วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2562

บ้านดงจี้ กฟผ.เพิกถอนป่า 5 ปี อพยพไม่คืบ ย้ำจ้างงาน ขอแหล่งน้ำ

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 โรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 8-9 คึกคัก 5  ตำบลชาวบ้านร่วมกว่า 1,800 คน  ทุกพื้นที่ยังคงต้องการให้จ้างแรงงาน  ด้านชาวบ้าน ต.บ้านดง จี้เร่งอพยพ หลังผ่าน 5 ปีไม่คืบหน้า พร้อมเคลียร์ปัญหาพื้นที่ป่าเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้าน ขณะที่ชาวบ้าน ต.สบป้าด และ ต.จางเหนือ ขอแหล่งน้ำ เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่  รวมทั้งตัดถนนเส้นใหม่และปรับปรุงถนนเก่าให้สะดวกสบายมากขึ้น เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ห่างไกล

-รับฟังครั้งที่ 2
ช่วงวันที่ 8-10 ตุลาคม 2562 บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ดำเนินการศึกษา และจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจจะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง หรือ EHIA ในโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 (Mae Moh Power Plant unit 8-9 Replacement Project: MMRP2 ) นำโดย ดร.เบญจภรณ์ บุณยพุกกณะ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม ได้จัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ  ในพื้นที่ อ.แม่เมาะ ทั้ง 5 ตำบล คือ ต.บ้านดง ต.สบป้าด ต.จางเหนือ ต.นาสัก และ ต.แม่เมาะ   เพื่อนำเสนอรายละเอียดโครงการขั้นตอนและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งร่างมาตรการป้องกันและลดผลกระทบเบื้องต้นต่อประชาชนผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในกลุ่มย่อยระดับตำบล  เพื่อนำไปรวบรวมข้อมูลด้านสังคม เศรษฐกิจ การดำรงชีวิต สภาพปัญหา สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในปัจจุบันและความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และประเด็นห่วงกังวลในด้านต่างๆ

-เปิดเวทีบ้านดง
สำหรับวันที่ 8 ตุลาคม ในช่วงเช้าได้จัดประชุมที่ อบต.บ้านดง มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 230 คน โดยมีนายศุกษ์ ไทยธนสุกานต์ นายกอบต.บ้านดง เป็นผู้เปิดการประชุม จากนั้น ดร.เบญจภรณ์ บุณยพุกกณะ ได้ชี้แจงข้อมูลรายละเอียดโครงการแนวทางการประเมิน และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนที่จะเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็น  ซึ่งมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวน 12 คน

-ปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยใหม่
นายศุกษ์ ไทยธนสุกานต์ นายก อบต.บ้านดง ได้เสนอในประเด็นการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ในพื้นที่ ให้มีการจัดตั้งกองทุนและการเก็บเงินเข้ากองทุนในอัตราภาษีก้าวหน้า  เพื่อใช้พัฒนาหมู่บ้านและคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไปในอนาคต ขอให้ทาง กฟผ.และส่วนที่เกี่ยวข้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ในเรื่องดังกล่าวด้วย  นอกจากนั้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และมาตรการดูแลแก้ปัญหาความเดือดร้อนรำคาญ ที่เกิดจากการประกอบกิจการ ในส่วนของ ต.บ้านดง ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมตำบลในเขตบ้านดง เข้าตรวจสอบพื้นที่เป็นประจำ เห็นว่ามาตรการต่างๆควรจะมีการปรับปรุงขึ้นใหม่ เนื่องจากใช้มานานกว่า 10 ปีแล้ว และขอให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ถึงแม้ว่าทาง กฟผ.จะมีเทคโนโลยีการตรวจวัดสภาพอากาศที่บ่งบอกว่าไม่เกินมาตรฐาน แต่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยมานานอาจเกิดการสะสม ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ อยากให้มีกำหนดค่ามาตรฐานให้ต่ำลงกว่าเดิม

-เพิกถอนพื้นที่ป่า
นายศุกษ์ ยังได้กล่าวถึง ปัญหาการอพยพราษฎรในพื้นที่ ต.บ้านดง  ซึ่งยังคงเกิดความล่าช้า และพื้นที่อพยพนั้นเป็นพื้นที่ขอใช้ชั่วคราวจากกรมป่าไม้ ชาวบ้านจะไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของได้ อยากให้พิจารณาเพิกถอนการทับซ้อนพื้นที่ป่าออก และดำเนินการจัดทำเอกสารสิทธิให้กับชาวบ้านที่อพยพด้วย

