วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

สิ้นสุดระยะทาง แต่ไม่สูญสิ้นความเป็นเนชั่น

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ใบไม้อีกใบหนึ่งก็ร่วงหล่นลงสู่ผืนดิน ตามวัฎจักรของสื่อสิ่งพิมพ์ที่โรยรา และทยอยดับสิ้นกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้ เป็น The Nation หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวัน 1 ใน 2 ฉบับของประเทศไทย ที่ยืนยงมาถึงวันนี้ ครบรอบ 48 ปี ความตายของเดอะเนชั่น จึงเป็นความตายที่ทรงคุณค่าและมีความหมายที่ควรจดจารไว้

ในฐานะที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเนชั่น ทั้งเนชั่นฐานบัญชาการใหญ่ที่กรุงเทพ และเนชั่นที่ลำปางในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเนชั่นคนหนึ่ง มีบางเรื่องราวที่ต้องการเล่าสู่กันฟัง อย่างน้อยก็เป็นกรณีศึกษาของแวดวสื่อมวลชน ที่กำลังละทิ้งสื่อดั้งเดิม และมุ่งทำตัวให้กลมกลืนกับสื่อยุคดิจิตอล ด้วยความเชื่อว่า นั่นคืออนาคต และความอยู่รอด

กลุ่มเนชั่น เริ่มจากธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ด้วยการวมตัวกันของนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มหนึ่ง นำโดยนายธรรมนูญ มหาเปารยะ นายสุทธิชัย หยุ่น และ ม.ร.ว.สุนิดา กิติยากร ทำหนังสือพิมพ์ชื่อ “The Voice of The Nation” โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการผูกขาดกิจการหนังสือพิมพ์ของต่างชาติ เริ่มตีพิมพ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2514 โดยผู้ก่อตั้งประกาศจุดยืนว่า “อิสรภาพในการนำเสนอข่าวและกล้าวิพากษ์วิจารณ์โดยปราศจากอคติใดๆ”

หลังจากก่อตั้ง 1 ปี บริษัทได้เปิดตัวหนังสือในเครืออีก 1 ฉบับ คือ “BUSINESS REVIEW” เป็นนิตยสารภาษาอังกฤษรายเดือน มีเนื้อหาสาระและเรื่องราวทางด้านธุรกิจ เพื่อกลุ่มเป้าหมายนักธุรกิจและนักบริหาร ฉบับแรกวางจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายน 2515

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2530 บริษัทได้ออกหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันภาษาไทย ในชื่อ “กรุงเทพธุรกิจ” ซึ่ง “จอกอ” คือ 1 ในกรุงเทพธุรกิจยุคแรก จากนั้นได้จัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น นิตยสารกรุงเทพธุรกิจสุดสัปดาห์ เนชั่นสุดสัปดาห์ เนชั่นจูเนียร์ หนังสือพิมพ์คิดนิวส์ หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์สำหรับเด็ก

นิตยสาร จุดประกาย Ent คู่มือการเตรียมความรู้สู่มหาวิทยาลัย เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับกลุ่มเนชั่น รวมทั้งเป็นผู้ผลิตและขัดจำหน่ายหนังสือการ์ตูนภาษาอังกฤษ - ไทย หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น ภายใต้ลิขสิทธิ์ของวอลท์ ดิสนีย์ และสำนักพิมพ์หลายแห่งในประเทศญี่ปุ่น

ในปี 2534 กลุ่มเนชั่นได้เริ่มขยายบริการข่าวสารไปยังสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดยไม่มีการลงทุน อีกทั้งไม่มีเป้าหมายในเชิงธุรกิจ ทั้งนี้สื่อวิทยุเริ่มจากรายการสรุปและวิเคราะห์ข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซีย ขณะที่สื่อโทรทัศน์เริ่มจากการจัดรายการพิเศษ วิเคราะห์วิกฤตการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซียเช่นเดียวกัน ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อสมท.

นั่นเป็นจุดเริ่มต้น ก่อนที่กลุ่มเนชั่น จะขยายไปสู่การทำรายการข่าวและวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์หลายช่อง หลายคลื่นความถี่

สุทธิชัย หยุ่น อธิบายว่า การขยายบทบาทไปยังสื่ออื่นๆ ไม่ได้ต้องการขยายฐานธุรกิจจากสื่อหนังสือพิมพ์ไปยังสื่อวิทยุและโทรทัศน์ให้ครบวงจร แต่ความตั้งใจแต่แรกมาจากความเป็นนักหนังสือพิมพ์ ที่ต้องการเห็นการพัฒนาคุณภาพข่าววิทยุ และโทรทัศน์ โดยอาศัยช่วงจังหวะที่ผู้บริหารสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยเชิญไปดำเนินรายการวิทยุในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย เนื่องจากมีการเสนอข่าวนี้ทุกวัน แต่ไม่มีใครอธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

และความมุ่งมั่นตั้งใจของสุทธิชัย หยุ่น ก็เห็นภาพความเข้มข้นในเนื้อหาของข่าว วิทยุและโทรทัศน์ที่ใกล้เคียงกับหนังสือพิมพ์มากขึ้น และดีเอ็นเอความเป็นข่าวในแบบเนชั่น ก็ปรากฎชัดเจนในเวลาต่อมา แม้ไม่บอกว่าเขาคือเนชั่น แต่ความชัดเจน ความกล้าหาญในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม ผู้มีอำนาจ อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่หวั่นเกรงอิทธิพลใดๆ ก็บอกอยู่ในตัวว่า นี่คือสายเลือดเนชั่น

แม้วันนี้คนที่นั่งหน้าจอเนชั่น ยังประกาศตัวว่าเป็นเนชั่น แต่เขาอาจไม่ใช่เนชั่นอีกต่อไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1236 วันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์