วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ข่าวลวง ปลอม และเท็จ Virus แห่งวารสารศาสตร์

จำนวนผู้เข้าชม website counter

งเสวนาสำคัญภายใต้หัวเรื่อง The rise of  Fake News and How to Handle It ซึ่งเป็นความพยายามที่จะแสวงหาแนวทางแก้ปัญหา ข่าวปลอม หรือ Fake News  โดย 3 องค์กรวิชาชีพ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน จัดที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นการตื่นตัวขององค์กรวิชาชีพ ที่จะขจัดไวรัสแห่งวารสารศาสตร์ ที่กำลังแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว

เชื้อโรคร้ายแห่งความเท็จนี้  กระจายตัวอย่างแพร่หลาย และกว้างขวางยิ่งขึ้น เมื่อโลกเข้าสู่ยุคก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ในแต่ละวันสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์ ต่างผลิตข่าวปลอม ข่าวเท็จ ภาพตัดต่อ ออกมาเป็นจำนวนมาก ข่าว ภาพ เหล่านี้ ถูกแชร์ ถูกส่งต่อ ทั้งคนที่ใช้สื่อโดยทั่วไป และสื่ออาชีพเอง

มันส่งผลกระทบในวงกว้าง ด้วยสังคมที่เกลื่อนไปด้วยขยะข่าว จนกระทั่งกระทบไปถึงการเมืองระดับชาติ
ในมาเลเซีย ยุคนายนาจิบ ราซัค มีการตรากฎหมายต่อต้านเฟคนิวส์ ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสั่งระงับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล กล่าวกันว่า กฎหมายฉบับนั้น  มุ่งที่จะควบคุมสื่อท้องถิ่น และสื่อต่างชาติ ที่วิพากษ์วิจารณ์กรณีกองทุนเพื่อการพัฒนา หรือ วันเอ็มดีบี ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีราซัค ถูกกล่าวหาว่า ยักยอกเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐไปจากกองทุน

สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงปัญหาของสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียบ่อยครั้ง เขาอธิบายว่า สื่อเหล่านี้มีบทบาทในการขยายและสร้างความขัดแย้ง มากกว่าที่จะมีบทบาทในการสร้างการรับรู้

ครั้งสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ เชิญชวนให้สื่อมวลชน เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของโซเชียลมีเดีย และต้องประณามคนเหล่านั้น

ความเป็นจริง ปัจจัยที่ทำให้ไวรัสเฟคนิวส์ ยังคงแข็งแรง และยังมีอานุภาพทำลายล้างสูง ด้านหนึ่งมาจากการแข่งขันในธุรกิจสื่อ ทั้งในเชิงปริมาณคือเก็บเกี่ยวข่าวสาร ข้อมูล ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงในสื่อสังคมออนไลน์ มาใช้ ทั้งในเชิงคุณภาพ คือไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนตีพิมพ์หรือเผยแพร่ ตามรูปแบบวัฒนธรรมการทำงานของสื่อรุ่นก่อนๆ

เฟคนิวส์ อาจดูเหมือนเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่เกิดขึ้นมาในยุค 4.0 เพราะความก้าวหน้า ทันสมัย และทั่วถึงในการใช้เครื่องมือสื่อสารของคนในสังคม แต่ความจริงเฟคนิวส์ก็เกิดขึ้นมา พร้อมๆกับการมีสื่อเกิดขึ้นในโลกนี้แล้ว ในแง่การเมือง ก็คือ Propaganda หรือโฆษณาชวนเชื่อ พูดซ้ำๆ บ่อยๆ จนคนคิดว่าเป็นเรื่องจริง

ในแง่วารสารศาสตร์ คือ วิธีการทำข่าว โดยใช้แหล่งข่าวปิด การปิดแหล่งข่าวนั้น เป็นช่องทางสำคัญ โดยเฉพาะนักการเมือง ที่มักปล่อยข่าวลวงกับนักข่าว เพื่อใช้ประโยชน์จากข่าวนั้น ในเชิงโยนหินถามทาง นักข่าวจะถูกบอกเล่าว่า เรื่องที่จะบอกเป็นข่าวสำคัญ ที่อ้างอิงแหล่งข่าวไม่ได้  เมื่อข่าวแพร่กระจายไปก็อาจมีผลทางการเมืองตามแผนการของนักการเมืองที่วางไว้ แต่ถ้ามีการโต้แย้ง เขาก็จะปฎิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ให้ข่าวนี้

นี่ก็เป็นเฟคนิวส์ชนิดหนึ่ง ซึ่งจะต้องเขียนเป็นหลักการป้องกันไว้ว่า ข่าวจะต้องเปิดเผยแหล่งข่าว ยกเว้นข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน  ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยคุณลักษณะ หรือ Identification ได้

ส่วนวิธีการป้องกันเฟคนิวส์ยุคใหม่ ก็ต้องกลับไปสู่หลักการพื้นฐานของสื่อมวลชน คือ ข่าวจะต้องถูกต้อง ตามข้อเท็จจริง ครบถ้วนและรอบด้าน ซึ่งจะต้องอาศัยสามัญสำนึกของวิญญูชน คือคนปกติโดยทั่วไปว่า ข่าวนั้นมีความผิดปกติ หรือเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งจะต้อง Double check ให้แน่ใจว่า ถูกต้องก่อนเผยแพร่

การกำจัดไวรัสเฟคนิวส์ ไม่น่ายุ่งยากมากนัก และไม่ต้องไปพะวงกับกลุ่มที่ใช้เฟคนิวส์ ทำมาหากิน เพราะพวกเขาย่อมเห็นประโยชน์จากเฟคนิวส์ และพยายามขุดบ่อล่อให้สื่ออาชีพตกลงไปในหล่มโคลนแห่งเฟคนิวส์ได้ สำคัญว่า เราอาจต้องบ่นให้น้อยลง แล้วจัดการใช้กฎหมายที่มีอยู่ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในเรื่องการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จจัดการกับ เฟคนิวส์อย่างจริงจัง

เชือดให้ดูสัก 2-3 ราย เฟคนิวส์ก็กระเจิงแล้ว


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1193 วันที่ 24 - 30 สิงหาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์