
ต้นปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือและกรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) อย่างรุนแรง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงอย่างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ย่อมถูกจับตามองและเกิดข้อกังขาถึงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตที่อาจมีผลต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากค่าสะสมฝุ่น PM2.5 โดยกรมควบคุมมลพิษ และจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ของพื้นที่ภาคเหนือ โดยกรมป่าไม้ จะเห็นว่า ค่า PM2.5 จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นและเกินค่ามาตรฐาน (ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ในช่วงฤดูแล้ง (กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม) ของทุกปี โดยที่ฤดูอื่นๆ (กรกฎาคม - ธันวาคม) จะมีค่าไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ของพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากในฤดูแล้ง (กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม) ที่มักจะเกิดไฟป่าทางภาคเหนือของทุกปีเช่นกัน ซึ่งสามารถอนุมานได้ว่า แหล่งกำเนิดหลักของ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ มาจากการการเผาในที่โล่งและไฟไหม้ป่า ประกอบกับในช่วงดังกล่าวมีสภาพอากาศปิด ลมสงบ ทำให้ฝุ่นละอองไม่กระจายตัวเกิดการสะสมในอากาศจนเกินค่ามาตรฐาน
สำหรับ
กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ต้องมีการเดินเครื่องตลอดทั้งปีเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ
ซึ่งระบบการกำจัดมลสารทุกส่วนตั้งแต่กระบวนการทำเหมืองจนถึงการผลิตกระแสไฟฟ้า
ได้ถูกควบคุมและเป็นไปตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ ล่าสุด กฟผ.แม่เมาะ
ได้ร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(สวทช.) มี ดร.รุ่งโรจน์ เมาลานนท์
หัวหน้าคณะนักวิจัย ศึกษาแหล่งที่มา
ตลอดจนพัฒนาต้นแบบสำหรับตรวจวัดและจำแนกฝุ่น PM2.5 โดยติดตั้งอุปกรณ์ต้นแบบสำหรับตรวจวัดและจำแนกแหล่งที่มาของฝุ่นจากโรงไฟฟ้า
ณ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศหลักในโรงไฟฟ้าแม่เมาะตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา
เพื่อให้อุปกรณ์เก็บข้อมูลฝุ่นพื้นที่ภายในโรงไฟฟ้าแม่เมาะตลอดทั้งปี
เนื่องจากสภาพฝุ่นในแต่ละช่วงเดือน
มีความแตกต่างกันตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
ซึ่งข้อมูลฝุ่นตลอดทั้งปี จะสามารถนำมาวิเคราะห์ต่อยอดพัฒนาเป็นอุปกรณ์สำหรับตรวจวัดและจำแนกฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน
2.5 ไมครอน ในการวิจัยช่วงที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2563
เพื่อหาคำตอบในเชิงประจักษ์ว่าต้นกำเนิดของปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันในพื้นที่
อ.แม่เมาะ มีสาเหตุแท้จริงมาจากอะไรและสามารถร่วมกันทางออกแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างตรงจุด
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1241 วันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2562)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น