หอนาฬิกาดูเหมือนจะเป็นแลนด์มาร์ก
หรือจุดหมายตาลำดับแรกที่เรานึกถึง นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยก็มักถามหาห้าแยกหอนาฬิกาเสมอ
รถม้าหลายคันพอแล่นมาถึงตรงนี้ ก็คาดเดาได้เลยว่าบรรดานักท่องเที่ยวคงต้องยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพแน่
ๆ
หอนาฬิกาไม่เพียงบอกเวลา
แต่ครั้งหนึ่งเคยเปรียบดังสัญลักษณ์ที่บอกถึงอารยะ
การสร้างหอนาฬิกามีจุดเริ่มต้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 4
ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้กรมขุนราชสีหวิกรมคิดแบบสร้างหอนาฬิกาขึ้น เพื่อใช้บอกเวลาแก่สาธารณชน
ลักษณะเป็นหอนาฬิกาแบบตะวันตก หน้าปัดมี 4 ด้าน สูง 10
วา โดยสร้างขึ้นที่ทิมดาบ (ที่พักของทหารรักษาการณ์ในเขตพระราชวัง) เนื่องจากเป็นตำแหน่งเดียวกับมุขเด็จพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ทว่าหอนาฬิกามาอยู่ในความสนใจของรัฐบาลสมัยจอมพล
ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศ ที่เรืองอำนาจในช่วงปี
พ.ศ. 2481-2487 และกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้งในปี พ.ศ. 2491
กระทั่งในปี พ.ศ. 2500 จึงถูกคณะรัฐประหารนำโดยจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ เข้ายึดอำนาจจนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศจนวาระสุดท้ายของชีวิต
บ้านเมืองในยุคจอมพล
ป. ก็อย่างที่เรารับรู้กันว่าเป็นยุคชาตินิยม มีการส่งเสริมกระตุ้นให้คนไทยพยายามทำตัวแบบอารยะประเทศ
รวมทั้งมีการก่อสร้างถาวรวัตถุตามแบบอย่างประเทศที่เจริญแล้ว
ซึ่งหอนาฬิกาก็ดูเหมือนจะสื่อถึงความเจริญเฉกเช่นประเทศตะวันตกได้อย่างชัดแจ้ง
ขณะเดียวกันการสร้างหอนาฬิกายังเป็นประโยชน์แก่ผู้คนในช่วงที่ยังไม่มีนาฬิกาใช้อย่างแพร่หลาย
อ้างถึงราชกิจจานุเบกษา
พ.ศ. 2497
กล่าวถึงรัฐบาลมีนโยบายให้ทุกจังหวัดสร้างหอนาฬิกาประจำเมืองไว้เพื่อให้ประชาชนผูกติดกับเวลา
เป็นเครื่องเตือนใจในการทำงาน ซึ่งทางเทศบาลเมือง 6 แห่งก็ได้ขานรับและสร้างหอนาฬิกาที่นับเป็นหอนาฬิกาในยุคแรก
ได้แก่ เทศบาลเบตง ยะลา เทศบาลเมืองแพร่ เทศบาลเมืองสมุทรปราการ เทศบาลเมืองอัมพวา
เทศบาลเมืองพัทลุง และเทศบาลนครธนบุรี
ทั้งนี้
ทางกระทรวงมหาดไทยจะได้เร่งสร้างต่อไป สำหรับส่วนที่กำลังสร้าง
แต่ยังไม่เสร็จมีอีก 13
เมือง หนึ่งในนั้นคือเมืองลำปาง
ในหนังสือ
2 ฟากแม่น้ำวัง 2 ฝั่งนครลำปาง ซึ่งไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น เป็นบรรณาธิการนั้น
ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า หอนาฬิกาเมืองลำปางก่อสร้างในปี พ.ศ. 2497-2498 ช่วงจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี ออกแบบโดยนายทองจูน สิงหกุล
หัวหน้ากรมโยธากรุงเทพฯ งบประมาณการก่อสร้าง 120,000 บาท
ความสูง 11 เมตร ทว่าหากก่อสร้างให้ตรงตามแบบจริง ๆ
จะต้องใช้เงินสูงถึง 180,000 บาท
สรุปจึงต้องลดความสูงลงเหลือ 10 เมตร เพื่อให้อยู่ในวงเงินจำกัด
หอนาฬิกาเมืองลำปางยืนหยัดผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน
กระทั่งทางเทศบาลนครลำปางมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ข่วงนคร (ห้าแยกหอนาฬิกา)
เมื่อ 4
ปีก่อน นับเป็นการเปลี่ยนโฉมครั้งสำคัญของหอนาฬิกาเลยก็ว่าได้
มีการขยายฐานโดยรอบให้กว้างขึ้น
ส่งผลให้หอนาฬิกาดูโดดเด่นกว่าที่เคย
มีการหุ้มทองจังโกใหม่บนเรือนยอดซุ้มด้านหน้าทั้ง 4 ทิศ ที่สำคัญ
มีการเปลี่ยนนาฬิกามาเป็นยี่ห้อ BODET จากประเทศฝรั่งเศส
ความพิเศษของหอนาฬิกาในช่วงแรกหลังการเปลี่ยนแปลงก็คือ
มีเสียงดังบอกเวลาเป็นระยะ แต่ภายหลังได้ตัดเสียงไป
เนื่องจากรบกวนชาวบ้านในละแวกใกล้
โดยเฉพาะยามดึกดื่นค่อนคืนที่เมืองลำปางช่างเงียบสงัด เสียงดังจากหอนาฬิกาจึงไม่ใช่เสียงที่น่ารื่นรมย์นัก
กรณีนี้เช่นเดียวกับวงเวียนไก่ขาวบริเวณสะพานพัฒนาภาคเหนือ
ซึ่งในช่วงแรกมีเสียงไก่ขันเป็นระยะเช่นกัน แต่ก็ต้องตัดเสียงไปเพราะรบกวนชาวบ้าน
หอนาฬิกายังมีความเที่ยงตรงแม่นยำตลอดอายุการใช้งาน
ไม่มีการคลาดเคลื่อนเหมือนนาฬิกาข้อมือ เรียกได้ว่าตั้งครั้งเดียว เดินไปตลอดไม่มีหยุด
แม้เมื่อไฟดับ หอนาฬิกาซึ่งใช้ไฟฟ้าในการควบคุมก็จะดับ แต่ครั้นไฟมา
เข็มนาฬิกาที่หยุดเดินไปเมื่อตอนไฟดับจะค่อย ๆ เร่งเดินไปตรงตำแหน่งเวลาปัจจุบัน
แล้วเดินต่อไปตามปกติ ไม่เป็นภาระให้ต้องไปตั้งกันใหม่
ทุกวันนี้ส่วนการโยธา
เทศบาลนครลำปาง เป็นฝ่ายดูแลบำรุงรักษาหอนาฬิกาของเรา
ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏว่ามีปัญหาอะไร หรือหากมีปัญหา
ส่วนการโยธาจะทำหน้าที่ตรวจสอบในเบื้องต้นก่อน ถ้าแก้ไขได้ก็จะแก้ไขทันที
จะว่าไปแล้ว
หอนาฬิกานับเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของเมืองด้วยเหมือนกัน เห็นภาพหอนาฬิกาเมืองต่าง ๆ
จากอินเตอร์เน็ตแล้วต้องทึ่ง เพราะต่างก็สวยงาม ดูเป็นตัวของตัวเอง
ไม่ว่าจะออกแนวเท่ ๆ อย่างของตรัง แนวอาร์ต ๆ ต้องยกให้ราชบุรี
แนวโมเดิร์นสุดล้ำของสมุทรปราการ แนวชิโน-โปรตุกีสสง่างามของภูเก็ต
ส่วนหอนาฬิกาเมืองลำปางเราก็สวยคลาสสิกไม่น้อยหน้าใคร แม้ไม่ยิ่งใหญ่อลังการเท่าของเชียงรายที่ออกแบบใหม่โดยอาจารย์เฉลิมชัย
โฆษิตพิพัฒน์ ก็เถอะ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น