วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562

'กิตติภูมิ' ขอผู้ค้ามั่นใจ ขายตลาดรถไฟเคลียร์ปัญหาได้

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

กิตติภูมิลงพื้นที่ พูดคุยพ่อค้าแม่ค้าตลาดรถไฟ มอบสำเนาหนังสือที่ยื่นถึงการรถไฟ สร้างความมั่นใจให้กับผู้ค้า ขณะที่กลุ่มผู้ค้ามอบดอกไม้ขอบคุณนายกเทศมนตรี  พร้อมเผยเข้าใจเรื่องราวดี ไม่มีใครอยากให้เกิดปัญหา ผู้ค้ากว่า 70 ร้านยอมรับ และค้าขายตามปกติ

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ที่ตลาดรถไฟ ต.สบตุ๋ย อ.เมืองลำปาง นายกิตติภูมิ  นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ได้เข้าพบกับกลุ่มผู้ค้าตลาดรถไฟที่ได้เข้ารับฟังคำชี้แจงจากทางเทศบาลนครลำปางอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้มีการประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 62 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมพุทธรักษา กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครลำปาง แต่มีผู้ค้าบางรายที่ไม่ได้ไปฟังในที่ประชุม จึงได้มีการนัดพบกันในพื้นที่ตลาดรถไฟอีกครั้ง  พร้อมกันนี้ เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และผู้เกี่ยวข้องได้มอบสำเนาหนังสือที่ ลป 52005/3820 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 เรื่อง ขอเช่าที่ดินเพื่อจัดทำเป็นสถานที่จำหน่ายของที่ระลึก อาหาร และสินค้าพื้นเมือง ส่งถึงผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดตามที่ได้แจ้งไว้ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562

ขณะที่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาดรถไฟ ได้มอบช่อดอกไม้เพื่อแสดงความขอบคุณ และเป็นกำลังใจให้เทศบาลนครลำปาง ในดำเนินการขอเช่าที่ดินเพื่อจัดทำเป็นสถานที่จำหน่ายของที่ระลึก อาหาร และสินค้าพื้นเมือง ต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ค้าต่อไป

 
สำหรับสาระสำคัญในหนังสือที่ทางเทศบาลได้ยื่นถึงการรถไฟ ระบุว่า เนื่องจากเทศบาลนครลำปางมีหน้าที่บำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎรตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562  และได้มีราษฎรจำนวนมากเข้าไปประกอบกิจการจำหน่ายของที่ระลึก อาหาร และสินค้าพื้นเมืองของจังหวัดลำปางในที่ดินดังกล่าว ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี  การบอกเลิกการเช่าที่ดินดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการทำมาหากินของราษฎรจำนวนมาก  และขัดต่อนโยบายของรัฐบาลที่จะบำรุงรักษาและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร  เทศบาลนครลำปางจึงขอแจ้งความประสงค์ต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย  ดังนี้

 เทศบาลนครลำปางขอเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณหน้าสถานีรถไฟลำปาง  มีกำหนดไม่เกิน 3 ปี  นับตั้งแต่วันทำสัญญาเช่าเป็นต้นไป  ในอัตราค่าเช่าตามบันทึกสัญญาเช่าครั้งที่ 11 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2559  เป็นเงินปีละ 286,389 บาท โดยมีวัตถุประสงค์ในการเช่าเพื่อจัดทำเป็นสถานที่จำหน่ายของที่ระลึก อาหาร และสินค้าพื้นเมืองของจังหวัดลำปาง

กรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับการขอเช่าที่ดินดังกล่าวตามข้อ 1 ถือได้ว่าเกิดข้อพิพาทระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับเทศบาลนครลำปาง  ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย  ส่งเรื่องข้อพิพาทไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาเสนอคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติ ในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามมติคณะรัฐมนตรีเวียนแจ้ง   โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่ นร 0505/ว.184 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2549

ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่ง   ของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เทศบาลนครลำปางจะยังคงครอบครองที่พิพาทและให้บริวาร  ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้ารายเดิมใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวต่อไปตามเดิม

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 62 ผู้สื่อข่าวได้ไปตรวจสอบที่ตลาดรถไฟ พบผู้ค้าต่างเตรียมของมาค้าขายกันตามปกติ  เมื่อได้พูดคุยสอบถามทางกลุ่มผู้ค้า ได้กล่าว พ่อค้าแม่ค้าในตลาดรถไฟมีอยู่ประมาณ 70 ร้าน รวมประมาณ 100 คน  ได้มีการพูดคุยกับทางเทศบาลนครลำปางเข้าใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้เชิญนายกิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีมาให้พูดคุยรายละเอียดกับผู้ค้าอีกครั้ง เพราะบางคนไมได้ไปร่วมประชุม และยังไม่เข้าใจ ประกอบกับในการประชุมไม่ได้มีโอกาสสอบถามได้สะดวกมากนัก เพราะมีทาง สท.ร่วมสอบถามด้วย   หลังจากที่ทางนายกฯมาพูดคุยชาวบ้านก็เข้าใจ และมอบดอกไม้เป็นการขอบคุณ

