เรามักจะได้ยินผู้คนพูดกันอยู่เสมอถึง
“ความเป็นกลาง” ของสื่อมวลชน พวกเขาคาดหวังความเป็นกลางของสื่อมวลชน
โดยเฉพาะเมื่อต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสารการเมือง หรือรายงานข่าวเกี่ยวกับนักการเมือง
แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่า ความเป็นกลางมีอยู่อย่างจริงแท้หรือไม่ เมื่อคนๆหนึ่งพูดถึงความเป็นกลางของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวการเมือง
เราอาจหลงลืมไปว่า นั่นเป็นเพราะสื่อมวลชนนำเสนอข่าวที่ไม่สอดคล้องกับทัศนคติ
ความคิด ความเห็น หรืออุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเอง หาใช่สื่อไม่เป็นกลางไม่
ทุกคนในสังคมล้วนมีจุดยืน
มีความคิดเห็น มีความพึงพอใจพรรค และนักการเมืองที่แตกต่างกัน
สื่อมวลชนในฐานะที่เป็นสมาชิกหน่วยหนึ่งของสังคม ก็ย่อมมีความคิดเห็น
มีทัศนคติทางการเมืองเช่นเดียวกัน คำถามจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า สื่อมวลชนมีความเป็นกลางหรือไม่
แต่อยู่ที่ว่าสื่อมวลชนสมควรสะท้อนทัศนคติ ความคิด
ความเห็นความพึงพอใจของตัวเองผ่านบทบาทหน้าที่ความเป็นสื่อหรือไม่
‘ลานนาโพสต์’ เห็นว่า
ทัศนคติเรื่อง ‘ความเป็นกลาง’ ในสังคมไทย อาจยังไม่ถูกต้องมากนัก
เพราะหากความเป็นกลางมาจากความคิดเชิงอัตวิสัย ซึ่งหมายถึงมุมมอง
หรือความคิดเห็นของบุคคล เกี่ยวข้องกับความรู้สึก ความเชื่อ หรือความต้องการ
หรืออาจหมายถึงแนวคิดส่วนบุคคลที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ นั่นก็คือความไม่เป็นกลาง
ความคิดเชิงอัตวิสัยเชื่อว่า
การมีอยู่ หรือความจริงของสิ่งสิ่งหนึ่งอยู่กับตัวเราเองเป็นคนตัดสิน เช่น
อาหารจานหนึ่ง คนหนึ่งกินบอกว่าอร่อย อีกคนหนึ่งบอกไม่อร่อย แต่ในทางตรงกันข้าม อาหารจานเดียวกันนี้
หากชิมโดยนักชิมอาหารซึ่งได้รับการฝึกฝนมาจนเป็นอาชีพ มีหลักการ มีเหตุผล เขาก็จะบอกได้ว่า
อาหารจานนี้อร่อยหรือไม่ โดยทุกคนก็ยอมรับ
โดยนัยเดียวกัน
การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562
สำหรับจังหวัดลำปาง เราคงมีคำถามอยู่พอสมควรว่า
สื่อท้องถิ่นมีความเป็นกลางหรือไม่
ยกเว้นเป็นสื่อที่พรรคการเมืองนั้นๆเป็นคนบริหารจัดการ
ซึ่งก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะต้องสนับสนุน หรือให้พื้นที่เฉพาะผู้สมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคที่เป็นนายทุนหาเสียง
เมื่อพูดถึงประเด็นนี้
เราอาจมีความเข้าใจผิดว่า สื่อที่บริหารจัดการโดยพรรคการเมือง
หรือผู้สมัครสังกัดพรรคนั้น จะให้ผลในการสร้างคะแนนนิยมได้มาก
ด้วยพื้นที่และวิธีการนำเสนอที่ควบคุมได้ ซึ่งในความเป็นจริงความคิดเช่นนี้
ผิดพลาด เพราะความนิยมในตัวผู้สมัคร ความศรัทธาในพรรคการเมือง ย่อมเกิดขึ้นได้
ด้วยสื่อสาธารณะที่มีหลักการในการนำเสนอ มีข้อมูล มีเหตุผลในเชิงวิชาการ
แปลว่าสื่อนั้นๆจะต้องไม่มีความสัมพันธ์กับพรรคกับบุคคลใดในเชิงอำนาจและผลประโยชน์เลย
บทพิสูจน์ในอดีต
ระหว่างผู้สมัครและพรรคการเมืองที่หาเสียงด้วยวิธีการซื้อพื้นที่สื่อ
หรือใช้สื่อของตัวเองโฆษณาชวนเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ กับการสำรวจคะแนนนิยม
การสำรวจความเห็น โดยตั้งคำถามคนจำนวนมาก หรือโพล
ด้วยระเบียบวิธีวิจัยตามหลักวิชาการ โดยสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ
หรือใช้พื้นที่สื่อที่เป็นมืออาชีพ มีวิธีในการนำเสนอข่าวสาร ข้อมูลที่เป็นไปตามหลักการ
สุดท้ายคือผลโพล และการนำเสนอของสื่ออาชีพที่เป็นอิสระเป็นตัวชี้ขาดชัยชนะ
ถามว่า
จุดยืนลานนาโพสต์ ในการเลือกตั้งลำปาง 2562 นี้เป็นเช่นใด
ตอบว่าคนทำงานลานนาโพสต์ทุกคน มีความคิด มีทัศนคติ มีความพึงพอใจ
และอาจตัดสินใจแล้วว่า จะเลือกผู้สมัครคนใดเป็นผู้แทนของเขา
ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ต้องให้ความเคารพในความคิดเห็นของพวกเขา
แต่ในการทำหน้าที่บนพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นสื่อประเภทใดในเครือลานนาโพสต์
เราไม่อาจนำทัศนคติ ความคิดความเห็นทางการเมืองมาปะปนกับการทำหน้าที่
ซึ่งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
‘ลานนาโพสต์’ ไม่เชื่อในความเป็นกลาง แต่ลานนาโพสต์เชื่อมั่น และชัดเจนว่า
ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใด ผู้สมัครคนใดที่ทำงานเพื่อคนลำปาง เพื่อจังหวัดลำปางด้วยความจริงจังและจริงใจ
อีกทั้งพิสูจน์ตัวเองมายาวนาน นั่นคือสิ่งที่สมควรต้องสนับสนุนอย่างยิ่ง
เราไม่อาจเป็นกลางระหว่างขาวกับดำ เราเป็นกลางไม่ได้ระหว่างถูกกับผิด
แต่เราทำหน้าที่โดยไม่ลำเอียงได้
ไม่มีอคติได้ และนับจากนาทีนี้เป็นต้นไป คนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ พรรคการเมืองที่มีคุณลักษณะเช่นนี้ จะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มกำลังจากลานนาโพสต์
โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของคนลำปางเป็นสำคัญ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น