วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

สึนามี คนข่าว ! เจ้าของเริงร่า ลูกจ้างรันทด

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

บอนุญาตช่องทีวีดิจิทัล 7 ช่อง ที่คืน กสทช. กับปรากฎการณ์ลอยแพ ฝ่ายข่าวกว่า 70 ชีวิต ของช่อง GMM 25 ทำให้
คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมข่าว ตกงานทันทีนับพันคน ขณะที่เจ้าของจะได้รับค่าเยียวยา ราว 3 พันล้านบาท แปลว่า ถึงแม้จะไม่มีคลื่นไว้ทำมาหากินอีกต่อไป แต่ก็พอมีความหวัง

มีเพียงคนงานหรือลูกจ้างในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเท่านั้น ที่มองอนาคตแล้ว ยังต้องหวั่นไหว แม้ท้ายที่สุดบริษัทคงต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่ก็คงไม่มีทางใดที่จะได้รับค่าชดเชยการเลิกจ้าง มากกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด ตามคำร้องขอของนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.หรือตามแถลงการณ์ขององค์กรวิชาชีพสื่อ

เพราะเงินเยียวยา ก็ไม่ได้คุ้มกับการลงทุนที่จ่ายไป เป็นเรื่องปกติธรรมดาของธุรกิจ การจ่ายเพิ่มก็จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการมากขึ้น การที่ต้องจ่ายค่าชดเชยด้วยคำขอ มิใช่ด้วยสภาพบังคับตามกฎหมาย ย่อมเป็นเรื่องเลื่อนลอยอย่างยิ่ง ความหวังที่ลูกจ้างจะได้เงินก้อนโตเพื่อบรรเทาความเสียหาย จากค่าใช้จ่ายประจำต่างๆที่ไม่ได้หยุดไปตามภาวะการจ้างงาน ทั้งผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกจิปาถะ ก็คงยังเป็นเงาทอดทะมึนในชีวิต ที่ทางออกคงหาได้ไม่ง่ายนัก

แล้วเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ไม่มีใครพูดถึงความไม่พร้อมของ กสทช.ไม่มีการประเมินความเสี่ยงในภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป มีแต่ความฮึกเหิมมั่นใจ มีแต่ความฝัน และคำประกาศกับพนักงานว่า ทีวีดิจิทัล จะนำความโชติช่วงมาสู่ทุกคน

รวมทั้งตลาดแรงงานมหาศาล ของนักนิเทศศาสตร์รุ่นใหม่

ความตายของทีวีดิจิทัลวันนี้ ทำให้กลุ่มที่ตัดสินใจไม่ร่วมประมูลทีวีดิจิทัล เช่น กลุ่มโพสต์ และมติชน ที่ขอมีเพียงบทบาท รับจ้างผลิตเนื้อหา มองย้อนอดีตแล้ว ถือว่ามีวิสัยทัศน์ในการมองอนาคต ที่ไม่ลิงโลดกระโจนเข้าไปในทีวีดิจิทัล ซึ่งในตอนนั้นเป็นความฝันของกลุ่มธุรกิจสื่อ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่หลงผิดว่านี่คือบันไดหนีตายในยามที่สิ่งพิมพ์ซบเซา

การมาถึงของทีวีดิจิทัล ในสถานการณ์ที่ยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์หดหาย โฆษณาลดฮวบ ประกอบกับผลประกอบการของฟรีทีวี ที่สวนทางกับการถดถอยของรายได้หนังสือพิมพ์ ทำให้ผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ ดีดลูกคิดรางแก้ว แล้วเชื่อว่าทีวีดิจิทัล  จะเป็นสื่อที่ฉุดดึงพวกเขาขึ้นมาจากหล่มโคลนแห่งความสับสนและไร้ทิศทางได้

พวกเขาคิดว่านี่คือปราสาทแห่งความหวัง ที่จะสร้างความร่ำรวย และสนองความต้องการในการใช้สื่อทีวีดิจิทัล ทำข่าวและรายการที่สร้างสรรค์ ที่คิดฝันจะทำในตอนที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตงานให้เจ้าของสัมปทานทีวีเดิม แต่ในที่สุดปราสาทแห่งความหวังกลับกลายเป็นปราสาททราย

กิจการฝั่งทีวี ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี มีการลงทุนสร้างสตูดิโอ สถานที่ทำงานโอ่โถง พนักงานกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จำนวนไม่น้อย ถูกโยกย้ายไปทำทีวี ในขณะที่มีคนจำนวนน้อยอย่างยิ่งที่ถูกทิ้งให้เฝ้าหนังสือพิมพ์ แต่แล้วในที่สุดการลงทุนอย่างมหาศาล การจ้างงานด้วยอัตราค่าจ้างที่สูงสำหรับผู้บริหาร และคนหน้าจอ ก็ล้มครืน

กิจการล้ม คนไม่ล้ม ผู้บริหาร ล้วนกอบโกย สร้างกำไรจากราคาหุ้นตุนไว้เป็นทุน สร้างความมั่นคงในชีวิตต่อไปได้ แต่คนจำนวนมาก ที่อาจไม่ได้เป็นคนหน้าจอ ไม่มีสถานะเป็นคนดัง พวกเขาต่างต้องยอมก้มหน้ารับชะตากรรม เพียงเพราะความฝันลมๆแล้งๆของคนบางคน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1229 วันที่ 17 - 23 พฤษภาคม 2562)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์