วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ศูนย์เรียนรู้‘กอไผ่เซรามิก’ แบ่งปันเล่าขานเมืองเซรามิก

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์


หัตถศิลป์ก้อนน้อยดูด้อยค่า
ศิลป์นำมาสร้างสรรค์ปั้นตกแต่ง
ดินประกอบงานปั้นเผาเราจัดแจง
ปั้นเผาแกร่ง เพิ่มคุณค่าราคาดิน

ศิลปะกับความสุขมักเป็นของคู่กัน แต่ศิลปะกับความฝันและการแบ่งปันนั้นจะเชื่อมโยงกันได้ลงตัวก็หายาก

ที่บ้านของ “ครูไผ่” พศิน ทาฟู ข้าราชการครู ผู้สร้างศูนย์เรียนรู้ “กอไผ่เซรามิก” ให้เป็นพื้นที่การแบ่งปัน เรียนรู้งานศิลปะ เครื่องปั้นดินเผา ที่แสนจะเรียบง่ายแต่อบอุ่นสำหรับผู้ไปเยือน

เส้นทางไปไม่ซับซ้อน ปักหมุดเส้นทางไปที่หมู่บ้านหมอสม ต.ปงแสนทอง อ.เมือง จ.ลำปาง เข้าไปถึงหมู่บ้านมีป้ายบอกทางไป กอไผ่เซรามิก สังเกตง่ายๆบ้านที่มีกอไผ่รายล้อม ร่มเย็น ภายในรั้ว มีโรงเรือน หลังเล็กๆใช้เป็นพื้นที่ของโรงงานขนาดเล็กผลิตของที่ระลึก แก้วน้ำ และโมบายเซรามิก หลังใหญ่พื้นเป็นหอศิลป์แสดงงานศิลปะ หลายแขนง รวมถึง ศิลปะจากงานเครื่องปั้นดินเผาหาดูได้ยากหลายยุคสมัย นอกจากนี้เรือนไม้ และศาลาหลังน้อยใหญ่ ที่ใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้ ไปพร้อมๆกับการพักผ่อนหย่อนใจ


“ผมมีอาชีพเป็นครู เมื่อเด็กนักเรียนตั้งคำถามว่า..ครูครับเซรามิกเขาทำอย่าไรให้เป็นถ้วย แจกันอย่างไร คำถามต่าง ๆ มากมาย  ก็สะท้อนใจว่า ลำปางเป็นเมืองที่มีเซรามิก แต่ลูกหลาน นักเรียนรุ่นหลังๆ ส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักกระบวนการทำเซรามิก เพราะการทำเซรามิกเป็นเรื่องของโรงงาน เป็นเรื่องธุรกิจที่เข้าถึงยาก โรงเรียนก็ไม่มีหลักสูตรการสอนเซรามิก ผมจึงคิดว่าเราน่าจะทำศูนย์เรียนรู้เซรามิกไว้ให้เด็กนักเรียนและคนทั่วไปได้เรียนรู้กระบวนการทำเซรามิก”

เมื่อความคิดนั้น ฝังอยู่ในใจ “ครูไผ่” จึงเริ่มศึกษาการทำเซรามิกจากโรงงานต่างๆในหมู่บ้านและ ชุมชนใกล้เคียง เปิดเป็นโรงงานเซรามิกเล็กๆของตัวเองมาตั้งแต่ปี 2543 ชื่อว่า “กอไผ่เซรามิก” เน้นผลิตงานโมบายเซรามิก และของที่ระลึก ขนาดเล็ก ขายส่งให้กับตลาดของที่ระลึกเรื่อยมา


