จำนวนผู้เข้าชม
มะลิวรรณและผู้ฟ้องคดีช้ำ
ศาลปกครองสูงสุดตัดสินยกฟ้องคดีสุสานหอย 13 ล้านปี ให้เหลือเพียง 18 ไร่ ตัดพ้อคนเพียบหยิบมือไม่สามารถคุ้มครองมรดกของประเทศไว้ได้
เมื่อคนส่วนรวมขาดความสนใจ ตั้งขอสังเกตทุ่งบัวตองและสนามกอล์ฟของ กฟผ.แม่เมาะ
มีประโยชน์ตรงไหน
เมื่อเวลา
10.00 น.วันที่ 13 ก.ย.61
ศาลปกครองกลาง ได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ 459/2548 คดีหมายเลขแดงที่ 1203/2550 ระหว่างนายเฉลียว ทิสาระ กับพวกรวม 18 คน ผู้ฟ้องคดี กับ คณะรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องที่
2 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้ถูกฟ้องที่ 3
และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ผู้ถูกฟ้องที่ 4 คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ(อุทธรณ์คำพิพากษา) กรณีการอนุรักษ์หอยขมดึกดำบรรพ์ 13 ล้านปี บริเวณพื้นที่ทำเหมืองแม่เมาะ ประทานบัตรเลขที่ 24349/15341
โดยมีนายสุรชัย
ตรงงาม ทนายความ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้งสิบแปด นางมะลิวรรณ
นาควิโรจน์ ผู้ฟ้องคดีที่ 3 นายอัศวเทพ ลาอ่อน ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีที่
2 และ 3 นายสุรพร ประดิษฐ์เทา
ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เดินทางมาร่วมรับฟังคำพิพากษา
ทั้งนี้
ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษา กลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้อง
ระบุว่าการที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.47 และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพิกถอนประทานบัตรเลขที่ 24349/15341 ในส่วนที่เป็นพื้นที่แหล่งซากหอยขมดึกดำบรรพ์ เนื้อที่ 43 ไร่ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 30 วัน
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ควบคุมและสั่งการให้
กฟผ.
ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตรเลขที่
24349/15341 โดยจัดทำรายงายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
กรณีแหล่งซากหอยขมดึกดำบรรพ์เพิ่มเติม เพื่อขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการโดยกำหนดให้
กฟผ.
ดำเนินการัดทำสิ่งป้องกันมิให้เกิดการพังทลายของซากหอยขมดึกดำบรรพ์อันเกิดจากการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์
และภัยธรรมชาติ และให้คณะรัฐมนตรี
สั่งการให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนแหล่งซากหอยขมดึกดำบรรพ์เป็นเขตโบราณสถาน
โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน
นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย
โดยศาลได้ให้ความเห็นในบางช่วงบางตอนว่า
ในขณะที่มีการฟ้องคดีศาลปกครองชั้นต้น กฟผ.ดำเนินการทำเหมืองในพื้นที่ซากหอยขมดึกดำบรรพ์
เนื้อที่ 25 ไร่ ที่ถูกกันออกจากพื้นที่อนุรักษ์เนื้อที่ 52
ไร่ไปหมดแล้ว สภาพของพื้นที่ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ที่มีอยู่จึงเป็นพื้นที่ 18 ไร่ มติของผู้ถูกฟ้องที่ 1ลงวันที่ 21 ธ.ค.47
ที่กำหนดพื้นที่ซากหอยขมดึกดำบรรพ์เป็นพื้นที่อนุรักษ์ 52
ไร่ โดยเป็นพื้นที่แหล่งหอยขมดึกดำบรรพ์ 18 ไร่ รวมพื้นที่อื่นอีก 34 ไร่
มีผลเป็นการเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ก.พ.47
ที่กำหนดพื้นที่ซากหอยขมดึกดำบรรพ์เป็นพื้นที่ 43 ไร่
เป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมาย และได้มีการตรวจสอบทำรังวัดกันเขตพื้นที่ประทานบัตร
เลขที่ 24349/15341 ออกจากพื้นที่อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ดังกล่าวแล้ว การทำเหมืองของ