-เพิ่มบทลงโทษ
ด้านนายนิพนธ์ อัครวีรวัฒนา ผู้ใหญ่บ้านท่าสี หมู่ 3 ได้กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขปัญหาเรื่องความเดือดร้อนรำคาญ บริเวณที่ทิ้งดิน หากตรวจพบปัญหาขอให้เพิ่มบทลงโทษให้กับทางบริษัทที่ดำเนินการ เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้เกิดความร่วมมือไม่ให้เกิดการทำผิดซ้ำ เช่น หยุดการเดินสายพาน 1 ชั่วโมง โดยให้ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ต.บ้านดง พิจารณาบทลงโทษร่วมกับ กฟผ.ด้วย

-อพยพไม่คืบหน้า
ขณะที่นายประเวศ บึงเย็น ราษฎรบ้านสวนป่าแม่เมาะ  หมู่ 7  ได้กล่าวถึงปัญหาการอพยพราษฎร ต.บ้านดง ที่เกิดความล่าช้า ล่วงเลยมาเกือบ 6 ปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้า  เช่นเดียวกับประจักษ์ ชาติสืบ ผู้ใหญ่บ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ 7 ที่กล่าวถึงเรื่องอพยพที่เกิดความล่าช้า  จากคำสั่งศาล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2552  ที่ให้อพยพราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ รัศมี 5 กม. ตอนนี้ผ่านมา 10 ปีแล้วที่เราเรียกร้อง เปรียบเทียบกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 4-7 สร้างเสร็จและจ่ายไฟแล้ว แต่การอพยพชาวบ้านยังไม่ถึงไหนและไม่รู้จะได้อพยพไปเมื่อไร  ที่ผ่านมาคอยปลอบชาวบ้านไม่อยากให้ใจร้อน  แต่ตอนนี้ก็ยังไม่คืบหน้า มีความหวังว่าจะอพยพ ปี 63 จะได้หรือไม่ ขอฝากเรื่องนี้ให้พิจารณาด้วย

-ขอให้รับเข้าทำงาน
ส่วนในช่วงบ่าย ได้มีการจัดประชุมในพื้นที่ ต.สบป้าด มีผู้เข้าร่วมประชุมถึง 600 คน  โดยมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น 14 คน   เช่น นายสุนทร ใจแก้ว อดีตนายก อบต.สบป้าด ได้แสดงความคิดเห็นกรณีของ ต. สบป้าด ที่ไม่อยู่ในเขตประทานบัตร แต่ก็เป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้ามาก ในขณะเดียวกัน ต.สบป้าด ก็ด้อยโอกาสมากเช่นกัน อยากจะให้ทางกรมการปกครองประสานกับท้องถิ่นให้แบ่งเขตแดนแบบชัดเจน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน หากอนาคตถ้าได้ก่อสร้าง โรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 8-9 แล้ว ถ้ามีผลกระทบเกิดขึ้นเหมือนในอดีตใครจะรับผิดชอบ ถึงแม้จะมีโรงไฟฟ้าแต่คุณภาพชีวิตของชาวบ้านก็ยังเหมือนเดิม อยากให้ กฟผ.พิจารณารับสมัครพนักงาน  ซึ่งมีลูกหลานในพื้นที่ จบ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ปริญญาโท จำนวนมากที่สามารถทำงานที่ กฟผ.ได้ 

พร้อมกันนี้ทางชาวบ้านยังได้เสนอความต้องการให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง สนับสนุนรถรับส่งนักเรียน ดูแลขุดลอกแหล่งน้ำในพื้นที่  รวมถึงการตัดถนนผ่านหมู่บ้าน ปรับปรุงระบบแสงสว่าง  ขยายเขตไฟฟ้าให้ทั่วถึงมากขึ้น และเร่งการออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้านที่อพยพ ฯลฯ

-จางเหนือขอถนนหนทางที่ดี
ในส่วนของวันที่ 9 ตุลาคม 62 ได้จัดรับฟังความคิดเห็นในส่วนของ ต.จางเหนือ ที่ห้องประชุม อบต.จางเหนือ โดยมีนายสว่าง จาคำมา นายก อบต.จางเหนือ เริ่มเปิดการประชุม พร้อมกล่าวข้อเสนอแนะในประเด็น การเร่งสนับสนุนหินคลุกให้กับพื้นที่ ต.จางเหนือ จำนวน 2 หมื่นคิว ตามที่ชาวบ้านได้ร้องขอไป รวมทั้งการจ้างงานเป็นกรณีพิเศษให้กับชาวบ้านในพื้นที่ อ.แม่เมาะ  เร่งดำเนินการในเรื่องการขอแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร  และเร่งโครงการปรับปรุงถนนหลายสายที่ชำรุดในหมู่บ้านด้วย       

