กลุ่มผ้าถักโครเชต์ไก่ฟ้าพญาลือ
ในอดีตแล้วชาวชุมชนบ้านหนองนาว ส่วนใหญ่มีอาชีพการเกษตร ทำไร่ ทำนา ทำสวน และรับจ้าง ตามฤดูกาล แต่หลังจากงานหลักก็จะใช้เวลาว่างทำอาชีพเสริม ไม่ว่าจะเป็นการจักตอก สานไซ ข้อง แห สวิง ของใช้ต่างๆ ที่ชาวบ้านหนองนาวจะช่วยกันถักทอ ตามภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย รวมถึงการทอผ้า และถักผ้าโครเชต์ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นงานฝีมือที่ต้องอาศัยใจรัก
จากคำบอกเล่าของสมาชิกกลุ่มไก่ฟ้าพญาลือ เล่าว่าเมื่อ 60 กว่าปีก่อน ชุมชนแห่งนี้ยังไม่มีไฟฟ้า การคมนาคมขนส่งยังไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน ทำให้ในหมู่บ้านจะมีการปลูกฝ้ายเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับทำเป็นเส้นด้ายใช้สำหรับการทอผ้า รวมไปถึงใช้ถักโครเชต์ ซึ่งแรกเริ่มได้มีการถักเป็นสวิง แห อวน ต่อมาได้ทำการดัดแปลงประยุกต์เป็นการถักคอเสื้อ ผ้าปูโต๊ะ ผ้าห่ม ผ้าถุง เย็บเป็นที่นอน หมอน ของใช้ต่างๆ ของชำร่วย ของขวัญ ขายได้ก็นำมาทำทุน แต่ส่วนใหญ่ทำไว้เพื่อเป็นของใช้ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน ไม่นิยมนำไปขาย เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีตลาดรองรับ แต่ก็มีการสอนและถ่ายทอดเทคนิคการถักโครเชต์กันในชุมชน จนปัจจุบันการปั่นฝ้ายเพื่อผลิตด้ายนั้นไม่ได้ทำแล้ว เนื่องจากการขนส่งสะดวกขึ้นก็จะซื้อด้ายสำเร็จรูปมาใช้งาน แต่อาจจะมีการปั่นเป็นม้วนด้ายขึ้นมาใช้กันเองภายในกลุ่มอาชีพ
กลุ่มผ้าถักโครเชต์ไก่ฟ้าพญาลือ รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนมานานกว่า 20 ปี หากแต่ประวัติของกลุ่มยาวนานกว่านั้นจนถึงปัจจุบันนับได้ว่าเป็นเจเนอเรชันที่ 3 ของกลุ่มก็ว่าได้
ความเป็นมาของกลุ่มกลุ่มผ้าถักโครเชต์ไก่ฟ้าพญาลือ เริ่มตั้งแต่คุณแม่บัวคำ พงษ์นิกร คือ ผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการถักโครเชต์ ให้กับ ลำดวน พงษ์นิกร ซึ่งเป็นลูกสาวของครอบครัว “พงษ์นิกร” ที่คุณแม่ได้ถ่ายทอดเทคนิควิธีการถักโครเชต์ให้ ตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ ย้อนความทรงจำก็ราวๆ พ.ศ. 2499 แต่สมัยนั้นไฟฟ้ายังไม่มีแต่ต้องสอนในเวลากลางคืนเพราะกลางวันลำดวนต้องไปเรียนหนังสือ ส่วนแม่บัวคำก็ต้องไปทำไร่ทำสวน ต่อมา พ.ศ. 2505 แม่บัวคำก็ได้จากไปขณะอายุ 48 ปี นับจากนั้นมา ลำดวน ก็เป็นผู้สืบทอดและศึกษาค้นคว้ารวมถึงพัฒนารูปแบบการถักโครเชต์ให้มีความหลากหลายและสร้างลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ โดยได้มีการรวมกลุ่มตั้งแต่ปี 2548 จากนั้นลำดวน ได้สอนเทคนิควิธีการถักโครเชต์ให้กับ เสาวลักษณ์ พงษ์นิกร หลานสาวและคนในชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงมาโดยตลอด จนมาถึงปัจจุบัน เสาวลักษณ์ พงษ์นิกร ก็เป็นประธานกลุ่มคนปัจจุบันและดูแลการตลาดรวมถึงพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผ้าปูโต๊ะ กล่องใส่ทิชชู ที่ใส่ไม้จิ้มฟัน เสื้อถักริม ปลอกหมอนอิง ฯลฯ
ที่ใส่ไม้จิ้มฟัน
หนึ่งในผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผ้าถักโครเชต์ไก่ฟ้าพญาลอ ที่มี ไก่ขาว ในรูปทรงสามมิติ ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำกลุ่มแทนสัญลักษณ์จังหวัดลำปาง
ที่ใส่ไม้จิ้มฟัน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดูเหมือนง่าย แต่ต้องใช้เทคนิควิธีการขึ้นรูปทรงไก่ขาวเป็นสามมิติ การถักเส้นด้ายต้องอาศัยความชำนาญที่ต้องใช้เวลาฝึกฝน อุปกรณ์ก็มีเพียง โครเชต์ ใช้ด้ายสีขาวเป็นหลัก ตกแต่งหงอนและปากไก่ ด้วยด้ายสีแดงและเหลือง ส่วนที่เหลือใช้ด้ายสีแดง เหลือง ชมพู เพื่อถักเป็นดอกไม้เล็ก ๆ หรือ ลวดลายอื่นๆเพื่อใช้ตกแต่งที่ใส่ไม้จิ้มฟันให้มีมีสันสดใจตามแต่จินตนาการของผู้ถัก
ในการทำที่ใส่ไม้จิ้มฟัน จะถักตัวไก่ขาว ฐาน แยกชิ้นกันแล้วจึงนำมาเย็บประกอบกันภายหลัง โดยตัวไก่ขาวจะใส่ใยสังเคราะห์ไว้ข้างในเพื่อให้ตัวไก่พองและดูน่ารัก ส่วนขอบที่ใส่ไม้จิ้มฟันก็ถักโครเชต์ระบาย ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น