วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ความรู้เรื่องข่าว ไม่มีลิขสิทธิ์ กับสำนึกสื่อที่สะกดคำว่า”อาย”ไม่เป็น

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

นแวดวงสื่อมวลชน การละเมิดลิขสิทธิ์ข่าวเกิดขึ้นเป็นประจำ สำนักข่าวที่อวดอ้างความเป็นเบอร์หนึ่ง ที่มีคนเข้าถึงมากที่สุด คือสำนักข่าวที่ลอกข่าวชาวบ้านมากที่สุด ถึงกระนั้น ก็ไม่ค่อยปรากฎข่าวการเรียกร้องลิขสิทธิ์กันเอง เพราะไม่อยากถือสาหาความคนที่หากินวงการเดียวกัน

แต่ความจริงเรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันแสดงถึงความ “มักง่าย” การขโมยความคิดของคนอื่น เอาไปทำมาหากิน หรือทำให้คนสำคัญผิดว่า เขาเป็นเจ้าของงานนั้น ถ้าสังคมปล่อยให้คนพวกนี้ ทำมาหากินง่ายๆ ไม่คิดทำข่าว ไม่เขียนบทความเอง แต่ไปลอกคนอื่นมา คนพวกนี้ก็จะกำเริบเสิบสาน กลายเป็นเหลือบในวงการสื่อที่สลัดไม่หลุด

โดยเฉพาะสื่อที่อวดอ้างความเป็นสื่อใหญ่โต มีชื่อมีเสียง มีผลประกอบการที่ดี มีคนรู้จักนับถือ แต่ไม่ละอายกับการที่ขโมยข่าวจากสื่อเล็กๆในต่างจังหวัดไปใช้ประโยชน์

คำว่า “ลิขสิทธิ์” ตามกฎหมายลิขสิทธิ์  หมายถึงสิทธิแต่ผู้เดียว ที่กฎหมายรับรองให้ผู้สร้างสรรค์กระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานที่ตนได้กระทำขึ้น อันได้แก่ สิทธิที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำออกโฆษณา ไม่ว่าในรูปลักษณะใด หรือวิธีใด รวมทั้งอนุญาตให้ผู้อื่นนำงานนั้นไปทำเช่นว่านั้นด้วย

งานที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน จัดอยู่ในประเภทงานวรรณกรรม คืองานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และหมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

ถึงกระนั้น ก็มีประเด็นที่ควรทำความเข้าใจ เนื่องจากมาตรา 7 ของกฎหมายฉบับนี้ ถือว่างานข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาว่า “ข่าวประจำวัน” เป็นงานสร้างสรรค์ อันควรได้รับการคุ้มครองหรือไม่

คำว่า “ข่าวประจำวัน” หมายถึงข่าวที่เป็นทางการโดยการแถลงของรัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐ เป็นรูปแบบเดียวกัน เนื้อหาเดียวกัน แต่หากเป็นข่าวประจำวัน ที่สื่อแต่ละสำนักนำมาเรียบเรียงใหม่ เพิ่มเติมตัดทอนเนื้อหาใหม่ ก็ถือเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ อันได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ผู้ที่นำข่าวนั้นไปใช้ ไปดัดแปลง เช่นการให้หัวข่าวใหม่ ในลักษณะคลิกเบท (clickbait) และเผยแพร่ต่อสาธารณะ เป็นผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้วินิจฉัยคดีที่ บริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด ฟ้อง บริษัท บิสนิวส์ เอเอฟอี (ประเทศไทย) จำกัด และกรรมการบริหาร ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยนำข่าวของอินโฟเควสท์ไปทำซ้ำและเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวน 135 ชิ้นงาน

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า งานทั้ง 135 ชิ้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารที่นำเสนอเพียงข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่เป็นงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยมีการศึกษา รวบรวมและคัดเลือกข้อมูลข่าว มีการจัดทำบทสัมภาษณ์ และผ่านกระบวนการวิเคราะห์ขึ้นด้วยความสามารถของผู้สร้างสรรค์เอง และงานนั้นมีการใช้ความวิริยะ อุตสาหะ สติปัญญา และแรงงานในระดับที่เหมาะสม ตลอดจนมีการใช้วิจารณญาณจากประสบการณ์ในการวิเคราะห์ด้วยความคิดริเริ่มของผู้สร้างสรรค์เอง จึงวินิจฉัยให้งานข่าวของอินโฟเควสท์จำนวน 135 ชิ้นดังกล่าวเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

ดังนั้น จึงมิอาจโต้แย้งเรื่องลิขสิทธิ์งานข่าว โดยเฉพาะข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ที่ลอกเขามาทุกถ้อย ทุกคำ น่าเสียดายว่าสื่อสำนักใหญ่ แต่ใจเท่ามด รู้เรื่องสาระบันเทิง รู้รสนิยมคนดู จนกิจการก้าวหน้าใหญ่โต แต่ขาดความรู้ ความเข้าใจ เพียงสองคำสั้นๆ คือ “ความสำนึก” และ “ความละอายใจ”


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1241 วันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์