นายโสภณ พินยง เป็นประธานชมรมผู้สูงอายุ จางเหนือ  กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้ทำคือเรื่องถนนเส้นทางตรงจากโรงโม่เก่าถึงชุมชนจางเหนือ-นาสัก ถนนสายนี้ชาวบ้านจะใช้เดินทางกันมาก จะเป็นทางลัดได้ ขณะนี้มีการสร้างมาได้ครึ่งหนึ่ง จึงอยากให้ทำต่อเนื่องให้ใช้เส้นทางได้อย่างสะดวก

ด้านกำนันตำบลจางเหนือ ได้กล่าวเสริมถึงเรื่องการก่อสร้างถนน ขยายเส้นทางให้กว้างขึ้น และดีกว่าเดิมให้เกิดการสัญจรได้สะดวก เพราะมีเส้นทางหลักเข้าออกหมู่บ้าน ที่นักเรียนต้องใช้สัญจรไปโรงเรียน  และส่วนใหญ่จางเหนือทำการเกษตร จะเป็นรถสิบล้อ รถพ่วง รถสวนทางจะมีการเบียดกัน อยากให้ กฟผ.ดูแลให้ดีกว่านี้

-ดูแลแหล่งน้ำ
สำหรับข้อเสนอแนะที่ชาวบ้าน ต.จางเหนือเน้นย้ำคือ เรื่องถนนหนทางที่ต้องการให้ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอ  นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และน้ำอุปโภคบริโภค ในช่วงหน้าแล้งจะไม่เพียงพอใช้  อยากให้ขยายการใช้น้ำประปา น้ำบริโภค   รวมไปถึงเรื่องการดูแลสุขภาพชาวบ้าน  อยากให้กองการแพทย์ กฟผ. จัดสรรแพทย์มาอยู่ประจำในหมู่บ้าน สัปดาห์ละ  2 วัน   อีกเรื่องคือการเพิกถอนพื้นที่ป่า เนื่องจากเคยของบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้าฯ อยากในส่วนการบูรณะวิหาร แต่สุดท้ายเกิดติดปัญหาพื้นที่ป่า จึงไม่สามารถทำได้  อยากให้มีการพิจารณาในส่วนนี้นำบรรจุลงในรายงานด้วย

-5ตำบล ร่วมเวที 1,829 คน
ทั้งนี้ พื้นที่ ต.จางเหนือ ได้มีชาวบ้านเข้าร่วมประชุม จำนวน 190 คน มีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวน 11  คน  ส่วนช่วงบ่ายรับฟังความคิดเห็นกลุ่มประชาชนในพื้นที่  ต.นาสัก มีผู้เข้ารับฟังจำนวน 239 คน และมีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวน 15 คน  ส่วนในวันที่ 10 ตุลาคม 2562  จะเป็นการรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายสุขภาพ กลุ่มสาธารณสุข และผู้ที่สนใจ จัดที่ศาลาประชาคม ที่ว่าการ อ.แม่เมาะ และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ต.แม่เมาะ ที่อาคารอเนกประสงค์บ้านเวียงสวรรค์ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวน 480 คน  รวมมีผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ จำนวน 1,829 คน มีผู้แสดงความคิดเห็น 77 คน

จากนั้นช่วงระหว่างวันที่ 11-31 ตุลาคม 2562  บริษัท ทีแอลทีฯ จะทำการสัมภาษณ์รายบุคคล ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หัวหน้าครัวเรือน ในพื้นที่ อ.แม่เมาะ เพื่อบรรจุลงในรายงานฯต่อไป   ทั้งนี้ ประชาชนสามารถส่งความคิดเห็นทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ หรือโทรสาร ได้ที่ นางสาวรัตติยา งามประดิษฐ์ และ นางสาววีณิฐฐา วรเกียรตินากร บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด เลขที่ 151 ถนนนวลจันทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร 10230 โทรศัพท์ 02-509-9000 ต่อ 2315, 2322 โทรศัพท์มือถือ 061-564-4480  E-mail: [email protected] และ  [email protected]


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์