วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

หนุนปลูก 'ไผ่' รายได้งาม ติวเข้มแปรรูปเพิ่มค่า

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ไม่เพียงเพราะ “ไผ่” เป็นไม้ที่เติบโตเร็ว ช่วยฟื้นฟูให้มีพื้นที่ป่ากลับมาดังเดิมในเวลาอันสั้นแล้ว ทุกวันนี้ไผ่ กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มความต้องการของตลาดสูงขึ้นต่อเนื่อง เกษตรกรหลายคนเริ่มหันมาทำสวนไผ่ สร้างรายได้ที่มั่นคงกันนักต่อนัก

เพราะคุณประโยชน์ของไผ่รวกส่วนล้วนสร้างรายได้ไม่จบสิ้น ตั้งแต่ ราก เอาไปทำยา หน่อไม้ ทำอาหาร ลำต้น ทำตะเกียบ ไม้จิ้มฟัน ไม้เสียบลูกชิ้น เสื่อ งานศิลปะหัตกรรม โครงสร้างเสริมคอนกรีต ไม้ค้ำยัน ทำถ่าน ทำน้ำส้มควันไม้ (Vinegar) ทำหลังคา เฟอร์นิเจอร์ ทำพื้น ทำเชื้อเพลิง ทำยา ทำผงโพลิเมอร์ ทำไม้อัด แท่งไม้ ทำเส้นใยและอื่นๆ ใบไผ่ ทำเป็นอาหารสัตว์ เม็ดสี ยา เครื่องดื่ม ชา อาหารและอื่นๆ ที่เหลือเป็นกิ่งที่ไม่ต้องการก็เอาไปทำ เชื้อเพลิง หรือทำถ่านคุณภาพสูง  

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง เผยว่า ในลำปางบ้านเรานั้น สภาเกษตรกรจังหวัดลำปางได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไผ่ครบวงจรมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2529  ทั้งจัดฝึกอบรมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ไผ่พืชเศรษฐกิจใหม่ เพื่อสร้างรายได้และการฟื้นฟูป่า” ซึ่งจัดร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ และจัดฝึกอบรมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มมูลค่าไม้ไผ่เพื่อเป็นบ้านที่อยู่อาศัย มีผู้สนใจและเข้ารับการฝึกอบรมไปแล้วกว่า 1,000 คน เพื่อเชื่อมโยงกับแนวทางยุทธศาสตร์ของจังหวัด : อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการและมีส่วนร่วม และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๑ สภาเกษตรกรแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ (๓) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร การพัฒนาเกษตรกรรม ให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

ในปีงบประมาณนี้ ( พ.ศ.2562 ) การส่งเสริมเกี่ยวกับไผ่ พัฒนาไปอีกขั้นโดยการแปรรูปไม้ไผ่ในเชิงอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกร ให้เกิดการต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรม เช่น การทำโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ การทำโรงเรือนเพื่อปลูกพืช การทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากไผ่และตลาดของไผ่

สภาเกษตรกรจังหวัดลำปางได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการแปรรูปไม้ไผ่เพื่อเพิ่มมูลค่าในเชิงอุตสาหกรรม โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ ร่วมมือกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 อบรมการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ เพื่อ ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในการปลูก การแปรรูป ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าไม้ไผ่แบบครบวงจรในช่วงเดือน พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

เน้นให้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมได้เรียนรู้ทฤษฏีต่างๆ เช่น ประโยชน์ของไผ่ การจัดการที่ดิน/การปลูกไผ่ในระบบวนเกษตร และการต่อยอดสู่อุตสาหกรรม การทำโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ การทำโรงเรือนเพื่อปลูกพืช การทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งตลาดของไผ่ จากนั้นก็เรียนรู้เรื่องเทคนิคกระบวนการ แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า  โดยให้เข้าใจถึงการแช่น้ำยาไผ่เพื่อความคงทน ป้องกันแมลงกัดกินเนื้อไม้ไผ่ และให้ลงมือทำ โครงสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ และ ปลูกพืช จากนั้นก็ อบรม การทำ เฟอร์นิเจอร์ขั้นพื้นฐาน รวม 2  หลักสูตรละ 50 คน  

“การอบรมทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในทางการพัฒนา เพราะคนที่เข้าร่วมฝึกอบรมกับเราบางส่วนมีความรู้เรื่องช่างมาบ้าง บางส่วนไม่เป็นเลย แต่มาเรียนรู้ลงมือทำ ร่วมกันเกิดการเรียนรู้ และเกิดแรงบันดาลใจว่า ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ง่ายๆ ทำรายได้ ดีกว่าขายไผ่เป็นลำ และอย่างน้อยก็มีช่างหน้าใหม่ ที่สร้างอาชีพเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ในกลุ่มตลาดทั่วไป ส่วนตลาดบนที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ทักษะสูงต้องพัฒนาต่อยอดในอนาคต” นายประพัฒน์กล่าว

จากข้อมูลในกลุ่มค้าขายไม้ไผ่ ปัจจุบัน มีความต้องการใช้ไผ่ซางนวล ไปใช้ในอุตสาหกรรมตะเกียบ ไม่น้อย 40 ล้านเล่ม ในลำปางมี โรงงานตะเกียบ 200 กว่าโรงงาน แต่ละโรงงานใช้ปีละ ไม่ต่ำกว่า 1 -2 แสนลำ   นอจากนั้นในอุตสาหกรรมก่อสร้างทั่วประเทศ ยังซื้อไผ่ไปจากลำปาง เป็นหลัก ในอำเภองาว แจ้ห่ม เสริมงาม เถิน รวมถึงไผ่รวก ที่ใช้เป็นไม้หลัก ปักเลนเกษตรกรรมเลี้ยงสัตว์ทะเล สามารถขายได้ ราคา เมตรละ 1 บาท เกษตรกรที่ปลูกไผ่รวกตัดขายได้ ได้เกือบ 1000 ลำ ต่อไร่ ถือเป็น ช่องทางรายได้ที่ยั่งยืนกว่าการทำพืชไร่  ทั้งนี้ วงการไผ่ และหน่วยงานราชการด้านเกษตรกำลังให้ความสนใจ ดันไผ่เป็นอีกหนึ่งไม้เศรษฐกิจของลำปางเช่นกัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1231 วันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์