วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ประเทศกูมี คนกลัวแม้เงาตัวเอง !

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

Fear of Truthphobia เรียกว่า “โรคกลัวความจริง” เป็นความจริงของผู้มีอำนาจทั้งหลาย ที่ตื่นตระหนกตกใจ แม้แต่เข็มตกสักเล่มหนึ่ง หน่วยงานใหญ่แห่งหนึ่งของลำปาง ก็เป็นโรคร้ายแรงนี้

บทเพลง “ประเทศกูมี” ของ RAP AGAINST DICTATORSHIP ล้วนเป็นความจริง แต่เป็นความจริงที่ถูกเรียงร้อยใหม่ในรูปแบบเพลงแร็พ   บทเพลงในแบบที่สังคมไทยคุ้นเคยมาแล้ว อย่างน้อย ก็จาก “กากี่นั่ง” ของเจ้าพ่อวงการเพลงแร็พ โจอี้ บอย

ก่อนหน้านี้ ก็มีแร็พเสียดสีสังคม ได้ยินกันอยู่เป็นระยะ เช่น แร็พ “เปรมชัย-นายก-คุณครู” ของ “อ้วน ตุ้ยนุ้ย” หรือเพลงอื่นๆ แต่ก็ไม่มีเพลงใดจะโด่งดังเพียงชั่วข้ามคืน เท่า “ประเทศกูมี” ด้วยแรงโปรโมทของผู้ใหญ่บ้าจี้ทั้งหลาย  ทั้งบี พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกรัฐบาล พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล และพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ไม่เพียงเท่านั้น “ประเทศกูมี” ยังทำให้เกิดกระแสต่อต้าน ด้วยกลุ่มคนคลั่งชาติ ที่แยกแยะไม่ได้ว่า ความรักชาตินั้นหมายความว่าอย่างไร คลั่งชาติมิใช่แนวคิดเชิงอุดมการณ์ แต่เป็นลัทธิ ซึ่งหากอาการกำเริบ รุนแรง ก็จะเหมือนนาซียุคฮิตเลอร์ที่สร้างความเกลียดชังยิว จนกระทั่งนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่

แน่นอนว่าแร็พ “ประเทศกูมี” ก็มิใช่บทเพลงที่จะสร้างความสุนทรีย์ เหมือนเช่นบทเพลงรัก บทเพลงพาฝันทั่วไป

หากจะกล่าวว่า ประเทศกูมีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อ่อนไหวต่อความรู้สึกของคนไทย ที่อาจมีความแตกต่างในเรื่องความรู้ ความเข้าใจ ในคำ 3 คำนี้ คือ รักชาติ ชังชาติ และคลั่งชาติ ก็คงพอพูดได้ แต่หากจะบ้าจี้ หาช่องทางเอาความผิดกับคนที่เกี่ยวข้องกับบทเพลงนี้ ก็มากเกินไป

มีนายตำรวจบางคน บอกว่า บทเพลงนี้ผิดกฎหมายแน่นอน เป็นการนำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกถึง 5 ปีและปรับเป็นแสน นอกจากนั้นยังถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ แต่ต่อมาก็ถอยกันเป็นแถว

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข ปี 2560 บัญญัติความผิดในการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับบทเพลงนี้ คือ นำเข้าโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

นำเข้าโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และนำเข้าอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ดังนั้น การที่จะเป็นความผิดตามบทบัญญัตินี้ จะต้องประกอบด้วย การนำเข้าข้อมูลซึ่งเป็นเท็จ และการนำเข้านั้นจะต้องส่งผลในด้านต่างๆที่กล่าวถึง และเป็นผลที่บุคคลธรรมดาทั่วไป หรือวิญญูชนรู้สึกได้ มิใช่เพียงความรู้สึกของคนบางคน

ประเทศกูมีเป็นภาพสะท้อนความจริง ที่อาจดู Hard core และฉีกไปจากขนบเพลงที่สังคมไทยคุ้นเคยไปบ้าง แต่มันก็เป็นการสร้างสรรค์บทเพลงในอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้ามันไม่ได้ตอบคำถามที่อาจค้างคาอยู่ในใจของคนบางคน ถ้ามันจะทำให้ประเทศนี้ย่อยยับถูกหยามเกียรติ จนคนไทยรู้สึกต่ำต้อยน้อยค่าขึ้นมาในฉับพลัน ไม่ฟัง ไม่ให้ค่ามัน ไม่วิพากษ์วิจารณ์ มันก็จะตายไปเองตามกฎธรรมชาติ

ความจริงส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยด้อยพัฒนา ก็มาจากเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่กลัวความจริงจมอยู่ในโลกของบทเพลง “หนักแผ่นดิน” ในอดีต จนไม่รู้ว่าสังคมโลกเขาเปลี่ยนแปลงไปถึงไหนแล้ว

ล่าสุด ณ วันปิดต้นฉบับนี้ ประเทศกูมี ทะลุไปกว่า 20 ล้านวิวแล้ว สูงสุดในกลุ่มเพลงแร็พสัญชาติไทย ที่มีเนื้อหาเสียดสีสังคม หากจะมองในแง่ดี การมีผู้ใหญ่ที่หลงยุค และนักรักชาติทั้งหลาย แสดงบทบาทความรักและหวงแหนชาติ จนคล้ายกับว่า คนอื่นๆไม่รักชาติเท่าพวกเขา ก็คือแรงส่งอย่างดีของประเทศกูมีนั่นเอง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1203 วันที่ 2 - 8 พฤศจิกายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์