กฟผ.จึงเป็นการกระทำนอกเขตพื้นที่อนุรักษ์แหล่งซากหอยขมดึกดำบรรพ์ตามมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
ปรากฏข้อเท็จจริงว่าซากหอยขมดึกดำบรรพ์ส่วนที่เหลือเนื้อที่ 18 ไร่ ในพื้นที่อนุรักษ์ยังคงตั้งอยู่ได้ จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะให้
กฟผ.ดำเนินการจัดทำสิ่งป้องกันไม่ให้เกิดการพังทลายของซากหอยขมดึกดำบรรพ์อันเกิดจากการทำเหมือง
กรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าการทำเหมืองอาจมีผลกระทบต่อซากหอยดึกดำบรรพ์
อาจทำให้เกิดการพังทลายขึ้นได้นั้นเป็นความวิตกกังวลหรือคาดเดาเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ หากมีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นจริง
ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบแปดสามารถฟ้องต่อศาลเป็นอีกเรื่องหนึ่งได้ต่อไป
นางมะลิวรรณ
นาควิโรจน์ ผู้ร่วมฟ้องคดี
ได้กล่าวหลังจากทราบคำพิพากษาว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของส่วนรวมแต่คนยังขาดการให้ความสนใจ
โดยส่วนตัวมองว่า
ทำไมการคุ้มครองมรดกทางโบราณคดีจึงต้องเป็นเพียงชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ เช่นพวกตน 18
คนที่ร่วมกันยื่นฟ้องคดีเท่านั้น ทั้งที่เป็นของคนไทยทุกคนและเป็นของโลกด้วย
ขณะที่ กฟผ.มีงบมากมาย ที่ทำให้ทุ่งบัวตองและสนามกอล์ฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวชูหน้าองค์กร
แต่ไม่ยอมที่จะรักษาสภาพทางธรณีวิทยาที่ควรค่ามีค่านี้ไว้ จึงมีคำถามตามมาว่าทั้งสนามกอล์ฟและทุ่งบัวตอง
สร้างประโยชน์ต่อประเทศได้อย่างไร
สำหรับความเป็นมาในเรื่องนี้
สืบเนื่องจากกรณีชาวบ้านบริเวณรอบเหมืองแม่เมาะ 18 ราย
ได้มอบอำนาจให้ทางสภาทนายความและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม โดย นายสุรชัย ตรงงาม
ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 7 เม.ย.48 จากเหตุที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่
21 ธ.ค.47 กำหนดลดพื้นที่อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์
จาก 43 ไร่ เหลือเพียง 18 ไร่
และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ทำการไถทำลายซากหอยขมดึกดำบรรพ์ในบริเวณเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ
ที่มีความสำคัญระดับโลกไปบางส่วน ซึ่งเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ
ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
พ.ศ.2535
โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้
เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 ธ.ค.47 เพิกถอนประทานบัตรในส่วนที่เป็นพื้นที่แหล่งซากฟอสซิลหอยขม
เนื้อที่ 43 ไร่ ให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ควบคุมให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
กรณีแหล่งซากฟอสซิลหอยขมเพิ่มเติมเพื่อขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ
ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินการจัดทำสิ่งป้องกันมิให้เกิดการพังทลายของซากฟอสซิลอันเกิดจากการทำเหมืองถ่านหินและภัยธรรมชาติ
และให้คณะรัฐมนตรีสั่งการให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนแหล่งซากฟอสซิลหอยขมเป็นเขตโบราณสถาน
จากนั้นได้มีการยื่นอุทธรณ์คดีต่อสู้กันมายาวนานถึง 10 ปี กระทั่งศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ กลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้อง
เท่ากับว่าให้กันพื้นที่อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ 13 ล้านปี
เหลือเพียง 18 ไร่เท่านั้น
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1196 วันที่ 14 - 20 กันยายน 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น