ตอนนี้ผู้ค้าทราบดีว่าเรื่องเกิดจากอะไร จะโทษทางนายกฯทางเทศบาลปัจจุบันก็ไม่ได้ เพราะเรื่องเกิดมานานเป็น 20 ปีแล้ว อย่างไรก็ต้องพึ่งพาเทศบาลอยู่ดี ลำพังจะให้ทางกลุ่มผู้ค้าไปเช่าที่เองกับการรถไฟก็คงทำได้ยาก เพราะโครงสร้างร้านค้าอยู่อย่างก็ต้องเป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เขากำหนด  ตอนนี้ก็ไม่ได้กลุ่มหรือเก็บเงินกองกลางกันแต่อย่างใด เพราะไม่มีใครเป็นประธาน หากมีอะไรชำรุดเสียหาย ก็ต้องซ่อมแซมของใครของมันไป ซึ่งก็ถือว่าตรงนี้เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของตลาดรถไฟ

เมื่อสอบถามเรื่องที่ผู้ค้ายื่นร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ทางกลุ่มผู้ค้า กล่าวว่า ไม่ได้มีการยื่นร้องเรียนแต่อย่างใด เพียงแต่เตรียมเอกสารไว้หากเกิดกรณีฉุกเฉินที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งตอนนี้ทางเทศบาลได้เข้ามาเคลียร์ทำความเข้าใจกันแล้ว

สำหรับความเป็นมาการต่อสัญญาเช่าพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย  เทศบาลนครลำปาง ได้เริ่มทำสัญญาฉบับแรกเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2544 มีอายุ 3 ปี  ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2544 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2547  เมื่อครบกำหนดสัญญา ต่อมาก็จะมีการต่อสัญญาเช่าทุกปีคราวละ 1 ปี  รวมทั้งหมด 11 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 4 พฤษภาคม 2548  ครั้งที่ 2   วันที่ 31 สิงหาคม 2550 ครั้งที่ 3   วันที่ 27 มิถุนายน 2551 ครั้งที่ 4 วันที่ 20 มีนาคม 2552  ครั้งที่ 5 วันที่ 14 มิถุนายน 2553 ครั้งที่ 6 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ครั้งที่ 7 วันที่ 5 ตุลาคม 2554 ครั้งที่ 8 วันที่ 30 มกราคม 2557  ครั้งที่ 9 วันที่ 17   ตุลาคม 2557  ครั้งที่ 10 วันที่ 21 พฤษภาคม 2548 และครั้งที่ 11 วันที่ 31 ส.ค. 2559

จนกระทั่ง การรถไฟได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ บส.58/3862/2559 วันที่ 28 มิถุนายน 2560  เรื่องขอให้ชำระค่าปรับ ฐานกระทำการให้ผิดไปจากลักษณะทำประโยชน์ตามเงื่อนไขที่สัญญา ที่สถานีลำปาง  สรุปความว่าทางการรถไฟฯได้ตรวจสอบพบว่าพื้นที่ที่ให้เทศบาลนครลำปางเช่า ได้ทำการปลูกสร้างเพิกร้านค้าแบบชั่วคราวเพื่อจำหน่ายอาหาร จึงเป็นประโยชน์ในพื้นที่เช่าผิดไปจากเงื่อนไขตามสัญญาเช่าที่ดิน  จึงคิดค่ารปับตามสัญญาเช่าที่ดิน พร้อมตั้งเงื่อนไขว่าให้ทางเทศบาลนครลำปาง นำเงินคาปรับมาชำระให้กับการรถไฟฯที่สถานีลำปาง ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ (เทศบาลได้รับหนังสือวันที่ 3 กรกฎาคม 2560) พร้อมทั้งให้เทศบาลดำเนินการแก้ไขพื้นที่เช่าให้อยู่ในสภาพเดิม และใช้ประโยชน์ตามสัญญาเช่าที่ดิน  เมื่อชำระค่าปรับแล้วการรถไฟฯจะพิจารณาต่ออายุสัญญาเช่าที่ดินให้กับเทศบาลฯ  ซึ่งได้มีการโต้แย้งตอบกลับกันทางเอกสารเรื่อยมา กระทั่ง ทางการรถไฟ ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 แจ้งเตือนชำระค่าเช่าและค่าต่างๆ มายังเทศบาลนครลำปาง รวมทั้งสิ้น 1.7 ล้านบาทเศษ  โดยให้ชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2562 นี้ และขอให้เลิกใช้ประโยชน์พร้อมขนย้ายทรัพย์สินรวมทั้งบริวารออกจากพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงทำให้เกิดปัญหากลุ่มผู้ค้าเกรงว่าจะโดนไล่ที่ออกจากตลาดรถไฟดังกล่าว ซึ่งล่าสุดทางเทศบาลและกลุ่มผู้ค้าได้มีการเจรจาตกลงกันเป็นที่เข้าใจแล้ว ส่วนข้อพิพาทกับการรถไฟนั้น ยังคงต้องรอผลการพิจารณาจากผู้มีอำนาจต่อไป


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1240 วันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์