วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ไร่ช่างเอกยกระดับ 'หอมเขลางค์' สับปะรดลำปางเพิ่มค่าขึ้นโต๊ะ

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

“สัปปะรดคือเมนูจานสุดท้ายบนโต๊ะอาหาร ทำอย่างไรให้ เกษตรกรลำปาง ขายสับปะรดขึ้นโต๊ะอาหารแทนขายเข้าโรงงาน”

ประโยคธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา ของคนปลูกสัปปะรดปลอดภัย จาก “ไร่ช่างเอก” ผู้ผันตัวเองจากช่าง มาเป็นเกษตรกรผู้ปลูกสัปปะรด ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง ลำปาง แหล่งปลูกสัปปะรดป้อนโรงงานสัปปะรดกระป๋องอันดับสองของประเทศไทยในอดีต

การขายสับปะรดเข้าโรงงาน บางปีต้องพ่ายแพ้ต่อปัญหาราคาตกต่ำ ขณะที่ตลาดบริโภคผลสดยังไม่เคยตาย ในระยะสองสามปีที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกสัปปะรดลำปาง เริ่มพัฒนาไปสู่การทำผลผลิตเชิงคุณภาพ เป็นสับปะรดปลอดภัยไม่มีสารเคมี เพื่อเข้าสู่ตลาดขายผลสดอย่างจริงจัง ซึ่งการขายสัปปะรดลำปางยังไม่มีสายพันธุ์เฉพาะที่รู้จักกันว่าเป็นสัปปะรดจาก “ลำปาง” ฉะนั้นการค้นหาจุดขายทางการตลาด และการสร้างแบรนด์จึงเกิดขึ้นเพื่อ สร้างชื่อ เป็นหนทางของการพัฒนาดังกล่าว

 

ช่างเอก กฤษณะ สิทธิหาญ เล่าว่า หลังจากที่ตนเองหันมาทำไร่สับปะรดของครอบครัว โดยศึกษาหาความรู้เทคนิคการเกษตรมาผสมกับเทคนิคการเป็นช่าง พัฒนาเครื่องมือทำสวนสับปะรดปลอดสารเคมี มาตั้งแต่ปี 2553 ระยะเวลาเกือบ 10 ปี ทำให้เขามีวิธีการทำผลิตสัปปะรดคุณภาพขายได้ราคาสูงได้สำเร็จ แต่ก็ยังค้นหาแนวทางสายพันธุ์ที่ดี กระทั่งได้เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ล้านนา ลำปาง ซึ่งมีผลงานวิจัยในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสับปะรดสายพันธุ์ปัตตาเวียซึ่งเป็นสับปะรดผลใหญ่ มีน้ำมาก  ผสมกั พันธุ์ควีน ซึ่งเป็นสายพันธุ์เนื้อแห้ง เข้าด้วยกัน แต่ผลงานวิจัยยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์

ผลพวงจากการพัฒนาครั้งนี้ เกิดสับปะรดสายพันธุ์ใหม่โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ให้ชื่อว่า “หอมเขลางค์” ข้อดีคือ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สามารถสร้างต้นพันธุ์ ได้เป็น 10,000 ต้นจากสัปปะรดเพียงลูกเดียว

“ผลงานวิจัยที่ทาง มทร.ทำไว้มันดีมาก เมื่อผมรวบรวมเกษตรกรผู้ปลูกเป็นกลุ่มวิสาหกิจแล้วขอนำผลงานวิจัยที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ คือทำลองเอาต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเยื่อ ทดลองปลูก ปรากฏว่าได้ผลผลิตดี ข้อดีคือใบไม่ค่อยมีหนาม รสชาติดี เมื่อปลูกแบบไร่สารเคมียิ่งมีรสชาติดีมากๆ ขนาดผลโต ขายได้ราคา เราจึงมีเครือข่าย วิสาหกิจเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแม่วัง เกิดขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อเป็นผู้ทำแล็ปชุมชน บริการเพาะเนื้อเยื่อพันธุ์หอมเขลางค์ ให้กับสมาชิกวิสาหกิจด้วยกัน”

