
ณ สถานที่แห่งหนึ่งซึ่งห่างไกลจากตัวเมือง
ยังมีโบราณสถานกลางป่าลานแห่งหนึ่งที่ถูกอำพรางไว้มาหลายชั่วอายุคน วัดนางอย
วัดหลวงนางอย วัดดอนแก้ว วัดทรายมูล วัดกอดแกด
หลายชื่อถูกเรียกขานหลอกตาชาวกรุงไกล เพื่อคงรักษาไว้ซึ่งโบราณวัตถุสิ่งล้ำค่าไว้
มอบเป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลาน
และในเวลานี้ถึงคราวที่โบราณสถานแห่งนี้จะเปล่งรัศมีฝ่าหมอกหนาที่ปกคลุม
เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในนาม “วัดหลวงนางอย”
วัดหลวงนางอย ตั้งอยู่ที่หมู่ 10
ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2200 เล่ากันว่ามีเจ้าแม่เศรษฐีนางงอยหรือนางอย
ได้สร้างวัดนางอยขึ้นมา โดยมีครูบาโนเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก
แต่เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ เช่น วัดนางอย วัดหลวงนางอย วัดดอนแก้ว
วัดทรายมูล วัดกอดแกด เป็นต้น สาเหตุที่ชื่อวัดมีหลายชื่อนั้นเพราะว่าในสมัยที่ครูบากำวีระเป็นเจ้าอาวาส
เกิดมีความกลัวว่าพวกทางใต้ (พวกที่มาจากกรุงเทพฯ)
จะขึ้นมาเอาทรัพย์สินอันมีค่าของวัดไป จึงใช้วิธีนี้ในการป้องกัน เพื่อไม่ให้วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จัก
ซึ่งต่อมาก็ได้กลับมาใช้ชื่อเดิมคือ วัดนางอย ที่ตั้งตามชื่อของเจ้าแม่เศรษฐีนางอย
ต่อมาราวปี พ.ศ.2310
สมัยที่ครูบาสุรินทร์เป็นเจ้าอาวาส พม่าได้ยกทัพมาตีหัวเมืองต่างๆ
ในภาคเหนือ ซึ่งลำปางก็เป็นหนึ่งในนั้น และพม่าก็ได้มาตั้งฐานทัพอยู่ที่วัดนางอย
เหตุการณ์ครั้งนั้นพม่าได้เซ่นฆ่าภิกษุ สามเณร และชาวบ้านล้มตายเป็นจำนวนมาก
ครูบาสุรินทร์เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์เป็นเช่นนี้
จึงได้หลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ในรูปูเพื่อเอาตัวรอด (ใช้คาถาอาคมที่ได้ร่ำเรียนมา)
ขณะที่พวกพม่าได้ยึดเอาทรัพย์สินอันมีค่าของวัดไปจนหมด จากนั้นก็ได้ทำการเผาวัด
ก่อนจะเคลื่อนทัพไปที่อื่น
เมื่อครูบาสุรินทร์เห็นว่าเหตุการณ์สงบลงแล้วจึงออกจากรูปู
และได้เรียกให้ชาวบ้านมาช่วยกันซ่อมแซมวัด
*หลักฐานและการค้นพบ
เมื่อปี 2515
ขณะบูรณะซ่อมแซมพระวิหารพบรอยจารึกที่วิหารที่ชื่อว่า ร.ศ.1046 และสมุดข่อยปับสาของวัดนาเดา หมู่ 6 ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง
เขียนไว้ว่าเจ้าแม่นางอยเป็นผู้สร้างวัด สอดคล้องกับที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมาว่า
บริเวณที่เป็นที่ตั้งของวัดเป็นถิ่นที่อยู่ของชนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าลัวะดอยจง
หรือละว้าดอยจง ที่มาอาศัยอยู่ในดอยจงและได้เคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งอยู่ในลุ่มน้ำแม่ต๋ำ
แม่ลายอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่จะมีอาณาจักรล้านนาเกิดขึ้นในเวลาต่อมา
เจ้าแม่เศรษฐีนางอยผู้สืบเชิ้อสายมาจากลัวะดอยจง
ร่วมกับท้าวนามะวงศ์ผู้นำหมู่บ้านสร้างวัดนางอย ตามศิลปะผสมแบบพม่าและล้านนา
เพราะได้รับวัฒนธรรมก่อสร้างมาจากพม่าที่เคยมาปกครองอาณาจักรล้านนาราว พ.ศ.2101-2317
และอีกหลักฐานตามตำนานของวัดไหล่หินเจ้ามหาป่า ผู้สร้างวัดไหล่หินเมื่อปี พ.ศ.2226 ได้มาดูลายฝีมือการก่อสร้างวัดหลวงนางอย
และวัดลำปางหลวง พบว่าวัดหลวงนางอย เป็นวัดอันเก่าแก่ของจังหวัดลำปาง แต่นักโบราณคดีหรือนักค้นคว้าไม่ค่อยรู้จักเท่าที่ควร
*พระพุทธรูปคู่บารมี
ในช่วงหลัง พ.ศ.
