
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางลงพื้นที่ จ.ลำปาง ขับเคลื่อนโครงการแพะ แกะล้านนา สร้างการรับรู้งานด้านอาชีพแก่เกษตรกรใน
3 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมส่งเสริมมาตรการสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อพัฒนาอาชีพสร้างรายได้ในระยะสั้น
120 วัน
กรมปศุสัตว์ สานความร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
เดินหน้าบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายรัฐ ด้านการเสริมสร้างเศรษฐกิจภาคครัวเรือนแก่เกษตรกรรากหญ้าด้วยสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่
ร่วมกันจัดกิจกรรมทางวิชาการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเทคนิควิธีการเลี้ยงแพะ-แกะ แบบครบวงจร ในงาน "เสริมสร้างการรับรู้แก่เกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนโครงการแพะ แกะล้านนา"
ซึ่งได้มีการจัดงานกิจกรรมขึ้น ณ ที่บริเวณภายในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง
ตำบลศาลา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง มีนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเปิดงานกิจกรรม โดยมีนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
เป็นตัวแทนในนามจังหวัดลำปาง ร่วมกับ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายประพัฒน์
ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นำทีมคณะผู้บริหาร นักวิจัย นักวิชาการ หัวหน้าส่วนราชการ
ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจากหน่วยงานต่างๆ
ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดลำปาง ตลอดจนประชาชนผู้สนใจ และตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ-แกะ ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่
รวมกว่า 900 คน ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมร่วมกันศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีนวัตกรรมการเลี้ยงแพะ-แกะ แบบครบวงจร และเยี่ยมชมผลงาน ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากสัตว์เศรษฐกิจใหม่ แพะ-แกะ
ทั้งนี้ สำหรับงานดังกล่าวเป็นงานกิจกรรมที่ได้จัดทำขึ้น เพื่อต้องการจะส่งเสริมให้แพะ-แกะ ได้เป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกตัวใหม่ที่สำคัญของเกษตรกร
ด้วยหลักการที่ว่าแพะ-แกะ เป็นสัตว์โตเร็ว เลี้ยงง่าย ทนแล้ง
สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดีในระยะเวลาอันสั้น โดยการจัดงานครั้งนี้
มีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และผู้สนใจในอาชีพการเลี้ยงแพะ-แกะ ได้รับองค์ความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการเลี้ยงแพะ-แกะ เพื่อการพัฒนาก้าวสู่มาตรฐานการเลี้ยง GAP ในอนาคต
อีกทั้งเพื่อรับทราบถึงแนวทางในการดำเนินโครงการแพะ-แกะล้านนา
ให้เกษตรกรได้มาร่วมพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเทคนิควิธีด้านการผลิต สร้างเครือข่ายการแปรรูปและการตลาด
เพื่อให้การเลี้ยงแพะ-แกะ ของกลุ่มเกษตรกรภายใต้โครงการฯ มีความมั่นคงและยั่งยืน
โดยภายในงานได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเปิดฐานการเรียนรู้เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรได้ศึกษาในเรื่องพันธุ์แพะแกะ,
อาหารสัตว์สำหรับเลี้ยง การผสมเทียม และเทคโนโลยีชีวภาพด้านสุขภาพและมาตรฐานฟาร์ม
GMP รวมถึงการแปรรูป และการเพิ่มมูลค่าผลผลิต พร้อมมอบเอกสารคู่มือการเลี้ยงแพะ-แกะ จำนวน 1,000 เล่ม ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ นอกจากนี้ยังมีการบรรยายแนวทางการดำเนินงานโครงการแพะ–แกะ ล้านนา โดยเจ้าหน้าที่จากกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ตลอดจนได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแพะ-แกะ ทำพิธีมอบป้ายอนุมัติเงินกู้ยืม กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ให้แก่ตัวแทนกลุ่มเกษตรในจังหวัดลำปาง
ลำพูน และเชียงใหม่ พร้อมจัดทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อ-ขาย
แพะ-แกะ ร่วมกันระหว่างเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ-แกะ ตามโครงการฯ ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด กับ บริษัท เอ
วาย เค มัทเทิน จำกัด โดยมี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รองอธิบดีกรมปศุสัตว์, ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
ด้านนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ได้กล่าวว่า การเลี้ยงแพะ แกะ ถือเป็นอาชีพที่น่าสนใจ เนื่องจากสามารถที่จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในเวลาอันรวดเร็ว
เพียงในช่วงระยะ 120 วัน เกษตรกรก็สามารถที่จะจำหน่ายมีรายได้จากการเลี้ยงแพะ
แกะ ส่วนมาตรการสนับสนุนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า
ในส่วนนี้ทางภาครัฐยินดีที่จะให้การสนับสนุนแก่เกษตรกรอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องของเงินกู้ยืมและดอกเบี้ย
โดยขณะนี้ทางกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ได้อนุมัติเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานโครงการแพะ-แกะล้านนา ในพื้นที่ 3 จังหวัด ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่
แก่กลุ่มเกษตรกร 22 กลุ่ม รวมเกษตรกร 220 รายๆ ละ 200,000 บาท วงเงินอนุมัติรวม 44 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้พร้อมที่จะให้เงินทุนสนับสนุนแก่เกษตรกรผู้สนใจเลี้ยงแพะ
แกะ เช่นเดียวกัน โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ของวงเงินกู้เท่านั้น
และสำหรับในส่วนประเด็นคำถามเรื่อง "โรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร" ระบาด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวยืนยันว่าโรคดังกล่าวยังไม่มีการแพร่ระบาดเข้ามาในเขตพื้นที่ประเทศไทยอย่างแน่นอน
โดยขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องคอยเฝ้าระวังคุมเข้มในทุกจุด ตามแนวเขตชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
รวมมากกว่า 100 จุด รวมทั้งได้ให้หน่วยงานปศุสัตว์เร่งสำรวจให้การช่วยเหลือแก่เกษตรกรในเขตพื้นที่เสี่ยง
ทำการฉีดยาวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ให้กับสุกรที่เลี้ยงซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคระบาด
โดยหากได้รับความร่วมมือเช่นนี้จากทุกภาคส่วน โรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร ก็จะไม่มีทางแพร่เข้ามาในประเทศได้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1245 วันที่ 20 กันยายน - 3 ตุลาคม 2562)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น