“ผมใช้พื้นที่ในบ้านตัวเอง ทำโรงงานเซรามิกเล็กๆเพื่อเรียนรู้ ลองผิดลองถูกงานด้านเซรามิกเมื่อว่างจากงานสอนหนังสือ วันหยุดก็ทำเซรามิก ขณะเดียวกันก็ วางเป้าหมายความฝันไปด้วยว่าเราจะทำอะไรให้มัน ได้ประโยชน์มากกว่า การทำโรงงาน กระทั่งมีเพื่อนครูด้วยกัน ที่สนใจงานด้านศิลปะ  ชวนกันไปเรียนศิลปะและตั้งชมรมครูทัศนศิลป์ ได้ชวนกันทำ บ้านผมให้เป็นศูนย์รวมกลุ่มเพื่อนครู และแบ่งปันร่วมกันเกี่ยวกับงานศิลปะหลากหลาย ในปี ผมจึงสร้างหอศิลป์ขึ้นมาหนึ่งหลังเพื่อเป็น ที่รวบรวมแสดงงานของกลุ่มเราเปิดเป็นทางการเมื่อ ปี 2557 ใช้เป็นสถานที่อบรมครูศิลป์ภาคเหนือ”

จากนั้นก็พัฒนาโรงงานเซรามิกเล็กๆที่นี่ เป็นศูนย์เรียนรู้เซรามิก หรือ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา เพื่อเปิดให้เป็นพื้นที่บริการชุมชน เป็นประโยชน์ก่อสาธารณะ”


จุดเริ่มต้นของแนวคิดการให้บริการชุมชน เริ่มจากการนำนักเรียนในโรงเรียนที่ “ครูไผ่” สอน และโรงเรียนที่เพื่อนครู สอนอยู่มาเที่ยว ดูงานและ ลองปั้น หล่อน้ำดินเซรามิก ปรากฏว่านักเรียนชอบมากกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน เกิดแรงบันดาลใจให้เขารู้จักเข้าใจโลกของเซรามิก และเมืองลำปางซึ่งเป็นแหล่งผลิตเซรามิกอันดับหนึ่งของประเทศไทย

ปัจจุบัน ศูนย์เรียนรู้กอไผ่เซรามิก  เป็นที่รู้จักมากขึ้น ในวงการการศึกษา และ เป็นแหล่งศึกษาดูงานของหน่วยงานต่างๆในภาคเหนือ และมีเริ่มมีมาจากเวียงจันทร์  สาธารณะรัฐประชาชนลาว  


ครูไผ่บอกว่า ส่วนหนึ่งนอกเหนือจากการบริการชุมชนในท้องถิ่นแล้ว ยังเปิดให้เข้าศึกษาดูงานเป็นหมู่คณะ 50 คนขึ้นไปโดยคิดค่าใช้จ่ายเริ่มต้นคนละ 150-200  บาท มีอาหารว่าง อาหารกลางวัน และทำชิ้นงานปั้น เซรามิก หรืองานวาดของตนเองกลับบ้าน

ครูไผ่ ได้จัดเส้นทางจุดเรียนรู้ เป็น 5 ฐานคือ 1.ชื่นชมผลงาน (ศิลปะเครื่องปั้นดินเผา)  2.เล่าขานถิ่นกำเนิด (เครื่องปั้นดินเผา) 3.เพลิดเพลินงานปั้น ให้ทำชิ้นงานปั้น 4.สร้างสรรค์ตามจินตนาการ (วาดลาย) 5.สร้างงานเป็นผลิตภัณฑ์ (หล่อน้ำดิน)


ส่วนคนที่เข้าเที่ยวชมบรรยากาศ สามารถเข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังได้เปิดให้หน่วยงานองค์กรต่างๆ ในชุมชน เข้าใช้สถานที่สำหรับกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ได้ด้วยเช่นกัน

อนาคตที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้กำลังจะพัฒนาให้มี ห้องพักแบบโฮมสเตย์ ซึ่ง ผู้จองเข้าพักจะได้ พักแรมในบ้าน และมีกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนท้องถิ่น หรือในลำปาง จากนั้นก็เรียนรู้สร้างผลงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผากลับบ้าน เป็นสถานที่แบ่งปันความสุข สร้างแรงบันดาลใจ หรือพักผ่อนให้ได้คุณค่าแห่งชีวิต เติมสีสันปัดหมุดท่องเที่ยวในชุมชนลำปาง

                             เรื่อง/ภาพ ศชากานท์ แก้วแพร่ 
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1236 วันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์