เกิดอาชีพใหม่ “โรงเพาะชำต้นกล้าสับปะรด”

ช่างเอกบอกว่า เมื่อการพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพตามเป้าหมายแล้ว จากนี้ไปเป็นเรื่องของการทำตลาดเน้นขายผลสดส่งเข้า ห้าง ร้านอาหาร และขายปลีก กลุ่มตลาดเกษตรกรปลอดภัย

“ในปีหน้า เมื่อ สัปปะรด “หอมเขลางค์” เริ่มติดตลาด และขยายตัวเพิ่ม อาชีพใหม่คือเกษตรกรผู้ทำ “โรงเพาะชำต้นกล้าสับปะรด” ก็เติบโตตามขึ้นมาเช่นกัน ขณะนี้เรามีสมาชิก 30 ราย ทำโรงเรือนอนุบาลต้นกล้า รองรับพื้นที่ปลุกของสมาชิกวิสาหกิจด้วยกันเอง พื้นที่ 1 ไร่ ซื้อต้นกล้าประมาณ 1 หมื่นต้น คนทำโรงอนุบาลต้นกล้าขายต้นละ 1-2 บาท ผู้สูงอายุก็ทำได้ ไม่ต้องเป็นคนปลูกในแปลง แต่ทำต้นกล้า ก็สร้างรายได้พออยู่พอกินสบาย

 

“ขายสัปปะรดออนไลน์”

นอกเหนือจากการ ทำตลาดแบบมีหน้าร้านในตลาดเกษตรปลอดภัย ทั้งตลาด วีมาร์เกต เช้าวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แถวโรงเรียนอนุบาลลำปาง  หรือตลาดเกษตรกร ที่สำนักงานเกษตรอำเภอเมือง ทางไปราชภัฎลำปาง รวมถึงการออกร้านในงานกิจกรรมระดับจังหวัด ในราคา กก.ละ 15-20 บาทแล้ว “ช่างเอก” ยังหันมาใช้เทคนิคตลาดออนไลน์ จากเฟซบุ๊ค และ เครือข่ายออนไลน์กลุ่มเกษตรปลอดภัยต่างๆ โดยขายส่ง เป็นกล่อง ราคา 300 บาท  1 กล่องมีประมาณ  7-8 ลูก รวมค่าส่งถึงบ้านแล้ว เฉลี่ย กก.ละ 50   บาท ซึ่งถูกกว่า ซื้อสัปปะรดผลสดจากตลาดในกรุงเทพ

“ตอนนี้ในกลุ่มวิสาหกิจ สัปปะรดแปลงใหญ่ ตำบลบ้านเสด็จเรามีความหวังใหม่ ว่า แนวทางการทำสับปะรดคุณภาพ ปลอดสารเคมีเป็นหนทางรอดที่มีการแข่งขันน้อย ผมค้นพบว่า การทำของดี ไม่จำเป็นต้องขายแพง แต่ทำให้ลูกค้าซื้อซ้ำเป็นลูกค้าประจำ ขยายวงเพิ่มขึ้น  ในเมื่อสัปปะรดมักจะเป็นเมนูสุดท้ายบนโต๊ะอาหาร ในบ้าน ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรมต่างๆ สับปะรด “หอมเขลางค์” หวังจะได้เป็นตัวเลือกสำคัญของเมนูผลไม้ และส่วนประกอบของเมนูทำขนม ที่สร้างชื่อเสียงให้กับลำปาง”

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนเส้นทางจากขายโรงงาน ไปสู่ผู้บริโภคผลสด ไม่ใช่เพียงแค่ฝัน แม้จะเป็นกลุ่มริเริ่มเล็กๆ แต่ผลงานนั้นยิ่งใหญ่ อย่างน้อย ลำปางก็มีสายพันธุ์สัปปะรดเป็นของตัวเอง ที่กำลังอยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชกับกระทรวงการเกษตร  อีกไม่นานชื่อ “หอมเขลางค์” สับปะรดลำปางระบือไกล

เรื่อง/ภาพ ศชากานท์ แก้วแพร่

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1235 วันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์