วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

พรรค คสช. = พรรคพลังประชารัฐ

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

เมื่อนายอุตตม สาวนายน ถอนตัวออกจากการเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี คงเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียว ซึ่งแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น ที่เสนอชื่อหัวหน้าพรรค หรืออย่างน้อยหัวหน้าพรรค คือ 1 ใน 3 รายชื่อนายกรัฐมนตรี ย่อมปฎิเสธไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือผู้นำพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก้าวต่อไปคือนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ

ถึงแม้ในทางกฎหมาย ไม่ได้มีข้อห้ามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ แต่โดยมารยาททางการเมือง ในขณะที่ทุกพรรคต่างหาเสียงอย่างต้องระมัดระวังภายใต้กฎเหล็กของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรต้องทบทวนบทบาทต่อสาธารณะหรือไม่ ในงานไปปรากฎตัวในงานพิธีการต่างๆ ในสถานะนายกรัฐมนตรี แต่มีประชาชนมาเฝ้าแห่แหน แสดงการสนับสนุนหัวหน้า คสช.สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ในสถานะนักการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และยอมรับสถานะการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีจุดมุ่งหมาย ที่จะนำบ้านเมืองกลับสู่ความสงบ  แต่งและเปิดเพลงขอเวลาอีกไม่นาน ซ้ำๆจนคนไทยส่วนใหญ่จำได้

หัวหน้า คสช. ประกาศแนวทางต่อสาธารณชนว่า พวกเขาเข้ามา เพื่อเป็น “คนกลาง” ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง การแยกแบ่งคนไทยออกเป็นสีเหลิอง สีแดง สุดท้ายจะจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ผิดสัญญามาครั้งแล้วครั้งเล่า แม้แต่ครั้งล่าสุดที่ยืนยันว่าจะไม่เลื่อนเลือกตั้งที่กำหนดไว้ 24 กุมภาพันธ์ ออกไปอีก 

แต่เมื่อใกล้ถึงวันเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับละทิ้งสถานะ “คนกลาง” แต่กระโดดลงมาเล่นการเมือง ในฐานะผู้นำพรรคการเมืองโดยพฤตินัย กลายเป็นนักการเมือง ที่เป็นคู่ขัดแย้งของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม

ถึงแม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเรียนลัดเข้าสู่การเมืองอีกครั้ง โดยมีพรรคพลังประชารัฐ เป็นฐานเสียงสนับสนุน แต่โอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากนั้น ยากอย่างยิ่ง ถึงกระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังมีโอกาสสูงที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี จากเสียงสนับสนุนของ 250 เสียงสมาชิกวุฒิสภา ที่เขาตั้งมากับมือ

เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ที่จะกลายเป็นประเด็นร้อนหลังการเลือกตั้ง แต่นาทีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังต้องการคำอธิบายว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน หมายความว่าอย่างไร ในเวลาที่กลุ่มคน และพรรคการเมืองอย่างน้อย 2 พรรค ยื่นคำร้องให้ กกต.พิจารณายุบพรรคพลังประชารัฐด้วยเหตุผลนี้

แต่ถึงแม้ กกต.จะไม่เห็นว่าคำร้องนี้เร่งด่วน เหมือนกับการยุบพรรคไทยรักษาชาติ แต่สถานะรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจะเป็นรัฐบาลลูกผสมหลายพรรค ก็ง่อนแง่นยิ่ง ไม่แตกต่างไปจากที่จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตั้งพรรคและเป็นหัวหน้าพรรคสหประชาไทย เพื่อใช้ภาพประชาธิปไตยห่อหุ้มเข้าสู่การเลือกตั้ง

เสียงพรรครัฐบาลไม่ถึงกึ่งหนึ่ง นั่นเป็นเหตุให้ต้องหาพรรคผสม ที่ต่างต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ เกิดความวุ่นวาย จนรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ในที่สุดจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ต้องทำรัฐประหารยึดอำนาจตัวเอง ซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะเกิดเรื่องทำนองนี้ก่อนหน้านี้

คนรุ่นใหม่ อาจงุนงงสงสัยว่า เหตุใดต้องรัฐประหารตัวเอง รอดูหลังเลือกตั้งไม่นาน อาจมีคำตอบ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1218 วันที่ 22 - 28 กุมภาพันธ์ 2562)


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์