วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ซอมบี้ ทีวีดิจิตอล เมื่อรัฐอุ้มซากศพ !

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ม้ข่าวที่เป็นเฟคนิวส์ ในตอนต้น  บอกว่าช่อง 3 จะเลย์ออฟ นักข่าววัยทำงานนับเกือบร้อยคน จะเป็นเพียงการปรับองค์กรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน  โดยมุ่งเน้นพนักงานที่เกษียณอายุ ไม่ได้ปลดพนักงานจำนวนมากมายกว่า 80 คน  ตามที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้ แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ช่อง 3 จะปลดพนักงานออกจำนวนมากน้อยเพียงใด และจะปลดพนักงานฝ่ายข่าว ซึ่งนับว่า ช่อง 3 เป็นฝ่ายข่าวที่ใหญ่โตมาก ถึงขนาดเรียกกันว่าครอบครัวข่าวหรือไม่

แต่การปรับองค์กรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ก็คือผลกระทบจากความล้มเหลวของอุตสาหกรรมสื่อทีวีดิจิตอลทั้งระบบ ซึ่งเริ่มเห็นเมฆหมอกทะมึน มาตั้งแต่ผ่านปีแรก หลังจากไทยทีวี โยนผ้าขาวก่อนใคร จากนั้นทีวีดิจิตอลหลายช่องก็ทยอยล้มเป็นโดมิโน บางแห่งเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายใหม่ บางแห่งถูกเทคโอเวอร์โดยผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่

บางแห่ง ต่อต้านการเข้ามาของผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ อย่างแข็งขัน ถึงขนาดประกาศต่อสาธารณชนว่า มึงมา – กูไป แต่ครั้นมึงยึดอำนาจเบ็ดเสร็จสำเร็จได้จริงๆ กูก็ยังอยู่หน้าตาเฉย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่ก็เป็นเรื่องขำๆเรื่องหนึ่ง ในสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมสื่อ

กสทช.อาจไม่เคยยอมรับความจริงชัดๆว่า การเปิดประตู ให้ผู้ประกอบการทั้งหลายได้ช่วงชิงคลื่นความถี่ ด้วยราคาประมูลที่ไม่ได้สะท้อนภาพความเป็นจริง ณ เวลานั้น และคาดการณ์อนาคตสวยสดงดงาม คือหลุมพรางขนาดใหญ่ที่ล่อให้ตกลงไป ประกอบกับ นายทุนสื่อเองก็วาดวิมานในอากาศว่า ทีวีดิจิตอลจะทำกำไรมหาศาลให้กิจการ เป็นโอกาสทองที่ยินดีทุ่มเททุกสิ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งคลื่นความถี่

จนเวลาผ่านไปไม่นาน เค้าลางของหายนะก็ปรากฏขึ้น พูดได้เลยว่า ทีวีเกือบทุกช่องยกเว้น ช่อง 7 เวิร์คพอยด์ ช่อง 8 ที่เขายังมีของขายอยู่ ต่างประสบชะตากรรมโดยทั่วหน้า มีการปลดพนักงานออกจำนวนนับร้อยในทุกสถานี  ในขณะที่ คสช.ก็พยายามอุ้มทีวีดิจิตอลครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยวิธีการยืดลมหายใจออกไป

เช่นเดียวกับ กสทช.ที่เพิ่งยอมรับความจริงว่า ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ล่าสุด ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ ก็คิดหาวิธีอุ้มทีวีดิจิตอล ที่กำลังขาดอากาศหายใจ ด้วยหลากหลายวิธี เช่น ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์  เพื่อไปใช้ประกอบกิจการโทรคมนาคมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงคลื่นความถี่

สนับสนุนการดำเนินการของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในส่วนของค่าภาระอันเกิดจากการปฏิบัติตามประกาศ Must Carry จนถึงปี 2565 สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการออกอากาศผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล หรือค่า MUX เพื่อสนับสนุนผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัล 50% ของค่าเช่าโครงข่ายจนถึงปี 2565 สนับสนุนให้มีการสำรวจความนิยม หรือเรตติ้งของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัลที่ออกอากาศผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อสามารถนำเอาข้อมูลการสำรวจความนิยมรายการดังกล่าวไปใช้อ้างอิงเพื่อหารายได้ได้อย่างเป็นธรรม

การสนับสนุนเป็นตัวเงินให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ก็คือการให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนสื่อมวลชนของเอกชน ซึ่งรัฐทำไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 35 วรรค 5

ในขณะที่ผู้ประกอบการในท้องถิ่น เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อสาธารณะ ก็อยู่ในฐานะยากลำบากไม่ต่างกัน แต่คนเหล่านั้น อยู่ไกลเกินไปจากความช่วยเหลือ ตัวเล็กเกินไปที่ใครจะมองเห็น

ถ้าเปิดตัวเลขผลประกอบการของทีวีดิจิตอลมาดูกัน มีน้อยมากที่เห็นอนาคต ทีวีดิจิตอลส่วนใหญ่ ล้วนมีสถานภาพไม่ต่างไปจากซอมบี้ เป็นซากศพเดินได้ ไม่มีความจำ ไม่รู้เรื่องราวใดๆ ไม่เห็นอนาคต

เพื่อความเท่าเทียมกันในตลาดการแข่งขันเสรี อุตสาหกรรมสื่อมิใช่คำตอบของเศรษฐกิจประเทศทั้งระบบ ในตลาดเสรี แข่งขันสู้เขาไม่ได้ ก็ต้องยอมรับ ล่าถอยไป มิใช่เป็นตัวถ่วงความเจริญ ให้รัฐต้องแบกรับภาระเช่นนี้ ช่องไหนเข้มแข็ง มีความสามารถในการบริหารจัดการ มีความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภคข่าวสารที่เปลี่ยนไป คนที่จะสนับสนุนเขาคือคนดู มิใช่รัฐ รัฐมีหน้าที่เพียงส่งเสริมสนับสนุนให้คนเห็นคุณค่าของทีวีดิจิตอลที่มีงานคุณภาพและสร้างสรรค์เท่านั้น

นี่จึงเรียกว่าเป็นความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
 
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1208 วันที่ 7 - 13 ธันวาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์