‘น้ำปู’ หรือ ‘น้ำปู๋’ของดีขึ้นชื่ออำเภอแจ้ห่ม อาหารพื้นบ้านของเด็ดที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ที่ลูกหลานช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาเหล่านี้ไม่ให้สูญหายไป
วิถีชีวิตของชาวอำเภอแจ้ห่ม ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทำไร่ ทำนา ในฤดูการทำนาจะมีปูนามาก แม้ว่าปูนาจะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ แต่หากมีมากเกินไปก็ถือได้ว่าปูนาเป็นศัตรูของต้นข้าว ทำให้การทำนาได้ผลผลิตไม่ดี ไม่มีคุณภาพ ชาวนาจึงคิดว่าเมื่อมีปูนามากจะทำอย่างไรให้เก็บไว้ได้นาน จึงช่วยกันเก็บปูนนาซึ่งเป็นการกำจัดปูนาแบบไม่ใช้สารเคมีโดยนำมาแปรรูป ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกทางหนึ่ง
น้ำปู ของที่นี่ทำจากเนื้อปูนาล้วน ๆ เมื่อสุกแล้วน้ำปูจะมีสีดำตามธรรมชาติ กลิ่นหอม ไม่ใส่สารกันบูดบรรจุลงในกระป๋องเก็บไว้รับประทานได้นานถึง 2 ปี ซึ่งน้ำปูนี้จะโดดเด่นในเรื่องของสีคือสีดำตามธรรมชาติแล้วยังใช้ในการประกอบปรุงรสอาหารได้หลากหลาย เช่น น้ำปูใส่น้ำพริกหนุ่ม ใส่ส้มตำมะละกอ ใส่ยำหน่อไม้ ใส่แกงหน่อไม้ทุบ (สด) ใส่ตำส้มโอ ใส่ตำมะยม มะเฟือง กระท้อน มะขามสดฝักอ่อนจิ้มน้ำปู หรือตำมะขามอ่อนใส่น้ำปู บางคนคลุกข้าวสวยรับประทาน บางคนก็จะเอาน้ำปูทาข้าวเหนียว(เหมือนขนมปังทาแยม)รับประทาน ฉะนั้นใครที่อยากจะลิ้มลองน้ำปูอร่อย เลิศรส ต้องไปลิ้มรสน้ำปูที่บ้านหนองนาว ตำบลแจ้ห่ม อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เท่านั้น
ขั้นตอนและส่วนผสม
การทำน้ำปูนั้นไม่ยุ่งยากและมีส่วนผสมเพียงไม่กี่อย่าง หากแต่ละขั้นตอนมีเทคนิควิธีที่ละเอียดอ่อนและใช้เวลานานพอสมควร ส่วนผสมที่ใช้ในการทำน้ำปูมีเพียง ปูนา (ปูนา 10 กิโลกรัม จะได้นำปู 1 กิโลกรัม) ตะไคร้และใบข่าซอยละเอียดเพื่อใช้ในการดับกลิ่นคาว และในการเคี่ยวจะมีการเติมเกลือเล็กน้อย
วิธีการทำก็ไม่ยุ่งยาก หลังจากที่เก็บปูนาได้แล้ว ก็จะแช่ปูนาในน้ำสะอาดราวครึ่งชั่วโมงเพื่อให้ปูคายเศษดิน จากนั้นทำการล้างปู 2-3 น้ำ จนน้ำล้างปูใสสะอาด จึงนำลงไปตำในครก หรือใช้เครื่องโม่ก็ได้ ระหว่างโม่ก็ใส่ใบข่าและตะไคร้ลงไป ตำให้ละเอียด จากนั้นก็นำไปกรองเอากากออก น้ำปูที่ได้ก็จะทิ้งไว้หนึ่งคืน สีของน้ำปูจะเข้มขึ้น จากนั้นก็จะนำมาเคี่ยวด้วยเตาถ่าน ใช้ไฟอ่อน ซึ่งในขั้นตอนนี้จะใช้เวลานาน เพราะต้องเคี่ยวจนกว่าน้ำปูจะข้นและเหนียวขึ้น ซึ่งใช้เวลาหลายชั่วโมงและต้องเคี่ยวอย่างต่อเนื่องจึงต้องมีคนมาเปลี่ยนและช่วยกัน เมื่อเคี่ยวน้ำปูได้ที่แล้ว ก็จะพักไว้จนเย็น ก่อนทำการบรรจุ
มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ
- เกียรติบัตรจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
- ให้ความร่วมมือในการสนับสนุนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ในโครงการ Window II ประจำปี 2550 วันที่ 22 กรกฎาคม 2551
- กลุ่มน้ำปูได้ร่วมวิภาคกับอาจารย์มหาวิทยาราชภัฏลำปางในการทำวิจัย
ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแจ้ห่มได้ผลักดันให้ ‘น้ำปู’ เป็นสินค้า OTOP ในระดับ 4 ดาว ได้รับใบรับรอง มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์และถ่ายทอดกรรมวิธีการผลิตแบบพื้นบ้าน
ติดต่อสั่งซื้อหรือสอบถามรายละเอียด
วิสาหกิจชุมชนน้ำปู-น้ำผัก (ป้าคำสุข เป็นมูล)
252 หมู่ที่ 8 ตำบลแจ้ห่ม อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง 52120
โทรศัพท์ 081-602-7939
ดาวน์โหลด E-Book เพิ่มเติม
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น