
คนทำทีวี
อาจไม่ได้เข้าใจเรืองเรทติ้งในทุกแง่มุมทุกคน แต่พวกเขารู้ดีว่า
เรทติ้งสำคัญยิ่งในชีวิต เพราะถ้าทำทีวี ไม่มีคนดู หรือดูน้อย
เมื่อเปรียบเทียบกับทีวีช่องอื่นๆ ก็จะส่งผลกระทบถึงรายได้ของสถานี
และสุดท้ายคือสถานภาพการทำงาน เหมือนเรทติ้งเป็นอากาศ เขาไม่รู้ว่าอากาศหน้าตา
รูปร่างมันเป็นอย่างไร แต่ถ้าขาดอากาศหายใจก็ตาย
เนื่องเพราะเรทติ้ง คือตัววัดชนิดเดียว ที่คำนวณนับได้
สำหรับเอเยนซี่ในการซื้อโฆษณา ถ้าบอกว่าหนังสือพิมพ์จะอยู่รอดได้
ต้องมีโฆษณามากกว่า 70 % ทีวีก็ต้องมีโฆษณาในสัดส่วนที่เท่ากัน
หรือมากกว่า นี่ก็คือเป้าหมายเชิงธุรกิจของสื่อทีวี
ซึ่งบางครั้งก็ต้องรีดเรทติ้งเอาจากเนื้อหารายการ ข่าว
ที่มุ่งตอบสนองสัญชาติญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ มากกว่าความรับผิดชอบ
หากดูเฉพาะรายการข่าว เราก็จะเห็นสถานีที่ให้พื้นที่กับข่าวอาชญากรรม หรือข่าวชาวบ้าน
ชนิดเกาะติด ขุดคุ้ยเรื่องราวชีวิตของผู้เกี่ยวข้องในข่าวอย่างละเอียด
จะมีเรทติ้งสูง เพราะเรื่องราวเหล่านั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว
ข่าวอาชญากรรม เป็นข่าวที่สะท้อนความผิดปกติของสังคม เนื้อหา ข้อมูล ข่าวสาร
ที่เกี่ยวข้องกับข่าว มีความละเอียดอ่อนมากที่จะส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่น เช่น
การเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษและสื่อละเมิดบ่อยครั้ง คือ ข่าวการล่วงละเมิดทางเพศ
หรือการกระทำทารุณกรรม ข่าวเหล่านี้ ในเชิงคุณค่าข่าว ถือเป็นข่าวที่ปุถุชนสนใจ
หรือ human interest วิธีการเล่าเรื่องผ่านสื่อโทรทัศน์ที่มีทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียง
จึงมักมีรายละเอียดคล้ายเรากำลังดูละคร หรืออ่านนวนิยาย
เป็นละคร หรือนวนิยาย ที่ประกอบสร้างจากชีวิตจริง
ซึ่งอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ผู้ประกาศข่าวหรือนักเล่าข่าวหน้าจอ
มักเล่าเรื่องด้วยความพยายามให้มีสีสัน ให้คนดูได้รสชาติมากกว่าการดูข่าวเพียงชิ้นหนึ่ง
เรทติ้งจึงเป็นตัววัดความนิยมเชิงปริมาณ แปลว่า ความพึงพอใจ รสนิยม
เป็นตัวตัดสินมากกว่าที่จะบอกว่า ข่าวนั้น รายการนั้น มีคุณค่าให้คนจดจำ
เปลี่ยนความคิด ทัศนคติ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร
เมื่อมีทีวีสาธารณะเกิดขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่า
จะต้องผลิตรายการทางด้านข่าวสาร สารประโยชน์ทางด้านการศึกษา และสาระบันเทิง
ที่มีสัดส่วนอย่างเหมาะสม และมีคุณภาพสูง อีกทั้งต้องบริการข่าวสารที่เที่ยงตรง
รอบด้านสมดุล และซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ ในขณะเดียวกัน
ก็ให้คำนึงถึงการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง และเป็นธรรมของประชาชน
คำถามก็เกิดขึ้นว่า สื่อสาธารณะ ยังอยู่ในวงจรของคำว่าเรทติ้ง
ซึ่งเป็นการตอบโจทย์สื่อในเชิงพาณิชย์หรือไม่ คำตอบคือจะต้องมีคนดูอย่างทั่วถึง
คือจำนวนมาก ซึ่งอาจไม่ได้เรียกว่าเรทติ้ง คือไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้ตัวเลข
ไปแลกเปลี่ยนโฆษณา
เรทติ้งจึงมิใช่พระเจ้าของทีวีสาธารณะ แต่ทีวีสาธารณะก็ต้องผลิตเนื้อหาข่าว
รายการ ที่มีคนดูในจำนวนที่มากพอ และสามารถบอกได้ว่าข่าว รายการเหล่านั้นมีคุณค่าอย่างไร
มีความรับผิดชอบอย่างไร
ทีวีสาธารณะไม่จำเป็นต้องตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไหลไปตามกระแส
แต่ทีวีสาธารณะจะต้องเพียรพยายามในการให้ความรู้
สร้างการยอมรับในการมีอยู่ของสื่อสาธารณะ และสร้างพลังบวก
เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1218 วันที่ 22 - 28 กุมภาพันธ์ 2562)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น