2300 หลังจากมีการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองเชียงแสนเข้ามาอยู่ในเมืองลำปาง
เจ้าแม่เศรษฐีนางอยก็ได้นำพระพุทธทองทิพย์ (พระเจ้าทองทิพย์)
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริดแบบเชียงแสนรุ่นหลัง มาถวายแก่วัดนางอย
ต่อมาไม่นานพระพุทธรูปทองทิพย์ก็ถูกขโมยไป แต่ขโมยไม่สามารถนำไปได้
เลยเอาไปทิ้งไว้ในป่าอ้อยพื้นที่อำเภอเกาะคา
เชื่อว่าด้วยเหตุนั้นก็บังเกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดขึ้น โดยมีฝนตก ฟ้าร้อง
พอฝนหยุดตก ก็มีอีกา อีแร้งร้อง และบินเหนือบริเวณป่าอ้อย จนชาวบ้านแตกตื่น
จึงพากันไปดูในป่าอ้อย ก็พบกับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง
ผู้ใหญ่บ้านจึงนำเอาพระพุทธรูปนั้นไปไว้ที่อำเภอเกาะคาสมัยนั้น
และประกาศหาเจ้าของว่าเป็นพระของวัดไหน เมื่อชาวบ้านทราบข่าว
จึงไปขอดูและรู้ว่าเป็นพระเจ้าทองทิพย์ที่หายไปจึงขอคืน หลังจากนั้นวัดหลวงนางอยก็ได้พระเจ้าทองทิพย์
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวบ้านนางอยกลับคืนมาจนถึงทุกวันนี้ (ปัจจุบันพระเจ้าทองทิพย์ได้ถูกเก็บรักษาอย่างไว้ดีในกุฏิของวัดหลวงนางอย)
*สะพานไม้ไผ่ที่ยาวที่สุดในภาคเหนือ
เมื่อวันเวลาผันผ่านวัดหลวงนางอยก็เริ่มเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จนเมื่อปี พ.ศ. 2547 ก็ได้มีกองละครเรื่อง
แม่อายสะอื้น ที่คุณนุ่น วรณุช รับบทเป็นนางเอกของเรื่อง ยกกองมาถ่ายทำที่นี่ด้วย
และเหตุการณ์ที่ทำให้วัดหลวงนางอยเป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คงไม่พ้นเหตุการณ์เมื่อประมาณหนึ่งปีที่แล้ว
เพราะเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2561 วัดหลวงนางอยได้มีการจัดงานเปิดสะพานบุญที่ยาวมี่สุดในภาคเหนือขึ้น
โดยใช้ชื่อว่า "ขัวเสริมบุญ หนุนป๋ารมี ศรีเมืองเสริม"
ซึ่งเป็นสะพานที่พาดผ่านทุ่งนาระหว่างอุโบสถ์
(อุโบสถนี้ในสมัยก่อนเป็นอุโบสถที่ใช้ทำสังฆกรรมโดยมีชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นในตำบลมาใช้ร่วมด้วย)
และวัด ความยาวประมาณ 900 เมตร
ด้วยเหตุนี้ทำให้มีศรัทธาจากทั่วทุกสารทิศพากันหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวชม
และร่วมทำบุญเพื่อเป็นอานิสงส์ข้ามภพข้ามชาติสู่แดนสุขาวดีกันอย่างล้นหลาม
ทำให้วัดหลวงนางอยเป็นที่รู้จักในชั่วข้ามคืน
ในอดีตกาลที่ผ่านมา เมื่อถึงคราวเทศกาลงานบุญในท้องถิ่น
ถ้ามีการแห่ครัวตาน วัดอื่นๆ จะต้องรอขบวนครัวตานของวัดนางอยเข้าเป็นขบวนแรก
แม้จะมาถึงก่อนก็ตาม
เพราะวัดนางอยเป็นวัดเก่าแก่คู่กับชาวเสริมงามมาเป็นเวลาช้านาน

ในอดีตมีการเรียกชื่อวัดหลวงนางอยหลายชื่อเพื่อเป็นการอำพรางไว้ไม่ให้เป็นที่รู้จักด้วยความที่กลัวว่าหากชื่อเสียงของวัดแห่งนี้ถูกแพร่สะพัดออกไป
จะทำให้ทรัพย์สินอันมีค่าถูกช่วงชิง วัดหลวงนางอยจึงวางตัวในนามของวัดธรรมดาที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองเสมอมา
เพื่อคงรักษาไว้ซึ่งสิ่งล้ำค่าที่ไม่อาจประเมินเป็นเงินทองได้ เพราะ
“ยิ่งสวยงามยิ่งอันตราย ยิ่งสำคัญมากเท่าไหร่ยิ่งต้องธรรมดา”
เกษณี ตั๋นตุ้ย นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เกษณี ตั๋นตุ้ย นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น