วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

วันผู้พิทักษ์ป่าโลก วันธรรมดาที่ควรสำคัญทุกวัน



เราไม่สามารถนำพวกเขาเหล่านั้นกลับมาได้ แต่เราสามารถแสดงความเคารพและไม่ลืมเลือนความเสียสละของพวกเขา

วันที่ 31 กรกฎาคมเป็นวันผู้พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) ซึ่งก็คือ วันที่ระลึกถึงผู้พิทักษ์ป่าที่บาดเจ็บและเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่

คำว่า Ranger หมายถึง ผู้คุ้มครองป่าของราชวงศ์อังกฤษในศตวรรษที่ 14 ทำหน้าที่ปกป้องที่ดินของกษัตริย์จากการล่าสัตว์ กระทั่งถึงทุกวันนี้ ผู้พิทักษ์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วโลกได้ส่งต่อภารกิจในการปกป้องผืนป่ามาอย่างต่อเนื่อง พวกเขาเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องทรัพยากรป่าไม้จากการบุกรุก โดยการบังคับใช้กฎหมาย กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน การดับไฟป่า การดำเนินการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย และงานด้านอื่น ๆ อีกมากมาย

ในการประชุม World Congress Ranger ปี ค.ศ. 2006 ที่สกอตแลนด์ ผู้เข้าร่วมประชุมจากสมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศ (International Federation Ranger-IRF) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า ได้ลงมติให้วันที่ 31 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันผู้พิทักษ์ป่าโลก โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 ในวันผู้พิทักษ์ป่าโลกครั้งแรกนั้น ได้มีการรวบรวมเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิทักษ์ป่าทั่วโลกมาจัดฉายเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Thin Green Line

ทั้งนี้ สมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศได้ร้องขอให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งสมาชิกสมาพันธ์ฯ หน่วยงานป้องกันพื้นที่คุ้มครอง ผู้ทำหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกคน รวมไปถึงผู้ให้การสนับสนุนผู้พิทักษ์ป่าทุกองค์กร ได้จัด หรือเข้าร่วมในกิจกรรมที่ตระหนักถึงการทำหน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่า โดยระบุว่า กิจกรรมที่เรา หรือองค์กรสามารถทำได้เนื่องในวันผู้พิทักษ์ป่าโลก

ในปีนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดงานที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีการมอบโล่เกียรติคุณและทุนช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ 16 นายทั่วประเทศ รวมถึงระลึกถึงวีรกรรม ความเสียสละและความทุ่มเทของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การบุกรุกพื้นที่ป่าทวีความรุนแรงขึ้น จากการใช้อาวุธและเครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเสี่ยงขณะปฏิบัติหน้าที่ จึงได้มอบยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ วิทยุสื่อสาร 3,000 เครื่อง จีพีเอส 1,600 เครื่อง รถบรรทุกขนาด 1 ตัน จำนวน 126 คัน และเสื้อเกราะอ่อน 2,695 ตัว พร้อมทุนช่วยเหลือผู้บาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่ด้วย

ย้อนกลับไปในสมัยผ่อง เล่งอี้ เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ เขาคือคนริเริ่มตั้งตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่าเป็นคนแรกในประเทศไทย โดยนำแนวคิดมาจากต่างประเทศ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ มาเป็นผู้ช่วยข้าราชการในการป้องกันรักษาป่า เล่ากันว่า พนักงานพิทักษ์ป่ารุ่นแรกที่อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ผู้นี้บรรจุ เรียกว่ารุ่น จับเป็น มาจากลูกจ้างของหน่วยงาน โดยให้การอบรมแล้วบรรจุตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่าเป็นลูกจ้างประจำ ทว่าต่อมากลับถูกยกเลิก ไม่มีการสอบตำแหน่งพิทักษ์ป่าอีกในสมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเปลี่ยนเป็นพนักงานราชการแทน

ทั้งนี้ ในเขตอนุรักษ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย จะประกอบไปด้วยหัวหน้าและผู้ช่วย ซึ่งเป็นข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ซึ่งมีสวัสดิการเหมือนข้าราชการทุกอย่าง พนักงานราชการ เงินเดือนราว 8,500 บาท มีสวัสดิการดีขึ้นเล็กน้อย มีการประเมินทุก 4 ปีในการต่อสัญญาจ้าง และพนักงานจ้างเหมารายปี (TOR) เงินเดือนราว 7,500 บาทเหมือนลูกจ้างรายวันทั่วไป และไม่มีสวัสดิการ

วิทยุสื่อสารและจีพีเอสที่ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง รถกระบะเก่า ๆ และปืนลูกซองยาว 5 นัด ปืนเอชเค 33 เทียบไม่ได้เลยกับอาวุธสงครามประสิทธิภาพทำลายล้างสูง


เนื่องในวันผู้พิทักษ์ป่าโลก เราเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่แค่การรำลึกถึงคุณงามความดีที่จบงานแล้วก็เลิกรากันไป แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ควรพิจารณาถึงสิ่งที่จะทำให้ชีวิตการทำงานและชีวิตที่บ้านของพวกเขาดีขึ้น เพราะทั้งพนักงานราชการและพนักงานจ้างเหมารายปี ต่างฝันถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย เหนือสิ่งอื่นใด คือสวัสดิการที่น่าชื่นใจ สมเหตุสมผลต่อการสุ่มเสี่ยงในการทำงาน ที่บ่อยครั้งต้องใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อปกป้องพืชพรรณและสัตว์ป่าไว้ให้พวกเราทุกคน 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1238 วันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์