วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

มหัศจรรย์ตลาดรถไฟ

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

วามวุ่นวายสับสน เรื่องตลาดรถไฟนครลำปาง ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้ให้เช่า กับเทศบาลนครลำปาง เป็นความมหัศจรรย์เรื่องหนึ่ง ที่สัญญาเช่าสิ้นสุดไป 3 ปีที่แล้ว ซึ่งตามกฎหมายเมื่อสิ้นสุดกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ ฝ่ายผู้ให้เช่าไม่ต้องบอกกล่าวใด ๆ ก็รู้กันว่า รฟท.ก็นำที่ดินมาจัดการใช้ประโยชน์ ฝ่ายผู้เช่าก็ไม่มีสิทธิที่จะแสวงหาผลประโยชน์ในที่ดินนั้นอีก

ถ้าเช่นนั้น เมื่อสิ้นสุดกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ ก็แปลว่าเป็นการเช่าที่ไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด จะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้

แปลกอย่างยิ่งที่ทั้ง รฟท.และเทศบาล ยังทำประหนึ่งว่าเป็นคู่สัญญากันอยู่ โดยเทศบาลยังเรียกพ่อค้า แม่ค้าในตลาดรถไฟไปประชุม และต่อสัญญาเช่าช่วงให้ครั้งละ 3 ปี อีกทั้งมีการวัดพื้นที่ และขอขึ้นค่าเช่าอีกราว 50 % รฟท.ก็ไม่ได้แสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่เช่า

เรื่องจริงเป็นอย่างไร จะฟังความข้างไหน ก็ยังไม่สำคัญเท่า หากสัญญาเช่าระงับไปแล้ว คนของเทศบาลยังไปจัดเก็บค่าเช่าปกติ ทั้งเป็นค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น และไม่มีการจ่ายค่าให้ รฟท.หมายความว่า อาจมีกรณีทุจริตคอรัปชั่นในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง     

ล่วงเลยเวลามานาน รฟท.มีหนังสือถึงนายกิตติภูมิ นามวงศ์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินสถานีรถไฟลำปาง แจ้งเตือนให้เทศบาลนครลำปางชำระค่าเช่า ค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมเป็นเงิน 1,762,668 บาท แต่เทศบาลนครลำปาง เมื่อได้รับหนังสือแล้วเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 มิได้ชำระค่าเช่า ค่าต่างๆ ให้ครบถ้วน ถือว่าเทศบาลฯไม่ประสงค์ที่จะเช่าอีกต่อไป ดังนั้นจึงขอบอกเลิกสิทธิการเช่าที่ดินดังกล่าวกับเทศบานครลำปาง นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2562 เป็นต้นไป

ขอให้เทศบาลฯ นำเงินค่าเช่า ค่าต่างๆ คือ  1) ค่าเช่าปีที่1 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2559 ถึง 31 ส.ค. 2560 เป็นเงิน 559,096 บาท 2) ค่าเช่าปีที่2 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560 ถึง 31 ส.ค. 2561 เป็นเงิน 587,065 บาท  3) ค่าเช่าปีที่3 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2561 ถึง 31 ส.ค. 2562 เป็นเงิน 616,047 บาท  รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,762,568 บาท ไปชำระที่ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน การรถไฟฯ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ส.ค.62

นอกจากนั้น ภายในวันที่31 ส.ค. 62 หากไม่ดำเนินการภายในกำหนด การรถไฟฯ จะใช้สิทธิดำเนินการฟ้องขับไล่เรียกค่าเสียหายจากเทศบาลต่อไป

 ในขณะที่นายกิตติภูมิ นามวงศ์ นายกเทศมนตรี ต้องการยกเลิกสัญญาและไม่ยินยอมชำระค่าเช่า ค่าใช้จ่ายต่างๆให้กับการรถไฟ โดยมีการทำหนังสือถึงผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า อายุสัญญาเช่าได้สิ้นสุดตั้งแต่ 31 ส.ค. 59 ตามบันทึกในสัญญาเช่าที่ดินเลขที่ 901590007(ครั้งที่สิบเอ็ด) ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2559 เมื่อการรถไฟฯไม่ได้พิจารณาต่ออายุสัญญาเช่าให้กับเทศบาลฯ และเทศบาลก็ไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่เช่าดังกล่าว นับแต่วันที่ครบสัญญาเช่า จึงมีผลให้สัญญาเช่าดังกล่าวสิ้นสุดลงและเมื่อสัญญาเช่าในสัญญาสิ้นสุดลง กองคลังเทศบาลก็ได้หยุดดำเนินการเก็บค่าเช่าที่ในพื้นที่ตามสัญญาและไม่ได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในสัญญาเช่าอีกต่อไป

หากฟังความด้านนายกิตติภูมิ ก็แปลว่า เทศบาลยังต้องชำระเงินค่าเช่าที่ดินจำนวน 5 แสนกว่าบาท ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาของสัญญาเช่า หลังจากหมดสัญญาแล้ว ก็ไม่ได้ทำสัญญาใหม่อีก รฟท.จะมาเรียกร้องค่าเช่าได้อย่างไร เพราะสัญญาเช่าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ

แต่เหตุใด ในหนังสือทวงถามของ รฟท.ยังเรียกเงินหลังจากสิ้นสุดสัญญาแล้วว่า เป็น “ค่าเช่า” ซึ่งถ้าไม่ได้เช่า ไม่มีหลักฐานเอกสารการเช่าแล้วก็ไม่ต้องจ่าย แต่คำถามก็คือว่า พ่อค้าแม่ค้าในตลาดยังยืนยันว่าจ่ายค่าเช่าให้เทศบาลในปีที่เทศบาลไม่มีสิทธิให้เช่าช่วงแล้ว

หากฟังเฉพาะข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เรื่องราวข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ กับองค์กรบริหารท้องถิ่น เทศบาลนครลำปางครั้งนี้ หากไม่มีเงื่อนงำ ก็มีความสับสนในเรื่องสัญญากันอยู่ แต่สุดท้ายคนที่รับชะตากรรมก็คือพ่อค้าแม่ค้าตลาดรถไฟ ที่ต้องจ่ายเงินค่าเช่าไป แล้วอาจถูกลอยแพ หาคนรับผิดไม่ได้ในที่สุด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1239 วันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์