยการอ้างว่า องค์กรนี้วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ !

สำหรับคนที่เข้าใจแนวคิด และปรัชญาของความเป็นสื่อมวลชน อาจเห็นว่า ทัศนคติเช่นนี้ ท่าทีเช่นนี้ ดูย้อนแย้งกับบทบาทที่ควรเป็น ย้อนแย้ง หรือ Paradox คือสิ่งที่ขัดแย้งอยู่ในตัวเอง จะมีประโยชน์อะไร หากเราสถาปนาตัวเองเป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้อง ดีงามของสังคมนี้ แต่สังคมนี้กลับแตะต้องสื่อไม่ได้

สื่อมิใช่อภิสิทธิ์ชน สถาบันสื่อก็ไม่ได้เป็นสถาบันที่อยู่ในข้อยกเว้น  ที่อยู่เหนือสถาบันอื่น วันนี้ สังคมเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว พวกเขาเข้าใจดีว่าสื่อเลวได้ ดีได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ก็ยังมีสื่ออีกจำนวนหนึ่ง ที่ยังติดกับอยู่กับทัศนคติเก่าๆ ค่านิยมเก่าๆ

มีคำสองคำที่ “จอกอ” เห็นว่า เป็นความเข้าใจผิดที่นำมาสู่ความเชื่อที่ผิดๆ ต่อๆ กันมา คือคำว่า ฐานันดรสี่ที่นายเอ็ดมันด์ เบิร์ก กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งทำให้คนในแวดวงสื่อมวลชนสำคัญผิดในบทบาทของตัวเอง อีกคำหนึ่งคือ แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน ที่กล่าวถึงแล้ว ทำให้สื่อคุณภาพต่ำ สื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ ทำมาหากินอยู่บนความทุกข์ของผู้คนได้อย่างที่ไม่มีใครสามารถไปทำอะไรได้ เพราะพวกเขาเป็นฐานันดรสี่ เป็นอภิสิทธิชนที่สังคมต้องยำเกรง

สังคมไทยอาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ในการให้บทเรียน และการลงโทษสื่อด้วยมาตรการทางสังคม หรือ Socialization เหมือนเช่นที่ News of the World หนังสือพิมพ์อายุ 168 ปี ของเจ้าพ่อสื่อ Ruper Mundoch  ต้องล้มครืนลง เพราะหาข่าวด้วยวิธีการดักฟังทางโทรศัพท์ เพราะมาตรการทางสังคม เป็นวิธีการที่ดีที่สุด ในการกำกับ ดูแลเรื่องจริยธรรมสื่อ

แต่สังคมไทย คนไทยจำนวนไม่น้อย เริ่มตื่นตัว และเห็นความจริงว่า สื่อมวลชน ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชนที่แตะต้องไม่ได้ พวกเขากล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์สื่อมากขึ้น และสื่อก็เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นว่า การวิพากษ์วิจารณ์ที่มีเหตุ มีผลนั้น คือสิ่งที่เขาต้องฟัง  เพราะหากขาดคนดู คนฟัง คนอ่าน หรือเขาไม่เชื่อถือ ศรัทธาเสียแล้ว สื่อนั้นก็จะอยู่ไม่ได้


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1194 วันที่ 31 สิงหาคม - 6 กันยายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์